คนเปลี่ยน-โลกป่วน เกมธุรกิจยุคเอไอ-บิ๊กดาต้า

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการพูดถึงกระแสความร้อนแรงของ “สตาร์ตอัพ” ที่นำนวัตกรรมมาสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ มาดิสรัปต์ธุรกิจดั้งเดิมในหลากหลายวงการ

แต่วันนี้กระแสความหวั่นเกรงต่อสตาร์ตอัพบรรเทาลง เพราะกลุ่มธุรกิจใหญ่ดั้งเดิมมีความได้เปรียบจากการครอบครอง “ข้อมูลลูกค้า” จำนวนมหาศาล และมีการปรับตัวนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบ “บิ๊กดาต้า” นั่นเอง

ผลการศึกษาล่าสุดของ IBM Institute for Business Value ที่สำรวจความคิดเห็นและสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารระดับสูงกว่า 12,500 คน จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ระบุว่า 72 % ของผู้บริหารมองว่า “ธุรกิจดั้งเดิม” ยังเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม มากกว่า “สตาร์ตอัพ” หรือ “ผู้เล่นหน้าใหม่” เพราะหลายบริษัทได้ก้าวผ่านระยะแรกของการถูกสั่นคลอน โดยผู้มาใหม่หรือสตาร์ตอัพที่เก่ง ๆ แล้ว

แนวทางที่เกิดขึ้นก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่มีการตื่นตัวและปรับตัวนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้อย่างจริงจัง เมื่อผนึกกับการใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูลลูกค้า” และการใช้วิธี “ร่วมมือ” หรือ “ซื้อธุรกิจสตาร์ตอัพ” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

เช่น กรณีค่ายรถหรู “BMW” ใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องยานยนต์ต่อกรกับ “อูเบอร์” ด้วยการให้บริการรถยนต์ที่ปรับแต่งเพื่อรองรับตามรูปแบบที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร บริการเช่ารถระยะสั้น หรือบริการเช่ารถรายชั่วโมง เป็นต้น

หรือ Wallmart ยักษ์ค้าปลีกอเมริกาที่เจอกระแสดิสรัปต์จากบรรดาอีคอมเมิร์ซ ก็ใช้วิธีโดดเข้าซื้อแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ “Jet.com” เพื่อขยายฐานลูกค้าอีคอมเมิร์ซและขยายการเข้าถึงลูกค้า และล่าสุดวอลมาร์ทยังทุ่ม 5.1 แสนล้านบาท เข้าถือหุ้น 77% ใน “Flipkart” อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของอินเดีย

แม้แต่ในอุตสาหกรรมที่ถูกท้าทายจากกระแสดิจิทัลดิสรัปต์อย่างหนักอย่างอุตสาหกรรมการเงิน ที่บรรดาสตาร์ตอัพฟินเทคและบริษัทยักษ์เทคโนโลยีรุกคืบเข้ามาแย่งตลาด แต่ธุรกิจดั้งเดิมอย่างธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายก็เร่งสปีดปรับตัวและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้เช่นกัน

ASEAN 100 หนังสือฉบับพิเศษประจำปี 2018 ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จึงเป็นการถอดรหัสโมเดลการปรับตัวของ 10 บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ภายใต้หัวข้อ “คนเปลี่ยน-โลกป่วน : เกมธุรกิจยุคเอไอ-บิ๊กดาต้า” เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค หรือเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป 

ประกอบด้วย 1.บริษัท บีทีเอส โฮลดิ้ง กรุ๊ป (BTS) เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า BTS ที่อาศัยจุดแข็งจากการเป็นเจ้าของโครงข่ายรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ ที่มีผู้ใช้บริการวันละหลายแสนคน เป็นเสมือนแบ็กโบนในการเชื่อมต่อถึงผู้บริโภค แปลงร่างกลายเป็นผู้สร้าง “บิ๊กดาต้า” ของผู้บริโภคชาวกรุงอย่างน่าสนใจ

2.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่คนไทยไม่มีใครไม่รู้จัก นอกจากปูพรมขยายแนวรบครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 10,000 สาขา ที่เป็นจุดแข็งสามารถจะต่อยอดสู่การนำเสนอบริการใหม่ ๆ แทรกซึมเข้าไปในทุกไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคแบบไม่หยุดยั้ง

