“ประยุทธ์” ย้ำบนเวที ABIS 2019 ไทยปรับตัวจากธุรกิจ offline สู่ online แบบผสมผสาน

ในวันที่ 2 พ.ย. 2562 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในระหว่างเปิดงานการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS 2019) ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จัดขึ้นโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

โดยระบุว่า ปี 2562 ไม่เพียงแต่เป็นปีสำคัญที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน และรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 เท่านั้น แต่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะองค์กรชั้นนำ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ยังได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีเสวนาระดับนานาชาติภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างพลังอาเซียน 4.0” เพื่อติดอาวุธทางปัญญาและปูแนวทางไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในยุคที่เรียกว่า 4.0

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับนิยามของคำว่า 4.0 ดังจะเห็นจากนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ได้ผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น การค้า การส่งออก การลงทุนแบบ offline ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานระหว่างการค้า การลงทุน แบบ online และ offline ควบคู่กันไป

“ไทยได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลแล้ว โดยมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบันเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคของประเทศ ทั้งยังมีเป้าหมายสำคัญ คือ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก”

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า “ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยได้ร่วมมือกันในด้านความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นำปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมมาผนวกเข้าไว้ในนโยบายการสร้างความมั่นคงของประเทศ”

สำหรับ “มิติด้านเศรษฐกิจ” นายกฯ ประยุทธ์ กล่าวว่า เราให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในกรอบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) รวมไปถึงการผลักดันโครงการ EEC โดยมีโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ ที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), รถยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง และเศรษฐกิจ BCG

และในมิติด้านสังคม ด้วยปัญหาที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น เราจึงให้ความสำคัญกับพัฒนาการในเชิงบวกของคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และสาธารณสุขของประชาชนไทยที่มีมาตรฐานในระดับสากล

“ความปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากร เป็นปัจจัยเร่งให้ไทยต้องปรับตัวด้วยการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้เข้ามารองรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจเกิดใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง การสร้างที่พักอาศัยเชิงอัจฉริยะ และการผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล”

นายกฯ ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราอยู่ในยุคการค้าดิจิทัล ดังนั้นความรวดเร็วของการผลิต ช่องทางการกระจายสินค้า และการบริหาร เป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เครือข่ายการประกอบธุรกิจในประเทศและระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง โดยภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนทพให้กระบวนการมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น