สิ่งแวดล้อม การลงทุน นักเคลื่อนไหว

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน


ไม่นานมานี้ ศาลเวียดนามเพิ่งสั่งปรับบริษัทฟอร์โมซา สตีล บริษัทผลิตเหล็กกล้าสัญชาติไต้หวันเป็นเงินกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ตีเป็นเงินไทยประมาณสามร้อยกว่าล้านบาท หลังจากเหตุปล่อยสารเคมีลงในธรรมชาติ ทำมาเป็นเวลานาน ที่จังหวัดห่าตินญ์ ตอนกลางของประเทศเวียดนาม โดยการทิ้งสารเคมีไม่ใช่มีแค่เพียงจากไต้หวันเท่านั้น แต่ยังมีการจ้างวานบรรษัทเหล็กกล้าจากประเทศจีน หรือ เอ็มซีซี เป็นซับคอนแทร็กต์ในการเอาของไปทิ้งในพื้นที่ของบริษัท ดูผิวเผินแล้ว เป็นเรื่องที่ทางการควรจะตระหนักเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน

แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ช่างขัดใจยิ่งนัก กับการจับนักเคลื่อนไหวหนุ่มชาวเวียดนามที่ชื่อว่า เหงียน วัน หัว ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดหลังจากพยายามโฆษณาเชื้อเชิญให้คนต่อต้านรัฐบาลสังคมนิยมเวียดนาม และลงเอยด้วยการถูกจำคุกเป็นเวลา 7 ปี

สำหรับโฆษณาที่นายคนนี้ทำ คือการเผยแพร่วิดีโอ และเขียนประท้วงเกี่ยวกับการรั่วไหลของสารพิษ จากบริษัทฟอร์โมซ่า สตีล แต่ปฏิกิริยาจากรัฐบาลเวียดนามที่เคลื่อนไหวโดยการเชือดนักเคลื่อนไหว เป็นเสมือนกับการวิตกกังวล หวั่นไหว กับเสถียรภาพของอำนาจ

แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่ร่วมมือกับนักเคลื่อนไหว เหมือนกับที่ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกทำ ก็คือ ดึงเอานักเคลื่อนไหวมาร่วมออกเสียง หรือหารือในมาตรการเพื่อการป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการลงทุน

หากมองจากเรื่องนี้แล้ว เลยกลายเป็นคำถามว่า รัฐบาลเวียดนามมีการจัดการอย่างไรกับปัญหาการลงทุนกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และอาจเป็นคำถามต่อยอดไปถึงแผนเศรษฐกิจโด่ยเหม่ย

ในแผนเศรษฐกิจโด่ยเหม่ยนี้ รัฐบาลเวียดนามพูดเองตลอดถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการลดความยากจน สลัดตนเองออกจากการเป็นประเทศรายได้ต่ำ และกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย

ความเป็นจริงมันช่างแสนโหดร้าย ไม่ได้เป็นตามรัฐบาลพูด ซึ่งในเชิงประจักษ์ชาวเวียดนามหลายคนยังคงประสบปัญหากับความยืดยาวของการติดต่อราชการที่ต้องมีการจ่ายสินบนใต้โต๊ะกันอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่ารัฐบาลเองจะพยายามลดขั้นตอนแล้วก็ตาม อย่างการประกาศให้ชาวเวียดนามไม่จำเป็นต้องใช้สำเนาทะเบียนบ้านในการติดต่อราชการ แต่ใช้เพียงแค่บัตรประชาชน ซึ่งเพิ่งเริ่มทำที่ฮานอย และทดลองใช้ที่เมืองโฮจิมินห์

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับฟอร์โมซ่า สตีล และนักเคลื่อนไหวรายนี้ชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมยังไม่เปิดกว้างมากนัก และเมื่อเป็นเช่นนั้น ชาวบ้านเฉย ๆ ที่ไม่มีสิทธิมีเสียงก็อาจกลายเป็นเหยื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ


การลงทุนเข้าใจว่าต้องทำเพื่อกำไร แต่การเยียวยาชุมชน ช่วยเหลือชุมชนให้อยู่อย่างยั่งยืน มันก็จะทำให้การลงทุนในพื้นที่มันยืนยาวมากขึ้น