หนึ่งในความเคลื่อนไหวของเซเว่นฯในยุคที่ธนาคารปรับลดสาขาเพื่อลดต้นทุน ก็คือการเข้ามาทำหน้าที่เป็น “แบงกิ้งเอเย่นต์” สามารถเปิดให้บริการได้ 24 ชั่วโมง รวมถึงล่าสุดได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนคืน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และแผนต่อไปก็คือ การเตรียมรุกเข้าสู่ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพให้กับชุมชน

3.บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยกับการโต้คลื่นกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการก้าวสู่โลกยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ ที่อาจทำลายระบบซัพพลายเชนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเดิม ๆ และเปิดโอกาสให้กับผู่เล่นหน้าใหม่ โดยเฉพาะบริษัทไอทีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเข้ามาเป็น “ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์” รายสำคัญในอนาคต

4.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ประกอบการปิโตรเคมีครบวงจรรายใหญ่ของโลก ต้นกำเนิดผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ เผชิญความท้าทายจากที่ทั้งโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติก ทำให้ “พลาสติก” กลายเป็น “ผู้ร้าย” หรือตัวการใหญ่ของผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ให้กำเนิดพลาสติก จะปรับโมเดลธุรกิจเพื่อรับกับเทรนด์โลกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างไร

5.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยักษ์สื่อสารที่ยึดมั่นในยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ด้วยความได้เปรียบจากที่มีโครงข่ายทั้งแบบมีสาย-ไร้สาย และในฐานะผู้ให้บริการสื่อสารและดิจิทัลแบบครบวงจร แต่เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา และก่อให้เกิดรูปแบบบริการและคู่แข่งใหม่ ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน กลุ่มทรูจะเปลี่ยนเกมธุรกิจอย่างไรกับเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำ “ธุรกิจคอนเทนต์และมีเดีย”

6.บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) ที่ทุกคนรู้จักในฐานะร้านสุกี้ “เอ็มเค” ที่วันนี้ได้ก้าวข้ามธุรกิจอาหาร สู่ธุรกิจโลจิสติกส์ โดยการร่วมทุนกับ “เซนโค กรุ๊ป” ยักษ์โลจิสติกส์จากญี่ปุ่น

7.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เพราะการแข่งขันอย่างรุนแรงของธุรกิจสายการบิน ทำให้การสร้างการเติบโตของกำไรจากธุรกิจสายการบินไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเส้นทางธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์สคือการต่อยอดสู่ “Non-Aero” สร้างบริการต่าง ๆ สำหรับสายการบินทั่วโลก ในแบบที่เปลี่ยน “คู่แข่ง” เป็น “ลูกค้า”

8.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB สถาบันการเงินเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่ออกมาประกาศปรับโมเดลธุรกิจแบบ “กลับหัวตีลังกา” เพื่อที่จะสามารถวิ่งไล่ให้ทันกับความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแบบ “คนเปลี่ยน-โลกป่วน”

9.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY เป็นอีกหนึ่งธนาคารพาณิชย์ที่เร่งสปีดปรับตัวอย่างมากกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น ทั้งการ “สร้างโลกใหม่และซ่อมโลกเก่า” และการสร้างโลกใหม่ของ BAY คือการทำให้แพลตฟอร์มของธนาคารเป็น Open Banking เพื่อให้พันธมิตรต่าง ๆ เข้ามาปลั๊กอิน พร้อมกับโมเดลการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย “บิ๊กดาต้า”

10.บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD ยักษ์อสังหาริมทรัพย์ที่มาแรงแห่งยุค ด้วยโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง กับการสร้างพอร์ตรายได้จาก “ค่าเช่า” ทั้งจากออฟฟิศบิลดิ้ง เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และโครงการมิกซ์ยูส “สามย่านมิตรทาวน์” ที่จับมือ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” พันธมิตรต่างชาติเพื่อรีโมเดลธุรกิจออฟฟิศบิลดิ้ง

นี่คือ…เกมธุรกิจยุค “เอไอ-บิ๊กดาต้า” 

เพราะการเข้าถึง เข้าใจความต้องการแท้จริงของผู้บริโภค คือ ผู้ที่มีโอกาสชนะในเกมนี้