แห่ลงทุน “เวียดนาม” ห่วงแรงงานทักษะไม่พอ

“เวียดนาม” ถือเป็นดาวเด่นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีจุดเด่นในแง่ของประชากรแรงงานวัยหนุ่มสาวและกำลังซื้อ ซึ่งทั่วโลกมองว่าเวียดนามจะได้รับอานิสงส์เป็นชาติแรกจากกรณีสงครามการค้า โดยบริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังเวียดนาม

อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานฯเวียดนามชี้ว่า แม้ในปีนี้จำนวนแรงงานจะยังเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีข้อกังวลในด้านคุณภาพของแรงงานตามความต้องการของตลาดเวียดนามนิวส์รายงานว่า ในงานประชุมการพัฒนาบุคลากรในกรุงฮานอย เมื่อสัปดาห์ก่อน “เล กว๋าง จาง” (Le Quang Trung) รองผู้อำนวยการฝ่ายการจ้างงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของเวียดนาม ได้กล่าวว่า ปีนี้จำนวนประชากรวัยแรงงานของเวียดนามจะแตะระดับ 56 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12% จากจำนวนประชากรทั้งหมด 95 ล้านคน แม้ว่าประชากรวัยแรงงานของเวียดนามจะยังมีการเติบโต แต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัว เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี

นอกจากนี้ พบว่าในบรรดาแรงงาน 56 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานที่ไม่ผ่านมาตรฐานด้านทักษะตามที่ตลาดต้องการ ประมาณ 26.5% ซึ่ง นายเล กว๋าง จาง กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญตรงตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังกังวลว่าจำนวนแรงงานที่มีคุณภาพอาจมีไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ รายงานอ้างข้อมูลจากสำนักงานการลงทุนต่างประเทศของเวียดนาม (FIA) ที่เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนาม เพิ่มสูงแตะระดับ 16,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 69.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งประเมินว่าในปีหน้าการลงทุนในเวียดนามจะยังได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะความไม่แน่นอนจากสงครามการค้ายังเป็นปัจจัยสำคัญ

นายจางกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด ยังคงเป็นอุตสาหกรรมการผลิต, การแปรรูป, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งขณะที่แรงงานที่มีทักษะด้านไอที คือกลุ่มที่นักลงทุนต่างชาติต้องการ ซึ่งเวียดนามยังมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวจำกัด ขณะที่บางธุรกิจเช่น อุตสาหกรรมการพิมพ์ และประกอบเครื่องยนต์และเครื่องจักรกล กลับเผชิญปัญหามีจำนวนแรงงานเกินความต้องการ

ข้อมูลจาก “เวียดนามเวิร์กส” (VietnamWorks) บริษัทวิจัยด้านการจ้างงานในเวียดนามระบุว่า 74% ของนายจ้างที่ตอบแบบสำรวจ 1,500 ราย ระบุว่า ต้องการแรงงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นในสายงานที่หลากหลาย เช่น ภาคการเงิน, งานขาย, ไอที-ซอฟต์แวร์, การตลาด, งานบริการลูกค้า และงานก่อสร้างแบบโมเดิร์นโปรเจ็กต์ เป็นต้น

“เจิ่น ถิ วัน ฮา” นักวิเคราะห์จากที่ปรึกษาธุรกิจในเวียดนาม กล่าวว่า นอกจากปัจจัยเรื่องจำนวนแรงงานที่ดึงดูดการลงทุนในเวียดนาม ยังมีประเด็นเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอีก 5.3% หรือ 7-9 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน มาอยู่ที่ 125-180 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน แต่ก็ยังถือว่าเป็นการปรับขึ้นค่าแรงที่ต่ำที่สุด เทียบกับปี 2018 ที่ปรับขึ้น 6.5% และ 7.3% ในปี 2017ทำให้เวียดนามกำลังเผชิญความท้าทายจากที่แรงงานมีทักษะบางส่วนตัดสินใจออกไปทำงานต่างประเทศที่ได้ค่าจ้างตอบแทนดีกว่า เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โรมาเนีย ซาอุดีอาระเบีย และในประเทศยุโรป

ซึ่งข้อมูลของกรมจัดการแรงงานต่างประเทศชี้ว่าในปี 2018 มีแรงงานเวียดนามไปทำงานต่างแดน 140,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มี 100,000 คนในขณะที่นักลงทุนต่างชาติต่างพาเหรดโยกย้ายฐานเข้าสู่เวียดนาม

นอกจากการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน “ค่าจ้างแรงงาน” ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุน ก็กลายเป็นความท้าทายของเวียดนามที่กดดันให้แรงงานที่มีทักษะไหลออกนอกประเทศ