‘มหาธีร์ โมฮัมหมัด’ จุดพลุ New Power ของอาเซียน

การประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ “ABIS 2019” ในระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย.ที่ผ่านมา “ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด” นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย ได้กล่าวถึง “ขุมพลังใหม่ในอาเซียน” ที่ทุกประเทศสมาชิกต้องช่วยกันเพื่อทำให้ภูมิภาคแข็งแกร่ง และรับแรงกดดันจากภายนอกได้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียวัย 94 ปี หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “ดร.เอ็ม” (Dr.M) ร่วมสนทนาพิเศษในช่วง
“A Fireside Chat with Dr.Mahathir” โดยมีนายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เป็นผู้ซักถาม

สำหรับประเด็นการเข้าสู่ยุค “เศรษฐกิจดิจิทัล” ของอาเซียน รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 ทำให้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในวิถีทางธุรกิจมากขึ้น ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด กล่าวอย่างน่าสนใจว่า สมาชิกอาเซียนใน 10 ประเทศมีจำนวนประชากรรวมกันมากถึง 650 ล้านคน ขณะที่ “จีน” มีประชากรมากกว่าอาเซียนราว 2 เท่าอยู่ที่ 1.4 ล้านคน แต่ทำไมจีนถึงพัฒนาประเทศได้รุดหน้ามากกว่า นั่นก็เพราะว่าจีนใช้ประโยชน์จากจำนวนประชากรที่มีอยู่อย่างมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“จีนทำได้เร็วเพราะความคิดเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่มองย้อนกลับมายังอาเซียน เรายังมีความคิดที่แตกต่างกันหลายอย่าง มีจุดยืนที่ไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเดินได้ช้าลง พัฒนาได้ช้า เราจึงต้องคิดและ
ลงมือทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม” ผู้นำมาเลเซียกล่าวย้ำ

ดร.เอ็มยังกล่าวถึง “ขุมพลังใหม่” ในอาเซียน ซึ่งสามารถสร้างขึ้นมาด้วยกันได้ อาเซียนต้องสามัคคีและเดินไปพร้อมกัน จะไม่มีใครทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาเซียนต้องผนึกกำลังและช่วยเหลือกัน ทำให้เป้าหมายการพัฒนาภูมิภาคเป็นไปตามพิมพ์เขียว ช่วยกันเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับอาเซียน

“จำนวนประชากรเยอะแล้ว ก็ต้องทำให้ภูมิภาคมีศักยภาพต่อรองได้ด้วย”

นอกจากนี้ ดร.มหาธีร์ยังพูดติดตลกด้วยว่า “เรา (อาเซียน) ต้องมีอำนาจมาก ๆ ไม่ก็แข็งแกร่งมาก หรือไม่งั้นก็ต้องร่ำรวย ถึงจะมีคนฟังในสิ่งที่เราจะพูด หรือทำให้เสียงเราดังขึ้นกว่าเดิม” ซึ่งหากดูจากจำนวนประชากรของอาเซียนถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ของโลก แต่การเพิ่มจุดแข็งให้กับอาเซียนใน
ยุคดิจิทัล เราต้องให้ความรู้และการศึกษากับประชาชน ทำให้พวกเขารับรู้และเข้าใจว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาท และนวัตกรรมสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร

โดยย้ำว่าในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประชาชนเข้าใจ และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับโลคในยุคดิจิทัล

“การปฏิวัติอุตสาหกรรมของอาเซียนจากการใช้ประโยชน์ของประชากรจำนวนมหาศาล คือ พวกเขาต้องสามารถสร้างประโยชน์จากเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในเชิงธุรกิจ ซึ่งความเข้าใจในเรื่องนี้จะทำให้คนธรรมดา ๆ ก็สามารถเป็นคนรวยได้” นายกฯมาเลเซียกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งยังได้กล่าวยกตัวอย่างถึง “จีน” ว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาประเทศ จนทำให้สามารถก้าวขึ้นสู่ “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก” ขณะเดียวกันจีนก็อยู่ใกล้ ๆ อาเซียน ทำไมเราถึงไม่เรียนรู้ความสำเร็จมาจากจีน ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และการนำเทคโนโลยีฟินเทคมาใช้ จนทำให้จีนกลายมาเป็นประเทศสังคมไร้เงินสด และเป็นต้นแบบของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

