จะทันหรือ ?

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน
โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม

 

สิ้นสุดไปกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมกับประเทศคู่เจรจาทั้งจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ รัสเซีย และสหประชาชาติ รวมไปถึงสหภาพยุโรป และแคนาดา ที่จะเข้ามาคุยกับผู้นำอาเซียน 10 ชาติ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาเซียนในเรื่องการเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป ที่เข้ามาเป็นกลไกหลักแทนที่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี หลังโต้โผใหญ่อย่างสหรัฐถอนตัวออกไป

ในความมุ่งหวัง ดูทรงแล้วอาเซียนอยากจะเป็นสะพานเชื่อมอาร์เซป ในการเจรจาการค้าเสรีอาเซียน+คู่เจรจา สำหรับคู่เจรจาอื่นที่ไม่เคยคุยกันมาก่อนหน้า

และอาเซียนเองก็อยากให้ประเทศสมาชิกอาร์เซปเข้าใจถึงระดับการพัฒนาของประเทศคู่เจรจาที่มีไม่เท่ากัน พร้อมอยากให้อาร์เซปยืดหยุ่นให้กับสมาชิกอาเซียนที่ยังพัฒนาไม่ทัดเทียมกับสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ

อยากเปิดการค้าเสรี แต่ยังห่วงหน้าพะวงหลัง และด้วยขนาดของอาร์เซปที่กว้างขวาง ที่มีประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอย่างจีน ซึ่งจีดีพีปีที่ผ่านมาเกินกว่า 11.2 ล้านล้านดอลลาร์ กับประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจเล็กอย่าง บรูไน กับประชากรเพียง 4 แสนกว่า จีดีพีเพียง 12 ล้านดอลลาร์ หรือประเทศลาวที่มีประชากร 6 ล้านกว่า จีดีพี 14 ล้านดอลลาร์ ไม่น่าจะทันเห็นอาร์เซปเต็มรูปแบบในเร็ว ๆ นี้

บวกกับกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ที่ในแถลงการณ์ร่วมก็ได้เขียนไว้ในข้อสอง ที่ตระหนักถึงการก่อตัวขึ้นของกระแสดังกล่าว และที่สำคัญในแถลงการณ์ยังพูดถึงการทำอีคอมเมิร์ซ ที่อาร์เซปจะต้องเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริม โดยเฉพาะจากกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี แต่จริง ๆ แล้วอยากเรียกว่า สตาร์ตอัพมากกว่า

ลองนึกภาพดูว่า ระหว่างเอสเอ็มอีในไทย เมียนมา สิงคโปร์ และจีน ใครจะไปรอดก่อนกัน ใครจะทันกระแสโลกาภิวัตน์ก่อนกัน

หากสำเร็จในการเปิดช่องทางการแข่งขัน อาร์เซปก็จะเป็นความสำเร็จกับบทบาทกลไกส่งเสริมการค้า แข่งขันอย่างเสรี แต่หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ทันกัน อาร์เซปก็จะกลายเป็นดาบฟันรายย่อยสู่ชิ้นเล็กชิ้นน้อย เป็นอาหารปลาใหญ่ไปทันที

เข้าใจว่าแถลงการณ์ร่วมหลายประเทศไม่อยากให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ชามก๋วยเตี๋ยวยักษ์ หรือทฤษฎีฝรั่งที่ว่า ชามสปาเกตตี ที่มีข้อกำหนดตกลงการค้าเสรีมันพันมั่วยุ่งเหยิงไปหมด เลยจับมาให้เป็นตามแนวทางของอาเซียนเสีย ซึ่งประเด็นนี้อาจจะ “ทัน” ในการกำหนดกรอบเจรจาอนาคต

และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะทันคือ การใช้อาเซียนเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ที่ความสัมพันธ์ไม่เคยดี รวมไปถึงสองมหาสมุทรอย่างมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย ตามท่าทีของรัฐบาลไทยที่อยากผลักดัน แต่เสริมว่าอาเซียนต้องสวมบทบาทผู้นำในการผลักดัน ไม่ใช่ประเทศที่มีความพร้อมมาก ๆ อย่าง ญี่ปุ่น หรือจีน

หากอาเซียนไม่เล่นบทบาทผู้นำ เชื่อได้ว่าผู้ประกอบการสัญชาติอาเซียนรายย่อยจะเดินไม่ทันนักลงทุนนอกภูมิภาคที่พร้อมกว่า