กวิน กาญจนพาสน์ ผลิใบธุรกิจ BTS แสนล้าน จาก “รถไฟลอยฟ้า” สู่ผู้สร้าง “บิ๊กดาต้า”

กวิน กาญจนพาสน์" ซีอีโอ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)

สืบสายเลือดนักสู้จาก “คีรี กาญจนพาสน์” มาอย่างเต็มเปี่ยม สำหรับ “เควิน-กวิน กาญจนพาสน์” ซีอีโอ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) วัย 43 ปี ที่ก้าวขึ้นมากุมบังเหียน บีทีเอส กรุ๊ป คุมพอร์ตแสนล้าน

“ไม่มี BTS ก็ไม่มี VGI และไม่มี VGI ก็ไม่มี Rabbit Card ทุกอย่างเริ่มมาจาก BTS ทั้งสิ้น ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน ถ้าคุณคีรีไม่ได้ปั้น BTS ให้ยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ ผมยืนยันได้เลยว่า VGI และอื่น ๆ ก็ไม่เกิด”

กวินเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจใต้ปีกบีทีเอสที่ปัจจุบันสยายปีก 4 ธุรกิจหลัก รถไฟฟ้า โฆษณา อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ

โดยเฉพาะ บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย ซึ่ง “กวิน” บุกเบิกมาเองกับมือเพื่อต่อยอดจากธุรกิจรถไฟฟ้าด้วยเงินทุน 5 ล้านบาท จนถึงในวันนี้ VGI มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท

“ตอนนี้เราเติบโตจนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว เพราะคุณคีรีพัฒนา BTS จนเป็น backbone ของระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้รายได้หลักของ VGI ยังมาจากโฆษณา แต่อีก 3 ปีข้างหน้ารายได้โฆษณาจะลดลง เพราะสื่อโฆษณากระจายไปในหลายรูปแบบ ทั้งการแข่งขันก็ทวีความรุนแรงขึ้น เราจึงเปลี่ยนโพซิชั่นธุรกิจของ VGI เป็นบริษัท Marketing Solutionไม่ได้โฟกัสแค่โฆษณาอีกต่อไป

“วันนี้เราต้องหาอย่างอื่นมารักษายอดขายเดิมและสร้างฐานรายได้ใหม่ โดยจับมือกับพันธมิตรหลากหลายธุรกิจ ทั้งเครือสหพัฒน์ ยักษ์ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศ, ยักษ์ผู้ให้บริการมือถืออย่าง AIS และ KERRY Express เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น”

 

กวิน อธิบายว่า โมเดลความร่วมมือของบีทีเอสมีหลายรูปแบบ แต่ปรัชญาการทำธุรกิจของบีทีเอสจะไม่เข้าไปซื้อกิจการทั้งหมด เพราะการเข้าไปซื้อมีความเสี่ยง ต้องไปศึกษาความลับของเขาด้วย ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจไม่ทันการณ์ จึงเน้นการเข้าไปเป็นพันธมิตร แต่ถ้าต้องเข้าถือหุ้นก็จำกัดแค่ 25-30% มากสุดไม่เกิน 50%

“เพราะถือคติว่า อะไรที่เราและเขาอยากให้ช่วยกันทำ และเดินไปด้วยกัน” 

“กรณีการจับมือกับเครือสหพัฒน์ นับเป็นครั้งแรกที่ได้คุยกับคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ประทับใจมาก คุณบุณยสิทธิ์แม้จะอายุ 81 ปีแล้ว แต่ยังมีไฟในการทำงาน ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ และมีมุมมองที่ทันสมัย ซึ่งเราตกลงเซ็น MOU ความร่วมมือเรื่องการทำ Big Data เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจให้กับสหพัฒน์”

โจทย์ความร่วมมือ 8 ข้อคือ 1.ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 2.Targeting Media 3.Mobile Commerce 4.โปรแกรมแลกรางวัลผ่านบัตรสมาชิก 5.พันธมิตรร่วมด้าน Big Data 6.Staff Card 7.ขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า และ 8.การแจกสินค้าตัวอย่างบนรถไฟฟ้า

“ที่เห็นเป็นรูปธรรมไปแล้วก็ช่วงงานสหกรุ๊ปแฟร์ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งขบวนโฆษณาสินค้าของเครือสหพัฒน์ เพราะสหกรุ๊ปแฟร์ย้ายมาจัดที่ไบเทค บางนา ซึ่งรถไฟฟ้า BTS พาดผ่าน ส่วนสหพัฒน์ก็เริ่มทดลองให้ใช้ระบบชำระสินค้าผ่านบัตร Rabbit ภายในงาน”

และในเฟสต่อไปกำลังวางแผนจะให้ตู้ขายเครื่องดื่มของสหพัฒน์กว่า 10,000 ตู้ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศสามารถชำระผ่านบัตร Rabbit ได้ ทั้งที่จะเข้าไปช่วยทำโฆษณาในมินิมาร์ตลอว์สัน 108และมองไปถึงอนาคตที่จะนำ “ลอว์สัน 108” ไปตั้งไว้บนสถานีรถไฟฟ้า BTS รวมถึงแผนการร่วมกันพัฒนาคอมมิวนิตี้มอลล์หรือโรงแรมในแนวรถไฟฟ้า

เรียกว่าเป็นการจับมือกับพันธมิตรต่างสายพันธุ์เพื่อแตกหน่อต่อยอดของทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันเป็นการพลิกโฉมธุรกิจกลุ่มสหพัฒน์ เพื่อก้าวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล

และเพื่อให้ครบเครื่องมากขึ้น VGI ได้เข้าไปถือหุ้น 23% ในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ซึ่ง “ทายาทบีทีเอส” ขยายความว่า เป็นพันธมิตรกันตั้งแต่ปี 2557 แล้ว โดยช่วงแรกเป็นการร่วมกันพัฒนาบัตรแรบบิท

“เราใช้เวลา 3 สัปดาห์เท่านั้น ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น Kerry จำนวน 23% ด้วยมูลค่า 5,900 ล้านบาทเป้าหมายสำคัญก็เพื่อต่อยอดธุรกิจด้านโลจิสติกส์”

ซีอีโอบีทีเอส กรุ๊ปเล่าต่อว่า จากดีลนี้ทำให้บริษัทเพิ่มกำลังการส่งสินค้าจากเดิมวันละ 1 แสนชิ้น เป็น 8 แสนชิ้น และเป็นบริษัททำรายได้ดีที่สุดในธุรกิจที่ไปซื้อมา มีมูลค่าในตลาด 24,000 ล้านบาท ทั้งกำลังหาพื้นที่ให้ Kerry ไปตั้งจุดบริการบนสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการลูกค้ามากขึ้น

เป็นอีกโมเดลธุรกิจของบีทีเอส โดยการเชื่อมต่อระบบโลจิสติสก์ขนส่งสินค้ากับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เป็น Mass transit ขนส่งคน จุดสำคัญคือทราฟฟิกของคนเดินทางวันละกว่า 8 แสนเที่ยวคน ที่จะสามารถสร้าง “โอกาส” ทางธุรกิจอีกมาก

นอกจากนี้ ซีอีโอบีทีเอสยังเล่าถึงการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่าง AIS ว่าบริษัทก็ได้ Data จาก AIS มาสำรวจความต้องการของลูกค้า แต่ยังไม่ถึงขั้นจะเอาข้อมูลไปขายของได้ รวมทั้งชวนมาร่วมแพลตฟอร์มอีมันนี่ Rabbit LINE Pay ที่ดึง LINE เข้ามาร่วมด้วย ถือหุ้นฝ่ายละ 33%

“ตอนนี้มีแอ็กทีฟยูสเซอร์ล้านกว่าคนแล้ว สมัยก่อนแยกกัน เราคือ Rabbit เขามี LINE Pay คนละกระเป๋า ก็มารวมเป็นกระเป๋าเดียวกัน เติมเงินผ่านมือถือได้ ไม่ต้องต่อคิว”

นอกจากการร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มอีมันนี่ เข้าสู่ธุรกิจการเงินในสังคมไร้เงินสด สิ่งที่ได้จากดีลนี้ก็คือโอกาสธุรกิจบนฐานลูกค้าของ 3 พันธมิตร จากบัตรแรบบิทที่มีผู้ใช้งานราว 3 ล้านราย ขณะที่ฐานลูกค้า AIS กว่า 40 ล้านเลขหมาย และบัญชีผู้ใช้ Line ในไทยอีกราว 42 ล้านราย

และนี่อาจเป็นโอกาสของการพัฒนาบิ๊กดาต้าที่น่าสนใจ

กวิน ยอมรับว่า ตอนนี้ก็มีความสนใจในทุกธุรกิจ รวมถึงธุรกิจไฟแนนซ์ ที่ผ่านมาก็ได้เข้าร่วมทุนกับกลุ่มอิออน ทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อย อนาคตก็อาจมีโปรดักต์ใหม่ ๆ เพิ่มเติม เช่น ไมโครไฟแนนซ์ เพราะใช้เงินไม่มาก

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เข้าไปถือหุ้นและจับมือกับหลากหลายธุรกิจแล้ว กวินอธิบายว่า “ระยะอันใกล้นี้คงจะยังไม่มีบิ๊กดีลอะไร เพราะสเต็ปต่อไปจะใช้เงินกับการพัฒนาคน เพื่อให้ทุกอย่างที่เรากินเข้าไปได้ย่อยและทำรายได้จากสิ่งที่เราซื้อมาให้มากที่สุด”

เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาใช้เงินไปเกือบ 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่ซื้อบริษัท VGI ทำบัตรแรบบิท ตอนนี้คือกลับมาพัฒนาทุกสิ่งที่ลงทุนไป

และนอกจากการปูพรมเปิดแนวรบธุรกิจในประเทศแล้ว ตลาดต่างประเทศก็เป็นสมรภูมิที่บีทีเอสสนใจไม่แพ้กัน นอกจาก บมจ.ยูซิติ้ ธุรกิจอสังหาฯที่บีทีเอสถือหุ้น 38% ได้ไปซื้อโรงแรมในยุโรปภายใต้แบรนด์ “เวียนนาเฮ้าส์” ในส่วน VGI ก็เดินหน้าร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้าน รวมถึงโฆษณาในระบบขนส่งมวลชน

กวิน เล่าถึงโมเดลการขยายธุรกิจต่างประเทศของบีทีเอสจะไปเป็นกลุ่ม เพราะไม่อยากให้เสียโอกาส ไปไหนจะบอกว่าเราคือ Mass Transit Solution Company ซึ่งในอินโดนีเซีย บริษัทก็ได้สัมปทานทำโฆษณาในรถไฟฟ้า MRT สายแรกของประเทศเป็นเวลา 20 ปี

ข้อได้เปรียบในการบุกอาเซียนของ VGI คือไม่มีกลุ่มบริษัทไหนที่มีธุรกิจรถไฟฟ้าซัพพอร์ตแบบบีทีเอส เพราะประเทศรอบบ้านเรา ส่วนใหญ่รถไฟฟ้าจะเป็นของรัฐบาล พร้อมกับย้ำว่า “โชคดีที่คุณคีรีสร้างรถไฟฟ้าไว้ให้ ถ้าไม่มีรถไฟฟ้าก็ไม่มี VGI และคงจะเริ่มต้นไม่ได้”

เพราะโครงข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่ใช่แค่ระบบขนส่งมวลชน แต่นั่นหมายถึงเส้นทางของ “ผู้บริโภค” กลุ่มคนทำงานในเมืองจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน ที่สามารถต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

และโครงข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอสยังอยู่ระหว่างก่อสร้างต่อขยายอีกหลายเส้นทาง ทั้งสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี, สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง, สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-คูคต รวมระยะทางอีกกว่า 95.7 กิโลเมตร 78 สถานี ที่หมายถึงเส้นทางธุรกิจต่าง ๆ ที่เตรียมผลิใบต่อยอดจากบีทีเอส ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

และปลายปีนี้ก็ยังรอลุ้นกับการเข้าร่วมประมูลโปรเจ็กต์ยักษ์ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ที่อาจทำให้พลิกโฉมหน้าธุรกิจ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ครั้งใหญ่