“อีคอมเมิร์ซ” อาเซียนแรงไม่ตก “แพลตฟอร์มข้ามชาติ” รุกตลาดท้องถิ่น

การแข่งขันของตลาดแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์หรือ “อีคอมเมิร์ซ” ในกลุ่มประเทศอาเซียนปัจจุบันยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่คึกคักเท่าช่วงต้นปีหรือปลายปี แต่จำนวนอีคอมเมิร์ซที่เข้ามาตีตลาดท้องถิ่นและขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นในแต่ละประเทศในไตรมาส 3 ของปีนี้ ก็เป็นข้อบ่งชี้สำคัญว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียนยังสดใส

iPrice ผู้รวบรวมข้อมูลและวิจัยตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน ได้เปิดเผยรายงานสำรวจข้อมูลตลาดอีคอมเมิร์ซในไตรมาสที่ 3/2019 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม พบว่าการแข่งขันเพื่อครองส่วนแบ่งการตลาดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในแต่ละประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากไตรมาส 2/2019 มีเพียง “เวียดนาม” เท่านั้นที่การแข่งขันมีความดุเดือดมากขึ้น

ส่วนด้าน “ขนาดตลาด” ของอีคอมเมิร์ซในแต่ละประเทศมีความเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสที่ 2/2019 โดยเฉพาะ “อินโดนีเซีย” ที่มีขนาดตลาดเล็กลงจาก 46.9% เหลือเพียง 36.3% ในไตรมาสที่ 3/2019 ส่งให้ประเทศอื่นได้อานิสงส์จากขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นอย่าง เวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 30.9% ไทยเพิ่มเป็น 13% และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 8.2%

นอกจากนี้ ข้อมูลของ iPrice ยังชี้ให้เห็นว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าแพลตฟอร์มท้องถิ่นเล็กน้อย โดยเฉลี่ยแล้วแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติครองส่วนแบ่งการตลาดราว 56% ในภูมิภาคอาเซียน โดยส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จาก Lazada และ Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติสิงคโปร์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงในเกือบทุกประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการอย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ จะมีจำนวนแพลตฟอร์มข้ามชาติครองตลาดมากกว่าอีคอมเมิร์ซท้องถิ่น โดยแพลตฟอร์มข้ามชาติครองส่วนแบ่งการตลาดในฟิลิปปินส์มากถึง 96% ส่วนมาเลเซียอยู่ที่ 89% สาเหตุสำคัญมาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษมีความสะดวกด้านภาษาที่เปิดรับกับการบริการจากภายนอก ยกเว้นสิงคโปร์ที่เน้นการเป็นฐานของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมากกว่า ทำให้มีแพลตฟอร์มข้ามชาติมีสัดส่วนการตลาดเพียง 9% เท่านั้น

ตรงข้ามกับประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ ที่แพลตฟอร์มต่างชาติครองส่วนแบ่งการตลาดไม่สูงนัก โดยอินโดนีเซียมีแพลตฟอร์มต่างชาติครองส่วนแบ่งการตลาดเพียง 39% และเวียดนามมีเพียง 28% ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันของแพลตฟอร์มท้องถิ่นเป็นไปอย่างดุเดือด อย่างเช่น Tokopedia แพลตฟอร์มท้องถิ่นที่ครองแชมป์เจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ขณะที่ Sendo ของเวียดนามเองก็มียอดผู้เข้าชมสินค้าทางเว็บไซด์มากอันดับสองภายในประเทศของตนเองด้วย

ส่วนประเทศไทยถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ แต่ก็เปิดรับแพลตฟอร์มข้ามชาติเป็นจำนวนมากโดยครองสัดส่วนการตลาดมากถึง 78% สาเหตุสำคัญมาจากจัดตั้งเขตปลอดอากร และการปรับปรุงพิธีศุลกากรค้าอีคอมเมิร์ซ ตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ภาคธุรกิจเอกชนไทยยังมีความพร้อมที่จะจับมือกับบริษัทต่างชาติ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอีกด้วย


ข้อมูลของ iPrice ยังเผยให้เห็นว่า Wish แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติอเมริกันกำลังรุกตีตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียน โดยติด 1 ใน 10 อันดับแรกทั้งในด้านการใช้งานและด้านการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเกือบทุกประเทศที่  iPrice ทำการสำรวจยกเว้นเพียงเวียดนามเท่านั้น ส่งผลให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นของหลายประเทศตกอันดับไป นับเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง