“กม.ต้านเฟกนิวส์” สิงคโปร์มีผลวันนี้ นักสิทธิห่วงปิดกั้น “เสรีความเห็น”

Roslan RAHMAN / AFP

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “สิงคโปร์” เริ่มบังคับใช้ “กฎหมายต่อต้านข่าวปลอม” หรือ “เฟกนิวส์” แล้วในวันนี้ (2 ต.ค.) ท่ามกลางการความกังวลว่า กฎหมายกังกล่าวจะปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองมากขึ้น จากเดิมที่มีการควบคุมเข้มงวดอยู่แล้ว

ภายใต้ “กฎหมายป้องกันข้อความเท็จและการบงการออนไลน์” หรือ “the Protection from Online Falsehoods and Manipulation Bill” ครอบคลุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกพิจารณาว่าไม่ถูกต้องหรือมีอคติ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของสิงคโปร์ ความปลอดภัยและความสงบของสาธารณะ รวมถึงกระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างสิงคโปร์กับประเทศต่าง ๆ

เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสั่งให้ลบหรือแก้ไขเฟกนิวส์ให้ถูกต้องได้ รวมทั้งยังสามารถสั่งให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ก” และ “กูเกิล” ดำเนินการบล็อกบัญชีผู้ใช้งานหรือเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้เผยแพร่ข่าวปลอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านบัญชีที่ไม่ผ่านการตรวจสอบหรือควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติหรือ “บอท” โทษจะสูงขึ้น โดยจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนบริษัทเทคโนโลยีที่ถูกตรวจสอบและพิจารณาตัดสินว่ามีความผิดฐานเผยแพร่เฟกนิวส์ จะมีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทั้ง กูเกิล เฟสบุ๊ก และทวิตเตอร์ได้พยายามคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายนี้มาโดยตลอด แต่รัฐสภาสิคโปร์ยังคงเดินหน้าผ่านกฎหมายนี้อย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลระบุว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานเผยแพร่ข่าวปลอมสามารถยื่นอุทธรณ์ได้โดยเร็ว โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ไม่สูงนัก

“เค. แชนมูกัม” รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมของสิงคโปร์รับรองว่า การสั่งลบหรือแก้ไขเนื้อหาไม่สามารถดำเนินการลบโดยพลการได้ คณะรัฐมนตรีจะต้องชี้แจ้งว่าเนื้อหาในส่วนใดที่เป็นเท็จ


อย่างไรก็ตาม นักสิทธิมนุษยชนยังคงมองว่า กฎหมายดังกล่าวอาจปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยการจัดอันดับด้าน “เสรีภาพสื่อ” ล่าสุดของ Watchdog Reporter Without Borders (RSF) ชี้ว่าเสรีภาพสื่อของสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 151 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยบางส่วนวิจารณ์ว่า การเร่งรีบออกกฎหมายนี้ก่อนการเลือกตั้งของสิงคโปร์ที่จะมีขึ้นในปีหน้า ทำให้กฎหมายนี้อาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง