“เวียดนาม” เร่งแก้โจทย์ “อโกด้า-บุ๊กกิ้ง” ยึดตลาด

“เวียดนาม” มีอัตราการจองห้องพักออนไลน์ในปัจจุบันเติบโตเร็วอย่างน่าสนใจ โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 30-40% ของการจองห้องพักทั้งหมด

“บิสซิเนส อินไซเดอร์” รายงานว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวถูกที่สุดในโลก การเดินทางท่องเที่ยวในเวียดนามแต่ละวันใช้งบประมาณไม่เกิน 20 ดอลลาร์ และห้องพักแบบโฮสเทลราคาเริ่มต้นเพียง 3 ดอลลาร์ต่อคืน

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในเวียดนามเติบโตอย่างมาก ขณะที่รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านท่องเที่ยว เมื่อต้นปี 2017 กรมการเมืองของเวียดนามได้ประกาศนโยบาย “Resolution 08-NQ/TW” เป็นวิสัยทัศน์ 2020 ที่ตั้งเป้าว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเวียดนามจะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนา ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคนต่อปี จาก 10 ล้านคนในปี 2016 พร้อมกับกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มเป็น 82 ล้านคน จาก 62 ล้านคน เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วน 10% ของจีดีพี โดยคาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสร้างงานได้กว่า 4 ล้านตำแหน่ง

รัฐบาลเวียดนามเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการท่องเที่ยวทั้งเพิ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงให้การสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นด้านการท่องเที่ยว

ขณะที่นักท่องเที่ยวหันมาใช้บริการจองห้องพักผ่าน “เว็บไซต์ออนไลน์” มากขึ้น แต่ปัญหาคือ ธุรกิจจองห้องพักออนไลน์ของเวียดนามกลับไม่สามารถแข่งขันได้ ถูกยึดครองโดยบรรดาแพลตฟอร์มต่างชาติ

“เวียดนามเน็ต” รายงานว่า เว็บไซต์จองห้องพักออนไลน์ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเอเชีย ได้แก่ “อโกด้า” และ “บุ๊กกิ้งดอตคอม” ครองส่วนแบ่งตลาดจองห้องพักออนไลน์ในเวียดนามรวมกันมากกว่า 80%

สมาคมอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม ระบุว่า ธุรกิจจองห้องพักออนไลน์ในเอเชียรวมถึงเวียดนามเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเวียดนามใช้เว็บไซต์จองตั๋วต่างประเทศ แม้แต่ชาวเวียดนามก็ใช้บริการเว็บไซต์ต่างประเทศมากกว่า”วีเอ็นทริป” (vntrip.vn) และ “โกตาดี”(gotadi.com) เว็บไซต์จองห้องพักออนไลน์ของเวียดนาม ยืนยันว่า “เว็บไซต์จองบริการของเวียดนาม พยายามจัดโปรโมชั่น และโปรโมตให้เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในหมู่คนเวียดนาม ด้วยการดีลกับโรงแรม และให้ราคาพิเศษสำหรับคนเวียดนาม ซึ่งจะถูกกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 5-10% แต่แพลตฟอร์มต่างชาติกลับดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากกว่า”

“โง มินท์ ดั๊ก” หนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวเวียดนาม กล่าวว่า เว็บไซต์ต่างชาติมีความเชี่ยวชาญ และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้ใช้งานได้ง่าย รวมถึงระบบการจ่ายเงินที่น่าเชื่อถือ ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ของเวียดนามยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาแพลตฟอร์ม และสะสมความน่าเชื่อถืออีกอย่างน้อย 5-10 ปี

นายเล วัน เซิน สมาคมการท่องเที่ยวญาจาง กล่าวว่า “ต้องมีการปรับปรุงแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเร่งด่วน เพราะหากล่าช้าหมายถึงเราเปิดช่องทางทำเงินให้กับบริษัทต่างชาติแทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของคนท้องถิ่น”