“ไทย-มาเลย์-เวียดนาม” ท้ารบ ชิงผู้นำ “อีคอมเมิร์ซ” อาเซียน !

หลายปีที่ผ่านมาได้เริ่มเห็นการล่มสลายของค้าปลีกและห้างสรรพสินค้ากันมากในยุโรปและสหรัฐอเมริกา จากกระแส “อีคอมเมิร์ซ” เอฟเฟ็กต์ แม้ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เป็นแนวโน้มนี้ แต่กระแสความร้อนแรงของธุรกิจอีคอมเมิร์ซน่าจับตามาก โดยเฉพาะในประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย

บิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2015 “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” คือ ตลาดอีคอมเมิร์ซที่น่าจับตามองที่สุด นายมาร์ช วู หัวหน้าด้านอีคอมเมิร์ซฯ ของกูเกิล กล่าวว่า ไตรมาส 1/2017 ยอดขายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชีย-แปซิฟิก มีสัดส่วนอยู่ถึง 40% ของยอดขายอีคอมเมิร์ซทั่วโลก ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอดขายอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์

“ตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่กำลังเคลื่อนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย เวียดนาม มาเลเซีย และในปี 2018 เฉพาะตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้รวมกันจะอยู่ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 88,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2025”

ขณะเดียวกัน ผลการวิจัยของบริษัท iPrice ที่ทำตลาดอยู่ใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า 3 ชาติที่มีการแข่งขันดุเดือด ได้แก่ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา “มาเลเซีย” ถือว่าเป็นประเทศที่มีอีคอมเมิร์ซต่างชาติเข้ามาแข่งขันในสัดส่วนที่สูงกว่าสองประเทศ โดยอีคอมเมิร์ชจากต่างประเทศมีสัดส่วน 24.2% ของผู้แข่งขันอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในมาเลเซีย ขณะที่ประเทศไทยมีต่างชาติ 18% และเวียดนาม 14% ส่วนหนึ่งมาจากนโยบาย MSC หรือ Mul-timedia Super Corridor เพื่อเป็นฮับด้านเทคโนโลยีเพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ iPrice ระบุว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซใน “ประเทศไทย” ส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลายในเว็บไซต์เดียว โดยเว็บไซต์ที่นิยมมากที่สุด คือ “ลาซาด้า” (Lazada) ทราฟฟิกในการเข้าใช้ถึง 52.6% รองมาจะเป็น 11Street และ Shopee

โดยกลุ่มสินค้าแฟชั่นในไทยนิยมใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับผู้บริโภคมากกว่าการใช้เว็บไซต์ เพราะปิดการขายง่ายกว่า ทำให้เว็บไซต์ใหญ่ ๆ ไม่นิยมเข้ามาแข่งขันในตลาดแฟชั่น

 

สำหรับ “มาเลเซีย” ร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าแฟชั่น เกือบ 50% เป็นร้านค้าจากคนดังที่หันมาปั้นแบรนด์แฟชั่นของตัวเอง โดยเน้นเสื้อผ้าแฟชั่นแบบมุสลิม ตัวอย่างเว็บไซต์แฟชั่นที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Zalora, Hermo, Fashion Valet ส่วนเว็บไซต์ต่างประเทศที่นิยม ก็คือ Lazada มีทราฟฟิกอยู่ที่ 48.5% รองมาคือ 11Street ที่จับตลาดสินค้าทั่วไป โดยเฉพาะเครื่องสำอาง

Lazada ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาเจาะตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้เป็นรายแรก ๆ ทว่า “เวียดนาม” มีจุดน่าสนใจก็คือ การแข่งขันของ Lazada ในตลาดเวียดนามค่อนข้างหนัก เนื่องจากมีคู่แข่งบริษัทสัญชาติเวียดนามที่แข็งแกร่ง โดยจะเห็นจากทราฟฟิกที่เข้าใช้ Lazada มีเพียง 19% ขณะที่เว็บไซต์ท้องถิ่นที่นิยมอย่าง The gioi didong มีส่วนแบ่งทราฟฟิก 15%

ทั้งนี้ iPrice ได้ทำการศึกษาร่วมกับกูเกิล และเทมาเส็ก เกี่ยวกับอนาคตของอีคอมเมิร์ซใน 3 ประเทศ คาดว่าในปี 2025 ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยจะโตอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 29% ต่อปี จนมีขนาดใหญ่กว่าตลาดของ 2 ประเทศ โดยจะขึ้นเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจาก “อินโดนีเซีย” ซึ่งประเมินว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะมีขนาดอยู่ที่ 11,100 ล้านดอลลาร์ ส่วนมาเลเซีย มูลค่าตลาดอยู่ที่ 8,200 ล้านดอลลาร์ และเวียดนามที่มีมูลค่าตลาดราว 7,500 ล้านดอลลาร์

ดังนั้น หากเทียบสงครามความเป็นหนึ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซ 3 ประเทศดังกล่าว จะเห็นว่าประเทศไทยมีการเติบโตโดดเด่นที่สุด ยิ่งล่าสุดบริษัท JD.Com ของจีน ประกาศจับมือกับกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเจาะตลาดไทย ยิ่งทำให้การแข่งขันร้อนระอุมากขึ้น ข้อดีก็คือนักช็อปจะมีโอกาสในการเข้าถึงตัวเลือกที่หลากหลายขึ้น รวมถึงคุณภาพของสินค้าและบริการที่ดีกว่าเดิม เพราะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั้งไทยและต่างชาติจะต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในใจผู้บริโภค

 

อ่านเพิ่มเติมที่ https://ipricethailand.com