นายอรินทร์ได้ถามถึง “สงครามการค้า” ซึ่งยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพูดถึง

นายกฯมหาธีร์กล่าวอย่างไม่ลังเลว่า “ผมต่อต้านสงคราม สงครามคืออาชญากรรม และอาเซียนไม่มีใครอยากถูกลากเข้าสู่สมรภูมิสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่เพราะอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า ความมั่งคั่งในภูมิภาคที่น้อยกว่า บางทีจำนวนประชากรมหาศาลก็อาจไม่ช่วยอะไรมาก ทำให้ที่ผ่านมาชาติตะวันออก ซึ่งรวมถึงอาเซียนจำเป็นต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำเพื่อเอาใจชาติตะวันตกก็ได้”

ขณะที่กรณีการคว่ำบาตรสินค้า “น้ำมันปาล์ม” ของมาเลเซียและอินโดนีเซียจากสหภาพยุโรป (อียู) ก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกัน ดร.มหาธีร์กล่าวย้ำอีกว่า “ถ้าเขาทำไม่ดีกับเรา ก็ไม่จำเป็นต้องทำตัวดี ๆ กับพวกเขา” ซึ่งมาเลเซียได้ตอบโต้กลับด้วยการใช้มาตรการต่อสินค้าอียู พร้อมย้ำว่าพวกเขาลดการนำเข้าน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย เราก็จะลดการนำเข้าสินค้าของพวกเขาในปริมาณเท่ากัน

นอกจากนี้ ดร.มหาธีร์ยังกล่าวถึงนโยบายการเป็น “ศูนย์กลางของภูมิภาค” ของสมาชิกอาเซียนในแต่ละประเทศ โดยมองว่าแม้จะดูเหมือนอาเซียนกำลังแข่งขันกันอยู่ แต่ตนมองว่าภูมิภาคของเราจะได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะแต่ละประเทศมีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน รวมไปถึงมีทรัพยากรเป็นของตัวเองที่ต่างกัน
ดังนั้นประเทศอาเซียนต่างก็รู้ว่าจะพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นฮับในด้านใดได้บ้าง และท้ายที่สุดอาเซียนก็จะจับมือแล้วเติบโตไปด้วยกัน อยู่ภายใต้มาตรฐานและจุดยืนเดียวกัน

“ที่จริงผมมองว่าหากเรามีคำมั่นสัญญาเดียวกัน เช่น ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในปริมาณเท่ากันเพื่อตอบโต้ ภูมิภาคแห่งนี้จะมีอำนาจและรับแรงกดดันจากภายนอกได้ดีกว่านี้ ตอนนี้
หากมีการเคลื่อนไหวทางการค้าต่าง ๆ จากชาติตะวันตก เราก็ได้รับผลกระทบมากด้วยเช่นกัน ผมว่ามันไม่ยุติธรรม”

นายกฯวัย 94 กล่าวเสริมว่า “อาเซียนต้องยืนหยัดอยู่ข้างกัน โลกถึงจะฟังเรามากขึ้น อย่าลืมว่าอาเซียนมีเสียงที่ดังกว่าเพราะจำนวนประชากรที่มากถึง 650 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าภูมิภาคนี้ยังยากจน แต่ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาให้เติบโตได้ไกล

พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “เราต้องทำให้ชาติตะวันตกรู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร หากเขาทำเราเจ็บ นั่นก็หมายความว่า เราจะต้องก้าวข้ามการแบ่งแยกและไม่เป็นเอกภาพให้ได้ก่อน” และย้ำบนเวทีอีกครั้งว่า “หากประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนเดินไปคนเดียว อาจจะถูกรังแกได้ง่าย ๆ ดังนั้น เราต้องเดินไปพร้อมกัน ใช้เสียงเดียวกันบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน”