เมียนมา อินไซต์ 2019 เปิดประตูลงทุน “ค้าปลีก-ค้าส่ง”

REUTERS/Ann Wang

หลังจาก “เมียนมา” ยกเครื่องกฎระเบียบเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจ “ค้าปลีก-ค้าส่ง” เมื่อปี 2018ที่ผ่านมา โดยเปิดประตูให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนได้แบบ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดประเทศในปี 2011 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้เมียนมากลายเป็นสมรภูมิใหม่ของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของนักลงทุนจากทั่วโลก รวมถึงเชนร้านกาแฟสตาร์บัคส์ชื่อดัง

ในงานสัมมนาการลงทุน “เมียนมา อินไซต์ 2019” ครั้งที่ 4 ได้รับเกียรติจาก “ตอง ตุน” รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศของเมียนมา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “โอกาสการลงทุนในเมียนมา” ระบุว่า รัฐบาลพยายามปฏิรูปยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ระหว่างปี 2011-2031 ซึ่งต้องการเปิดเสรีต่อภาคการลงทุนในหลายธุรกิจ โดยเมื่อปี 2018 รัฐบาลได้เปิดกว้างต่อการลงทุนใน “ภาคพลังงาน” ให้กับบริษัทต่างชาติ สามารถถือหุ้นได้เต็มจำนวน

“ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง” เป็นหนึ่งในธุรกิจอันดับต้น ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจตั้งแต่ที่เมียนมาเปิดประเทศ และปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการลงทุนครั้งใหม่ โดยอนุญาตให้บริษัทต่างชาติถือหุ้นได้ 100% สำหรับสินค้าทุกประเภท จากเดิมที่จะต้องมีบริษัทท้องถิ่นร่วมทุนด้วยอย่างน้อย 20% หรือถือหุ้น 100% เฉพาะธุรกิจที่ภาครัฐสนับสนุน เช่น เวชภัณฑ์ และ ปุ๋ย

แต่กฎระเบียบใหม่นี้มีเงื่อนไขระบุชัดเจนว่า ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติที่เข้ามาต้องมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธุรกิจค้าส่งจะต้องลงทุนมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องมีการโอนเงินลงทุนดังกล่าวเข้ามาในเมียนมาภายใน 3 ปี

นอกจากนี้ขนาดพื้นที่ค้าปลีกและค้าส่งแต่ละสาขาจะต้องมีขนาด 929 ตารางเมตรขึ้นไป หมายความว่ารัฐบาลไม่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติเปิดร้านค้าปลีกขนาดเล็กและร้านค้าสะดวกซื้อ เพื่อปกป้องการแข่งขันต่อบริษัทในประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดข้อบังคับสำหรับ “ธุรกิจค้าส่ง” โดยต้องมีการลงทุนคลังเก็บสินค้าด้วย ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ทุกประการ เช่น สถานที่ตั้งคลังสินค้ามีระยะห่างจากชุมชนมากกว่า 10 กิโลเมตร มีการออกแบบคลังสินค้าที่ได้มาตรฐาน รวมถึงห้ามใช้คลังสินค้าเพื่อเก็บสินค้าผิดกฎหมายและละเมิดลิขสิทธิ์

โดยการนำเข้าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ถูกจัดอยู่ในประเภทความผิดขั้นร้ายแรงสำหรับการลงทุนในเมียนมา หลังจากที่รัฐบาลได้ปรับอนุญาตให้บริษัทต่างชาติที่ประกอบกิจการค้าปลีกและค้าส่งสามารถนำเข้าสินค้าเองได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนท้องถิ่นเหมือนที่ผ่านมา

นายตอง ตุน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ประกาศนโยบายจูงใจในธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยมีเชนร้านค้าปลีกและค้าส่งจากประเทศสิงคโปร์เข้ามาแล้วส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจากจีน และล่าสุดแบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นของอังกฤษอย่าง Topshop ได้เข้ามาลงทุนในย่างกุ้งแล้ว ทั้งยังกล่าวถึงสินค้าไทยว่า มีโอกาสในตลาดเมียนมาด้วยเช่นกัน เพราะชาวเมียนมายังนิยมสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ระบุชัดว่า “เมดอินไทยแลนด์”

ก่อนหน้านี้ “เวิลด์แบงก์” ได้จัดอันดับความยากง่ายต่อการทำธุรกิจ ประจำปี 2019 ระบุให้ “เมียนมา” อยู่ในอันดับที่ 171 จาก 190 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตการก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การขอสินเชื่อ การคุ้มครองนักลงทุน การชำระภาษี มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายไปสู่อันดับที่ 100 ภายในปี 2020-2021 และสู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2035-2036

เป้าหมายอันทะเยอทะยานของเมียนมาทำให้หลายปีที่ผ่านมา มีการผ่อนปรนข้อกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะใน 5 อันดับแรกที่มีมูลค่า FDI สูงสุด ได้แก่ การคมนาคมและการสื่อสาร, อุตสาหกรรมการผลิต, ภาคพลังงาน, อสังหาริมทรัพย์ และ ค้าปลีก-ค้าส่ง

ทั้งนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2019 (เดือน ต.ค. 2018-พ.ค. 2019) พบว่าคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมาได้อนุมัติการลงทุนคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย “สิงคโปร์” เข้ามาลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นจีนและฮ่องกง ส่วนไทยเข้าไปลงทุนเป็นอันดับ 4 ในเมียนมา

ขณะที่ “ออง นาย อู” ปลัดกระทรวงการลงทุนฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จะทำให้เมียนมาประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ หนึ่งในนั้นคือ แก้ไขและปรับปรุง “ราคาเช่าที่ดิน” ที่ถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันที่ดินในเมียนมามีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าเช่าที่ดินในชาติพัฒนาอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ และนครนิวยอร์ก หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ

นายออง นาย อู เปิดเผยว่า ภายในปีนี้รัฐบาลจะพิจารณามาตรการจูงใจอื่น ๆ สำหรับนักลงทุน เพื่อผ่อนปรนอุปสรรคในการทำธุรกิจ เช่น ระยะเวลาในการเช่าที่ดินนานขึ้น, การสร้างเสถียรภาพในภาคการเงิน และลดข้อจำกัดในการโอนเงินกลับประเทศสำหรับบริษัทต่างชาติ เป็นต้น