จัดอันดับรัฐอาเซียน ใต้พลังยุทธศาสตร์ “One Belt One Road” (จบ)

คอลัมน์ อาเซียนซีเคร็ท

โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช

คราวที่แล้วพูดถึงยุทธศาสตร์ “One Belt One Road” ของประเทศจีน ส่งผลให้เกิดการจัดแบ่งรัฐเอเชียอาคเนย์ ออกเป็น 3 กลุ่มหลักคร่าว ๆ คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มประเทศที่เข้าไปเกี่ยวพันหรือเผชิญหน้ากับประเทศจีนแบบเข้มข้น ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มประเทศที่อาจเข้าไปเกี่ยวพันหรือเผชิญหน้ากับจีนแบบพอประมาณ ซึ่งกล่าวในรายละเอียดไปแล้ว คราวนี้มาถึงกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวพันหรือเผชิญหน้ากับประเทศจีนแบบเบาบาง ได้แก่บรูไนและติมอร์ตะวันออก

แต่ก่อนจะไปถึงกลุ่มประเทศดังกล่าวซึ่งเป็นกลุ่มที่สาม หันมาดูอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่จัดอยู่ในกลุ่มที่สอง คือเกี่ยวพันหรือเผชิญหน้ากับจีนแบบพอประมาณ ทั้งสองประเทศนี้ (อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์) แม้จะไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์หลักของเส้นทางสายไหมทางทะเล หากแต่พื้นที่เศรษฐกิจตรงเกาะสุมาตรา ก็ถูกบูรณาการเข้ากับมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยกองทัพเรือจีนเคยประสบความสำเร็จในการเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียผ่านช่องแคบซุนดา ซึ่งทำให้อินโดนีเซียอาจกลายเป็นพื้นที่สำรองหลักของจีน หากเกิดสภาวะคับขันในการเดินเรือตรงช่องแคบมะละกา

ส่วนกรณีฟิลิปปินส์ ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่าง เกาะลูซอน กับ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง-มาเก๊า หรือแม้กระทั่ง ไต้หวัน ทำให้ฟิลิปปินส์เริ่มถูกผูกโยงเข้าไปอยู่ในข่ายเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะเป็นรัฐคู่พิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้ หากแต่การกระชับสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ย่อมทำให้จีนถ่วงดุลกับสหรัฐ พร้อมเพิ่มพูนกำลังเศรษฐกิจบนสนามเอเชีย-แปซิฟิก ได้มากขึ้น

กลุ่มสุดท้าย กล่าวได้ว่า ติมอร์ตะวันออก คือรัฐที่ถูกตัดขาดจากเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนมากที่สุด พร้อมมีที่ตั้งภูมิศาสตร์ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคมหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์เชิงลึกกับจีนทั้งในแง่ยุทธศาสตร์

สร้อยไข่มุกและทะเลจีนใต้

ส่วน บรูไน แม้จะไม่ถูกพาดผ่านโดยเส้นทางขนส่งทะเลสายหลักของจีน หากแต่ด้วยความเชื่อมโยงทางการค้ากับมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ บรูไนจึงมีความได้เปรียบสูงกว่าติมอร์ตะวันออก สำหรับในพื้นที่ทะเลจีนใต้ แม้บรูไนจะเป็นหนึ่งในคู่พิพาท หากแต่ก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งหลักกับจีน (เมื่อเทียบกับเวียดนามและฟิลิปปินส์) ฉะนั้น บรูไนอาจไม่ต้องเผชิญหน้ากับจีนแบบเข้มข้นรุนแรง

การจัดอันดับรัฐในเบื้องต้น จะเห็นว่า โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกและข้อพิพาททะเลจีนใต้ ทำให้เริ่มมองเห็นภาพพลวัตทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มรัฐที่ต้องพัวพันเผชิญหน้ากับอิทธิพลจีนในระดับที่เข้มข้นที่สุดไปจนถึงระดับที่เบาบางที่สุด

กระนั้นก็ตาม อันดับรัฐที่นำเสนอไปเบื้องต้นย่อมมีวิวัฒนาการขึ้นลงผันแปรไปตามปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การดำเนินนโยบายต่างประเทศของแต่ละรัฐในอาเซียน ที่อาจมีประสิทธิผลต่อการตอบสนองท่าทีของจีนไม่เท่าเทียมกัน หรือความก้าวหน้าในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจมีจุดเริ่มต้นและจุดขยายตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ โดยผลพวงจากพลวัตตัวแปรแวดล้อมต่าง ๆ ย่อมกระทบต่ออันดับขึ้นลงของประเทศต่าง ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี หากในโครงการเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน มีความก้าวหน้ารวดเร็วกว่าโครงการเส้นทางสายไหมทางบก ก็ย่อมทำให้ทั้งสิงคโปร์-มาเลเซีย ชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเหนือกว่าไทย-ลาว-กัมพูชา แม้ว่าไทยจะมีท่าเรือยุทธศาสตร์ในอ่าวไทย หากแต่ก็ไม่ใช่เส้นทางหลัก เมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา หากถนนทางบกกลับมีความก้าวหน้ามากกว่าถนนทางทะเล ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมเป็นไปในทิศทางตรงข้าม แต่ถ้าหากโครงการทั้งสองส่วนกลับมีความก้าวหน้าไปในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ทั้งสิงคโปร์-มาเลเซีย-ไทย-ลาว-กัมพูชา ก็อาจถูกเชื่อมโยงบูรณาการ และมีสมรรถนะในการครองอันดับที่ใกล้ชิดสมดุลกันมากขึ้น หรือหากมีปัจจัยใหม่ก่อตัวขึ้น (แม้ว่าจะเกิดขึ้นยาก) เช่น การพลิกฟื้นนโยบายขุดคอคอดกระ โฉมหน้าเส้นทางสายไหมทางทะเลก็อาจเปลี่ยนแปลงไป พร้อมส่งผลขนานใหญ่ต่อผลประโยชน์ได้-เสีย ของรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาค