วิกฤต “โรฮีนจา” จุดยืนที่สั่นคลอนของ “ซู จี”

ภายหลังจากที่พรรคการเมืองของ “ออง ซาน ซู จี” ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลในปี 2015 ชาวเมียนมาคาดหวังอนาคตที่สดใส เนื่องจากเชื่อมั่นในความแกร่ง ฉลาด และเปี่ยมความรู้ของดอกไม้เหล็กคนนี้

แม้ซู จี จะไม่ได้นั่งตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ ดำรงเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี แต่ซู จี ก็เป็นเสมือน “ผู้นำเงา” ของเมียนมา

นอกจากความคาดหวังว่าทิศทางการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจจะดีขึ้นภายหลังมีรัฐบาลเลือกตั้ง อีกหนึ่งปัญหายืดเยื้ออย่าง “ชนกลุ่มน้อย” ก็ถูกคาดหวังว่าจะคลี่คลาย

ชนกลุ่มน้อยคาดหวังว่าซู จีจะรับฟังพวกเขามากขึ้นกว่ารัฐบาลก่อน แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ที่มีชาวมุสลิมโรฮีนจาอาศัยอยู่กลับเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เป็นระลอก และล่าสุดในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากที่กองกำลังทหารอ้างว่าเข้าไปกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายชาวโรฮีนจา ก็ได้รุกไล่ให้ชาวโรฮีนจากว่า 4 แสนคนต้องอพยพหนีตายไปยังบังกลาเทศ ร้อนถึงนายกรัฐมนตรีหญิงต้องออกมาบอกว่า ทางบังกลาเทศเองก็รับมือไม่ไหว

แม้ซู จีจะมีตราประทับแห่ง “สันติภาพ” ติดตัวราวกับเครื่องหมายการค้า แต่เธอกลับไม่ออกมาพูดอะไรเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงในรัฐยะไข่ นับตั้งแต่เกิดเรื่องล่าสุด กระทั่งทนแรงกดดันจากนานาชาติไม่ไหว เธอจึงออกมาแถลงต่อรัฐสภาแห่งชาติและถ่ายทอดสดทางทีวีเมื่อ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา มีใจความว่า กองกำลังของรัฐเข้าจัดการกับปัญหาในพื้นที่รัฐยะไข่ตามหลักจรรยาบรรณ หลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ หากมีการใช้กำลังในทางที่ผิด คนที่ก่อเหตุจะต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ถ้อยแถลงของซู จี ได้ถูกสำนักข่าวระดับโลกทั้งซีเอ็นเอ็นและบีบีซีจับผิดว่าเป็น “เท็จ” อยู่หลายวรรคตอน เช่น ที่เธอกล่าวว่า กองทัพหยุดการกวาดล้างในรัฐยะไข่ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. นักข่าวบีบีซีที่ร่วมลงพื้นที่กับรัฐบาลเมียนมา โต้ว่าไม่จริง เพราะได้เห็นกับตาว่ามีการเผาบ้านเรือนชาวโรฮีนจาอยู่

และการที่บอกว่า ไม่มีการทำร้ายพลเรือนบริสุทธิ์ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะภาพถ่ายดาวเทียมจาก “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์” เผยว่ามีหมู่บ้านของชาวโรฮีนจาที่ถูกวางเพลิงในวันที่ 16 ก.ย.ทั้งหมด 214 หมู่บ้าน ถ้าดูภาพถ่ายมุมสูงจะเห็นจุดแดง ๆ กระจายตามเส้นขอบชายแดนบังกลาเทศทั้งแถบ

แม้ว่า “ซู จี” จะทิ้งท้ายแถลงการณ์ว่า พร้อมรับชาวโรฮีนจากลับประเทศ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ

หลายฝ่ายมองว่า ที่ซู จีไม่สามารถพูดถึงปัญหาโรฮีนจาได้โดยตรงเนื่องจากกองทัพยังคงมีอำนาจการรักษาความมั่นคงของประเทศอยู่มาก หากเธอขยับตัวมากไปอาจจะทำให้กระเด็นออกจากตำแหน่งได้

วิกฤตโรฮีนจากระทบต่อความเชื่อมั่นตัว “ซู จี” ระดับโลก ชาวเน็ตได้ยื่นคำร้องออนไลน์ให้ยึดรางวัลโนเบลสันติภาพ ปี 2534 คืนจากซู จี เนื่องจากมองว่าเธอทำหน้าที่เป็นเพียงผู้แก้ต่างให้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของรัฐบาล ไม่สมศักดิ์ศรีรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโนเบลระบุว่า ตามระเบียบแล้ว ไม่สามารถยึดรางวัลคืนจากซู จีได้