“จีน” บุกมัณฑะเลย์ตั้งฐานผลิต “รถยนต์”

แฟ้มภาพไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

มัณฑะเลย์” กลายเป็นที่รู้จักของโลกในฐานะ “ซูเปอร์เกตเวย์ของเมียนมา” นับตั้งแต่ที่รัฐบาลปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพิ่มโอกาสและความสำคัญในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ย้ำถึงศักยภาพของการเป็น “ประตูการค้าสู่ จีนและอินเดีย” พร้อมยกย่องให้เป็นหัวใจด้านการขนส่งและกระจายสินค้าของประเทศ

ขณะที่ดีมานด์การใช้รถยนต์ของชาวเมียนมาในกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนชาวจีนเริ่มปักหมุดมาที่ฐานผลิตในมัณฑะเลย์ เพื่อเติมเต็มช่องว่างแห่งโอกาสนี้ มัณฑะเลย์ เมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเมียนมา มีประชากรกว่า 1 ล้านคน

และจุดโดดเด่นก็คือ ภูมิศาสตร์ ที่ทำให้มัณฑะเลย์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าหลัก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเครื่องประดับอัญมณี และสินค้าเกษตร

เมียนมา ไทมส์ รายงานว่า รัฐบาลเมียนมาจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษมัณฑะเลย์” เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีนและอินเดีย ที่จะได้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวมากที่สุด

ล่าสุด นายหยาน หยู่ (Yan Yu) ประธานบริษัทไชนิง สตาร์ อินเตอร์เนชั่นนัล โฮลดิงส์ สัญชาติจีน หรือที่เรียกว่า”SSIHL” หนึ่งในนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญของจีน ทั้งยังมีธุรกิจโรงแรม การศึกษา ธุรกิจสุขภาพ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในเมียนมาอยู่เดิมเปิดเผยว่า จีนให้ความสำคัญกับความต้องการใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา ทั้งยังประสงค์จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมัณฑะเลย์ ซึ่งรัฐบาลเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ด้วย

โดยประธานหยานกล่าวถึงแผนการลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ในมัณฑะเลย์ว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการลงทุนของเมียนมา (MIC) โดยบริษัทมีแผนการชัดเจนในการผลิตและออกแบบรถยนต์ โดยเตรียมแผนการผลิตรถยนต์จำนวน 7 รุ่น 7 แบรนด์ของจีน ในโรงงานแห่งนี้

“ขั้นตอนการประกอบรถยนต์จะเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจมัณฑะเลย์ แต่จะนำเข้าชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีคุณภาพจากประเทศจีน ซึ่งกระบวนการออกแบบโมเดลต่าง ๆ จะผลิตขึ้นตามความเหมาะสมสำหรับตลาดเมียนมา”

บริษัทคาดว่าในช่วงแรกกำลังการผลิตของบริษัทจะอยู่ที่ 10,000 คันต่อปี

ทั้งนี้การผลิตจะเริ่มต้นทันที หลังจากที่ได้รับอนุญาตจาก MIC แต่สิ่งสำคัญคือ ทั้งจีนและเมียนมาจะต้องบรรลุการเจรจาทั้งสัดส่วนการลงทุนให้ได้ก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นโครงการนำร่องในเขตเศรษฐกิจพิเศษมัณฑะเลย์ ดังนั้นกฎหมายอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยอีกทั้งรัฐบาลได้กำหนดว่า ธุรกิจท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเปิดอุตสาหกรรมในขั้นแรกด้วย เพื่อก่อให้เกิดการสร้างงานให้กับคนเมียนมา

ทั้งนี้ บริษัทจะลงทุนการผลิตรถยนต์ในระยะแรก เป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หมายความว่างบประมาณดังกล่าวครอบคลุมการผลิตรถยนต์ใน 3 ปีแรกหลังจากที่ได้รับอนุญาต และหากผลตอบรับเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ บริษัทจะปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ต่อปีเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมองอนาคตที่จะให้มัณฑะเลย์เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศด้วย โดยประเทศแรกคาดว่าน่าจะเป็น “อินเดีย” เพราะอยู่ในรัศมีการขนส่งสินค้าที่ดีกว่าประเทศอื่น