“One Belt, One Road” กับโอกาสของอาเซียน

“เชื่อใจ-เข้าใจความต่าง” หนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ระดับประวัติศาสตร์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดทั่วโลกช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น “One Belt, One Road” หรือเส้นทางสายไหมใหม่ มีจุดมุ่งหมายในการเชื่อมต่อ (Connecting) 3 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เข้าด้วยกัน เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากนโยบายเสาหลักต่าง ๆ ของโลกถูกท้าทายอย่างหนักและเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ธนาคารยูโอบี จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “One Belt, One Road และโอกาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ จุดยืนและการปรับตัวของอาเซียนและไทย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่ควรตั้งรับแต่เนิ่น ๆ

One Belt One Road ?

นอกจากจะเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่จีนใส่เงินลงทุนกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ “ลีน่า อึ้ง” หัวหน้าสายงานลงทุนบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า One Belt, One Road เส้นทางสายไหมใหม่ เมื่อเทียบกับเส้นทางสายไหมดั้งเดิมของจีนนั้น จะเห็นได้ว่าคำว่า Belt คือเส้นทางเดียวกับเส้นทางสายไหมเก่า ที่จะเชื่อมต่อแต่ละประเทศเข้าด้วยกันซึ่งสำคัญมาก เพราะไม่ใช่เพียงการเชื่อมต่อเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวและเดินทางของผู้คนเท่านั้น แต่คือเส้นทางการค้าและเศรษฐกิจ ที่จะดึงเงินลงทุนต่างชาติและการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้

ซึ่งอาเซียนในฐานะที่รวมตัวกันเป็นประชาคม หน้าที่สำคัญที่จะตอบรับกับนโยบายยักษ์ของจีนได้ดีที่สุด คือการรวมตัวกันเป็น “ตลาดเดียว” ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการต่อรองได้มาก และมากไปกว่านั้นในฐานะตลาดเดียว อาเซียนจะสามารถดึงดูดนักลงทุนได้อย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่ “เชีย คิม ฮวด” ผู้จัดการองค์กรระดับภูมิภาค Rajah & Tann Singapore ระบุว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นเหมือนการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อกันในทุกประเทศ และเป็นกระบวนการสร้างความเป็นเมือง (Urbanization) ให้เกิดขึ้นในทุกประเทศที่โครงการนี้ตัดผ่านประเทศที่อยู่ในเส้นทางจะได้รับอานิสงส์ ทั้งในเรื่องการค้าไหลเวียน งานที่เพิ่มมากขึ้น อำนาจที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบัน จีนมีการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้ว่าจีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashlesssociety) อย่างชัดเจน ซึ่งการส่งเสริมและผลักดัน  ของจีนนั้น น่าจะสร้างประโยชน์แก่ประเทศที่มีส่วนร่วมใน One Belt, One Road ได้อีกมาก

ต้องทำอย่างไรจึงไม่ตกขบวน

สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่ได้อยู่ในเส้นทางสายไหมใหม่ แต่เส้นทางทางทะเลก็เฉียดใกล้ไทย ผ่านเมืองท่าฮานอยของเวียดนาม ต่อมายังมาเลเซียและอินโดนีเซีย ไปยังศรีลังกา อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเข้าสู่ทวีปยุโรป

อย่างไรก็ตาม จีนได้มีการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจรองรับการเติบโตอีก 6 จุด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือรถไฟความเร็วสูง SKRL ซึ่งเชื่อมเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน สู่สิงคโปร์ โดยตัดผ่านไทยและมาเลเซีย

“เชีย คิม ฮวด” ให้ความเห็นว่า ไทยอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ดีมาก แต่สิ่งที่ไทยยังขาดก็คือ “มัลติโมเดลทรานสปอร์ตเทชั่น” คือการเชื่อมต่อการคมนาคมทางพื้นดิน ทะเล อากาศ และรถไฟ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งการเชื่อมต่อดังกล่าวจะทำให้การขนส่งสินค้าไปไกล ๆ เช่นยุโป เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไทยจึงต้องคิดว่าจะเชื่อมโยงคมนาคมในประเทศอย่างไร

นอกจากนี้ประเทศไทยต้องมองเรื่องการสร้างและพัฒนาธุรกิจแบบหลากหลาย คือไม่จำเป็นต้องไปสู้ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ แต่ให้เน้นจุดแข็งของตัวเอง คือเรื่องของอาหาร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งไทยอาจฉวยเอาโอกาสตรงนี้ในการผลิตข้าวและส่งไปยังประเทศอื่น ซัพพอร์ตด้านอาหารแก่แรงงานประเทศอื่น

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมในการพัฒนาโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นนี้ แม้ว่าจะสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค แต่ก็มีหลายเรื่องที่ต้องกังวลอยู่เช่นกัน หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และความไว้เนื้อเชื่อใจของแต่ละประเทศ เพราะเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม หมายถึงการทำงานร่วมกันของทุกประเทศที่มีส่วนร่วม

“สิ่งสำคัญในการทำงานกับต่างชาติ คือเรื่องของความเข้าใจด้านวัฒนธรรมที่แตกต่าง อย่างในอาเซียน สิ่งที่เห็นชัดคือเรื่องของภาษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องใส่ใจให้มาก ๆ คือเรื่องความเข้าใจด้านวัฒนธรรม ต้องใส่ใจอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่ทำได้หรือทำไม่ได้ ซึ่งถ้าคุณสามารถเข้าใจความแตกต่างดังกล่าวได้แล้วนั้น อาเซียนก็จะสามารถประสบความสำเร็จในโปรเจ็กต์ยักษ์ One Belt, One Road ได้อย่างแน่นอน” ลีน่า อึ้ง ให้ความคิดเห็น

ด้าน “เท วุน เต็ก” กรรมการผู้จัดการที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง บริษัทตรวจสอบบัญชี RSM Global มองว่า One Belt, One Road เป็นเหมือนกับการนำผู้คนมาเชื่อมโยงกันและทำงานร่วมกันสิ่งที่สำคัญคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน

“เราต้องสร้างความเชื่อใจระหว่างประเทศ เมื่อเชื่อใจแล้ว เราจะสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นไปด้วยกัน โครงการนี้ไม่ใช่การลงทุนของจีนแต่ฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการลงทุนที่ทุกประเทศต้องการเห็นโลกนี้ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน”