“เมียนมา” ฟื้นส่งออก “แรงงาน” หลัง “โรฮีนจา” เสี่ยงเป็นเหตุแช่แข็งเศรษฐกิจ

แม้ว่ารัฐบาลเมียนมาภายใต้การบริหารของ “ออง ซาน ซู จี” พยายามจะยกเครื่องกฎดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ผนวกกับแรงกดดันจากวิกฤตปัญหาโรฮีนจาที่ยังคุกคามความเชื่อมั่นนักลงทุนว่าอาจลุกลามเป็นความเสี่ยงให้เมียนมาถูกคว่ำบาตรอีกครั้ง

ล่าสุดกระทรวงแรงงาน ประกาศแผนการส่งออกแรงงานชาวเมียนมาไปต่างประเทศ หลังเศรษฐกิจของประเทศส่งสัญญาณชะลอตัว

รอยเตอร์ส รายงานอ้างผลการสำรวจของ “โรแลนด์ เบอร์เกอร์” บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติเยอรมนี และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา ระบุว่า รายงานความเชื่อมั่นทางธุรกิจในระยะสั้นฉบับล่าสุด ศึกษามุมมองของนักธุรกิจเมียนมาและต่างประเทศ 500 บริษัทพบว่า ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจที่มีต่อเศรษฐกิจเมียนมาในปีนี้ ลดลงเหลือ 49% เทียบกับปีก่อนที่ 73%

โดยนัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงมุ่งมาที่ 2 ประเด็นหลัก คือ “การขาดแคลนนโยบาย” และ “แผนพัฒนาทางเศรษฐกิจที่คลุมเครือ”

นายโทมัส คล็อส์ ผู้จัดการหุ้นส่วนของโรแลนด์ เบอร์เกอร์ ในเอเชียตะวันเฉียงใต้ กล่าวว่า “สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือความชัดเจน โดยเฉพาะโรดแมปที่ชัดเจน กรอบเวลา และผลงานทางรูปธรรมที่รวดเร็ว”

แม้ว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกนโยบายเศรษฐกิจฉบับหนึ่ง แต่หลายคนกลับมองว่ายังขาดรายละเอียด หรือแผนการที่จะบรรลุเป้าหมาย และในเดือนเม.ย.ปีนี้ สภาได้ผ่านร่างฎหมายการลงทุนที่ช่วยให้กระบวนการด้านการลงทุนง่ายขึ้น และช่วยให้นักลงทุนต่างชาติได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับนักลงทุนท้องถิ่น แต่ผลงานดูยังไม่น่าประทับใจอย่างที่ควรจะเป็น

เห็นได้จากอัตราการเติบโตในการลงทุนของต่างชาติและจีดีพีของประเทศ ที่ชะลอตัวลงนับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปีก่อน โดยมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติในปีนี้ เฉลี่ยเพียง 739 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน อยู่ในระดับต่ำกว่ารายงานในปี 2015 ที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานเมียนมา ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐกระทรวงแรกที่ออกมาเคลื่อนไหว หลังจากที่รายงานความเชื่อมั่นออกมาได้ไม่นาน โดยเว็บไซต์ เรดิโอ ฟรี เอเชีย รายงานว่า กระทรวงแรงงานเมียนมากำลังหาลู่ทางเพื่อทำข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อส่งออกแรงงานหญิงในอาชีพแม่บ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานเมียนมาที่ยังเป็นประเด็นร้อน โดยกระทรวงตั้งเป้าที่จะเจรจากับ 4 ประเทศได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย

เพราะความต้องการแรงงาน โดยเฉพาะ “แม่บ้าน” หรือ “คนรับใช้ในบ้าน” ในอัตราค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ ข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุว่าแรงงานเมียนมามากถึง 70% ของทั้งหมด อพยพและอาศัยอยู่ในประเทศไทย รองลงมาคือ มาเลเซีย 15%, จีน 4.6% และสิงคโปร์ 3.9% ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานเหล่านี้มาจากรัฐมอญและรัฐกะยีน หรือที่คนไทยเรียกว่า รัฐกะเหรี่ยง และบางส่วนมาจากรัฐฉาน

ขณะที่ประมาณการของรัฐบาลระบุว่า มากกว่า 5% ของแรงงานเมียนมาทำงานอยู่ในตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ทำงานด้านการประมงและการเกษตร ส่วนผู้หญิงจะทำงานเป็นหญิงรับใช้

ทั้งนี้ นายวิน เชียน อธิบดีกรมแรงงานและสอบสวนคดีแรงงาน กล่าวว่า”การย้ายถิ่นของแรงงานอย่างถูกกฎหมาย นอกจากจะแก้ไขปัญหาการลักลอบทำงานยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการจัดหางานให้กับคนยากจนและเพิ่มรายได้ที่จะส่งกลับบ้าน”

ก่อนหน้านี้ เมียนมาเคยได้พูดคุยกับรัฐบาลสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฮ่องกง และไต้หวัน มานานแล้วในประเด็นการส่งออกแรงงานอย่างถูกกฎหมาย แต่การเจรจาครั้งใหม่นี้จะครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ของแรงงาน การคุ้มครองแรงงานเมียนมาในต่างแดนรวมถึงการเอื้อความสะดวกในการทำธุรกรรมข้ามชาติที่เข้มแข็งขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า โอกาสที่รัฐบาลเมียนมาจะประสบความสำเร็จจากการเพิ่มการส่งออกแรงงานนั้นมีอยู่สูง แม้ว่าหลายประเทศในอาเซียนจะมีนโยบายเช่นเดียวกัน แต่หากเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จะพบว่าอัตราค่าจ้างแรงงานชาวเมียนมาต่ำกว่า อยู่ที่ 330 ดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่แรงงานอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จะอยู่ที่ 385 ดอลลาร์ และ 460 ดอลลาร์ต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิเคราะห์ยังกังขาก็คือ การประกาศรับกลุ่มโรฮีนจากลับประเทศ โดยที่รัฐบาลซู จียังไม่มีนโยบายการจัดการที่ดี นัยของแผนการส่งออกแรงงานจึงเป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังให้ความสนใจ และลงความเห็นว่าต้องติดตามต่อไป