เว็บไซต์ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศว่า เสียงแคนของชาวลาว ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากยูเนสโก โดยระบุว่า เสียงแคนของชาวลาวซึ่งเป็นเครื่องดนตรีแบบเป่า ทำขึ้นจากการประกอบขลุ่ยหลายเลา ซึ่งทำขึ้นจากลำไผ่ที่มีความยาวที่แตกต่างกันออกไป เพื่อสร้างเสียงที่แตกต่างกัน และผู้เล่นจะต้องเป่าลมเข้าไปภายในเพื่อสร้างเสียงดนตรีขึ้นมา
เพลงที่บรรเลงจากแคนเป็นที่นิยมกันอย่างมากในทุกภูมิภาคของประเทศลาว และนิยมนำไปเล่นกันตามงานเทศกาลตามหมู่บ้านต่างๆ และเพื่อให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมกับเพลงและการเต้นรำ แทนที่จะนั่งฟังเฉยๆ
เพลงที่เล่นจากแคนนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวลาวที่สนับสนุนการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างครอบครัวและสังคม โดยครอบครัวถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดศิลปะและคนเป่าแคนให้ยังคงอยู่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ยังมีการเรียนศิลปะเหล่านี้อยู่ โดยในหลายชุมชนท้องถิ่น สมาคมและกลุ่มต่างๆได้ริเริ่มการสนับสนุนการศึกษาทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ในปี 2548 ได้มีการก่อตั้งสมาคมศิลปะแคนขึ้น และมีงานเทศกาลอีกหลายงานที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนศิลปะแคน
ที่มา : มติชนออนไลน์