“สิงคโปร์” ประธานอาเซียน 2018

วางโรดแมปยกระดับภูมิภาคก่อนถึงวันรับตำแหน่ง “ประธานอาเซียน” ของประเทศสิงคโปร์ ในปี 2018 จะเห็นว่ารัฐบาลสิงคโปร์เริ่มประกาศแผนการพัฒนาในประชาคมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเป็น “เศรษฐกิจดิจิทัล” และอำนวยความสะดวกด้านการค้าในภูมิภาค รวมถึงมุ่งพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวทางน้ำเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในภูมิภาค

นายลิม เฮง เคียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ทางการสิงคโปร์วางแผนและเตรียมตัวอย่างหนักในการเป็นประธานอาเซียนปีที่ 51 ของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “ประชาคมอาเซียน” พร้อมระบุว่า ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนให้ความสนใจในเรื่องที่คล้ายคลึงกัน เช่น การพัฒนาขีดความสามารถของ “อีคอมเมิร์ซ” เพื่อรองรับโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์จะช่วยเหลือก็คือ การสร้างความคล่องตัวทางการค้าและสร้างโอกาสสำหรับทั้งภูมิภาค

“ในฐานะที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินและดิจิทัลของอาเซียน เราจะเป็นหัวหอกในการพัฒนาแบบเชิงรุกทั้งภูมิภาค เริ่มจากการพิจารณากฎระเบียบด้านการค้าในการกำกับดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่จะส่งเสริมการเชื่อมต่อแบบดิจิทัล และลดอุปสรรคในการเข้ามาลงทุนหรือทำการค้าภายในภูมิภาค”

ขณะที่สเตรทไทม์รายงานว่า ดร.วิเวียน บัลเลคริสนาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวบนเวทีการเสวนา “ASEAN :Next 50” แสดงความเชื่อมั่นว่าในปี 2018 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนโลกของอาเซียน โดยหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดในฐานะประธานอาเซียน คือ การเชื่อมโยงระหว่างผู้คนและเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมยกระดับสู่การเป็น “อาเซียน สมาร์ทซิตี้”

“ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนยังมีการทำธุรกิจข้ามแดนในระดับที่ต่ำมาก หนึ่งในหลายปัจจัยอาจเป็นเพราะความไม่เชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นเราจำเป็นต้องปฏิรูปและเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อย่างเร่งด่วน หากอาเซียนต้องการพัฒนาประเทศสู่โลกที่ชาญฉลาดกว่า ทั้งยังต้องฉลาดที่จะเติบโตไปพร้อมกับโลกอีคอมเมิร์ซ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่” ดร.บัลเลคริสนานกล่าว

พร้อมกันนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายการเป็น “ตลาดร่วมดิจิทัล” (digital single market) เพื่อเพิ่มศักยภาพของตลาดดิจิทัลในภูมิภาค เช่นเดียวกับความพยายามของสหภาพยุโรป (EU) ที่ตั้งเป้าบังคับใช้ในปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือการยกระดับเพิ่มความมั่งคั่งให้กับอาเซียน ทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มแรงงานย้ายถิ่นจำนวนมากในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกลุ่มแรงงานย้ายถิ่นสามารถโอนเงินหรือทำธุรกรรมอื่น ๆข้ามพรมแดนในอัตราค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าปัจจุบัน ทั้งยังเป็นเรตที่เหมาะสมสำหรับทุกประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ เป็นต้น

ในส่วนของนโยบายการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทางการสิงคโปร์จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดขึ้น เพื่อนำระบบการขึ้นทะเบียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (self-certification) รวมทั้งการพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window : ASW) มาปรับใช้โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ระบบการขึ้นทะเบียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง จะช่วยให้ผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต สามารถรับรองว่าสินค้าของตนเป็นไปตามข้อกำหนดของอาเซียน เพื่อรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ขณะที่ระบบศุลกากรว่าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว จะช่วยให้การยื่นเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก ทำได้ในจุดเดียว หรือที่เรียกกันว่า “ระบบวันสต็อปเซอร์วิส”

ระบบทั้งสองจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในอาเซียน ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถลงทุนในภูมิภาคได้สะดวกมากขึ้น ทั้งยังช่วยเรื่องระยะเวลาให้กระชับมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจหลักที่เกือบทุกประเทศให้ความสนใจ โดยรัฐบาลสิงคโปร์มองว่า สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในด้านนี้

ขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียก็ถือว่าเป็นชาติที่พัฒนาในด้านท่องเที่ยวได้โดดเด่น ดังนั้น ความแตกต่างนี้จะสามารถสร้างเอกภาพให้กับสมาชิกได้ หากร่วมกันปรับปรุงเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมถึงประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศยากจนในอาเซียน ส่วนใหญ่มีข้อได้เปรียบคือทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะ “การท่องเที่ยวทางน้ำ” สิงคโปร์มองว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ จะเป็นหนึ่งไฮไลต์ที่แปลกใหม่และดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่กำลังนิยมแพ็กเกจทัวร์ 3 ประเทศ (มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) หรือนักท่องเที่ยวยุโรปวัยเกษียณที่ชื่นชอบประเทศเอเชียเป็นจุดหมายปลายทางมากที่สุด

ด้วยเหตุผลที่ประเทศอาเซียนล้วนมีขุมสมบัติทางธรรมชาติ ทั้งด้านวัฒนธรรมและมรดกโลกของยูเนสโก รวมถึงสถานที่หลากหลายทั้งสมัยใหม่ และสายอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งยังมีภูมิศาสตร์แบบร้อนชื้นที่เหมาะต่อการล่องเรือตลอดทั้งปีผนวกกับจำนวนเกาะที่มากถึง 25,000 เกาะ มีชายฝั่งยาวกว่า 128,747 กม. จุดแข็งเหล่านี้จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่อาเซียน ซึ่งทั้ง 10 ประเทศสมาชิกต้องมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งนี้