“มาเลย์-อินโดฯ” เริ่มเกมโต้ EU ลบฉลาก palm-oil-free

น้ำมันปาล์ม

“น้ำมันปาล์ม” พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ครองสัดส่วนในตลาดโลกร่วมกันมากถึง 85% ขณะนี้ยังคงเผชิญกับวิกฤตจากนโยบายของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ต่อต้านการใช้น้ำมันปาล์มดิบในเชื้อเพลิงหมุนเวียน และเป็นวัตถุดิบในหลายผลิตภัณฑ์ ภายในปี 2030

เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซียได้ลงนามในจดหมายร่วมกันเพื่อปฏิเสธแผนของอียูที่กำหนดห้ามให้น้ำมันปาล์มดิบอยู่ในรายการวัตถุดิบสำหรับไบโอดีเซล และเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ยาสีฟัน สบู่ เครื่องสำอาง พิซซ่าแช่แข็ง บิสกิต ไปจนถึงเนยเทียม ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะน้ำมันปาล์มมีกรดไขมันอิ่มตัว อีกทั้งยังมีวิธีการเพาะปลูกที่ทำลายระบบนิเวศและสัตว์ป่า

และล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายต่อต้านน้ำมันปาล์มดิบตามแผนเดิม ซึ่งได้กำหนดให้ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มดิบแบบ 100% ภายในปี 2030 อย่างไรก็ตามระบุด้วยว่า มาตรการดังกล่าวนี้สามารถยืดหยุ่นได้ หากรัฐบาลทั้งสองแสดงให้เห็นว่า การเพาะปลูกปาล์มน้ำมันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอยู่บนพื้นฐานการปลูกพืชที่ยั่งยืน

ขณะที่สมาคมการค้าน้ำมันปาล์มในมาเลเซียเปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปตลาดยุโรป ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว โดยลดลงราว 10-12% พร้อมประเมินว่า ตลาดเอเชียอย่าง อินเดีย จีน และเกาหลีใต้ เป็นตลาดที่น่าสนใจ และอาจสามารถทดแทนตลาดยุโรปได้

รอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในมาเลเซียเริ่มมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มดิบเป็นครั้งแรก โดย “อาเมียร์ อาลีมายดิน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท Mydin Mohamed Holdings Bhd เชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย มีร้านค้าทั้งหมด 267 แห่งทั่วประเทศ ที่รวมทั้งศูนย์การค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต บาซาร์ และมินิมาร์ต ได้ประกาศว่า ร้านค้า “มายดิน” (Mydin) ทุกสาขาทั่วประเทศจะนำฉลากที่ระบุว่า “palm-oil-free” บนผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในร้านออกทั้งหมด เพื่อแสดงจุดยืนเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มว่าไม่ได้เป็นไปตามที่อียูกล่าวอ้าง

อีกทั้งยังกล่าวถึงร้านค้าอื่น ๆ ในมาเลเซียที่ยังแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ว่า เท่ากับเป็นการยอมรับว่าน้ำมันปาล์มไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ในฐานะตัวแทนของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของมาเลเซีย เราต้องสนับสนุนน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล” นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมทำการวิจัยกับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนหลายรายเพื่อยืนยันว่า น้ำมันปาล์มดิบไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่สถาบันวิจัยป่าไม้ในมาเลเซีย (FRIM) กำลังทำงานอย่างหนักเกี่ยวกับวิธีการเพาะปลูกน้ำมันปาล์มในมาเลเซีย ว่าไม่ได้เป็นการบุกรุกและทำลายพื้นที่ป่า

ทางด้าน “เทเรซา โคก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่า ขณะนี้มีเครือข่ายร้านค้าอีก 3-4 ราย ที่กำลังพิจารณาจะทำตามนโยบาย “ซูเปอร์มาร์เก็ตมายดิน” ที่จะนำฉลากดังกล่าวนี้ออกไปจากผลิตภัณฑ์อย่างถาวร

นอกจากนี้ “จาการ์ตาโพสต์” รายงานว่า สมาคมค้าปลีกของอินโดนีเซียยืนยันว่า ขณะนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตของอินโดนีเซียหลายรายได้พิจารณาจะร่วมแสดงพลังคัดค้านนโยบายต่อต้านน้ำมันปาล์มของอียู ในฐานะที่อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเบอร์หนึ่งของโลก เช่น “ฮีโร่ ซูเปอร์มาร์เก็ต” ที่มีมากกว่า 700 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของฮีโร่ ซูเปอร์มาร์เก็ต กล่าวว่า การติดฉลาก “palm-oil-free” เท่ากับเห็นด้วยกับอียู และเป็นการสร้างแรงจูงใจแบบผิด ๆ ให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับน้ำมันปาล์ม

ทั้งนี้ กรรมการอาวุโสของสมาคมค้าปลีกในอินโดนีเซียเปิดเผยว่า สมาคมค้าปลีกกับสมาคมการค้าน้ำมันปาล์มจะหารือร่วมกันภายใน ก.ย.นี้ ถึงแนวทางหรือมาตรการตอบโต้ที่เป็นไปได้ต่อสินค้าจากประเทศยุโรปในอินโดนีเซีย รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ที่สามารถใช้เป็นอำนาจต่อรองกับอียูได้