ผลงาน “ยอดแย่” ของรัฐบาล “ซู จี” FDI ร่วง-GDP ดิ่ง นักธุรกิจวอนแก้ไข

“เมียนมา” ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเลือกตั้งที่นำโดย นางออง ซาน ซู จี ผู้ที่มีบทบาทเหนือประธานาธิบดี “ติน จ่อ” ซึ่งเข้ารับช่วงต่อรัฐบาลเต็ง เส่ง เมื่อ 1 เมษายน 2016 ในภาพรวมประเทศที่ดูเหมือนกำลังไปได้ดี หลังจากที่เมียนมามีความคืบหน้าในการก้าวสู่ “ประชาธิปไตย” มากขึ้น แต่ผลลัพธ์การเปลี่ยนผ่านในช่วง 1 ปีเศษ กลับส่งสัญญาณ “แย่ลง” โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ที่ผ่านมาการบริหารประเทศของออง ซาน ซู จี ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมามักมาพร้อมกับข้อกังขาเกี่ยวกับ “ความคลุมเครือ” ในทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเสมอ แม้ว่านักธุรกิจต่างชาติยืนยันว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากเพิ่งเปิดประเทศแนวโน้มการลงทุนด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและการเป็นฐานการผลิต ยังคงเป็นเหตุผลอันดับต้น ๆ ที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจยังรอคอยการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ หรือความความต่อเนื่องของนโยบายการพัฒนาต่อจากรัฐบาลเต็ง เส่ง รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่แม้ว่านางซู จี ได้ประกาศจะยกเครื่องใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ขณะที่สกุลเงิน “จ๊าต” ของเมียนมา ในปี 2016ยังอ่อนค่าต่อเนื่องในรอบ 5 ปี โดยอัตราแลกเปลี่ยนจาก 1,210 จ๊าตต่อดอลลาร์ ณ เดือน มี.ค. ปี 2016 อ่อนค่าลงเป็น 1,365 จ๊าตต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. และปัจจุบัน (13 ก.ค. 2017) อยู่ที่ 1,370 จ๊าตต่อดอลลาร์

แม้ว่าหลายเดือนก่อน รัฐบาลได้ส่งสัญญาณว่าจะเตรียมปรับกฎระเบียบเพื่อนักธุรกิจต่างชาติ ให้สามารถถือหุ้นในบริษัทเมียนมามากขึ้น ทว่าในปัจจุบันยังไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ เช่น กรณี “คันบาวซา แบงก์” หรือ KBZ Bank ธนาคารเอกชนรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา โดย นาง คำ นัง ผู้อำนวยการบริหารของแบงก์ กล่าวว่า”มีความตั้งใจที่จะขายหุ้นให้กับนักธุรกิจต่างชาติ หลังจากที่รัฐบาลประกาศแผน ซึ่งมีนักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจมาก แต่ขณะนี้ก็ยังรอการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย และยังไม่มีทีท่าที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะพร้อมประกาศใช้เมื่อใด”

ขณะที่นักธุรกิจชาวอเมริกันรายหนึ่งกล่าวในงาน “Myanmar Business Forum” ในกรุงลอนดอน เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า“นับตั้งแต่ที่เมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ ยังไม่มีนโยบายหรือกฎระเบียบด้านการลงทุนใดที่ชัดเจน มีเพียงคำประกาศที่ย้ำว่า กฎระเบียบการลงทุนจะถูกปรับให้ง่ายขึ้นเท่านั้น ความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังขึ้น และนั่นคือสัญญาณลบสำหรับเมียนมา”

“อู ออง เนียง อู” เลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (MIC) กล่าวว่าการลงทุนจากต่างชาติในเมียนมา ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2016 โดยบริษัทต่างชาติได้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แต่เนื่องด้วยกฎระเบียบที่ยังคลุมเครือ และยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่ชัดเจน ทำให้มีบางบริษัทขอถอนใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว

ขณะที่ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ชะลอตัวโดยเฉพาะช่วง เม.ย.-ธ.ค. 2016 เม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลข FDI ในปี 2015 อยู่ที่ประมาณ 8.1 พันล้านดอลลาร์ และสิ่งที่น่ากังวลก็คือ จีน ซึ่งเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ในเมียนมา ตามหลังสิงคโปร์ ชะลอการลงทุนอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2015

รายงานของเวิลด์แบงก์ ระบุถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจเมียนมา มีนัยสำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเมียนมา ในปี 2016 เติบโตต่ำกว่าเป้าอยู่ที่ 6.3% จากปี 2015 อยู่ที่ 7.3% เป็นการเติบโตต่ำที่สุด คือ ต่ำกว่า 7% ในรอบ 5 ปี

กระแสความไม่พอใจในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลซู จี ลุกลามเป็นวงกว้างมาสู่กลุ่มนักธุรกิจเมียนมาโดย วีโอเอ นิวส์ รายงานว่า ผู้ประกอบการชาวเมียนมาได้รับความเดือดร้อน จากที่กฎหมายการลงทุนใหม่ยังชะงัก “เซอร์เก ปุน” นักธุรกิจชาวเมียนมา ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย เจ้าของบริษัท First Myanmar Investment ที่ครอบคลุมกิจการตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงธนาคาร กล่าวตำหนิรัฐบาลว่า “รัฐบาลภายใต้การนำของซู จี ละเลยการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นอย่างมากของประเทศ ผลงานด้านเศรษฐกิจช่วงกว่า 1 ปี ที่ซู จี เข้าครองอำนาจ ยังไม่ได้รับการแก้ไข”


“ซู จี ให้ความสำคัญต่อการยุติการสู้รบที่นานหลายสิบปี ระหว่างทหารกับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์มากที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดหากจะมุ่งแก้ไขความวุ่นวายภายในเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของเมียนมา แต่เศรษฐกิจที่สดใสก็มีความจำเป็นอย่างมากต่อปากท้องคนเมียนมาโดยรัฐบาลต้องเริ่มกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเสียที และต้องสร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกรอบทางกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน”