ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เกมธุรกิจยานยนต์แห่งอนาคต “ต้องเดินให้เร็วกว่าลูกค้า”

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด

เมื่อวันที่เราก้าวเข้ามาสู่ยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รุกเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่ใช่แค่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น แต่ปัจจุบันโลกกำลังพูดถึงบทบาทและศักยภาพของเอไอที่กำลังรุกคืบเข้ามาแย่งชิงงานของมนุษย์

และการหลั่งไหลของความเปลี่ยนแปลงนั้น…ก้าวตามติดเราไปทุกที่

“โลกเปลี่ยน คนไม่เปลี่ยน” นั้นคงอยู่ยาก

อยู่ที่การตั้งรับและการปรับตัว โดยเฉพาะในโลกการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่างต้องเตรียมตัวเพื่อตั้งรับ “กระแสความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม…ของกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล” 

สำหรับประเทศไทยที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของภูมิภาค เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกยานยนต์กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยที่อยู่ในซัพพลายเชนของผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลก

“ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยยอมรับว่า

“ไทยซัมมิท” อยู่ในคลื่นของความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยซัมมิทฯ จึงได้ลงทุนในส่วนของระบบ “ออโตเมชั่น” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงจากพัฒนาการของเทคโนโลยี ภายใต้การกำหนด “แผนงาน” ที่ชัดเจน

ซึ่งไม่เฉพาะแต่ไทยซัมมิทเท่านั้น “ชนาพรรณ” ยังหมายรวมถึง บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายอื่น ๆ ที่จะต้อง “เดินให้เร็วกว่าลูกค้า สักครึ่งถึงหนึ่งโมเดล”

ยิ่งโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน จากโลกของเครื่องยนต์สันดาปภายใน เดินไปสู่โลกของยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือยานยนต์ไร้คนขับ

“ชนาพรรณ” เชื่อว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นชัดมากขึ้น คือจากนี้ไปอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนจะมีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เกิดขึ้น หรือจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างค่ายผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมกับบริษัทเกิดใหม่มากขึ้นอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง “หัวใจสำคัญ” ของรถยนต์ในสมัยก่อน คือ “เครื่องยนต์” ที่ค่ายรถยนต์จะต้องเป็นผู้กุมหัวใจสำคัญนี้ไว้ ทำให้สามารถพัฒนาสิ่งใหม่ รถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

แต่ต่อนี้ไปหากรถไม่จำเป็นต้องมี “เครื่องยนต์” แล้ว และหากมองไปถึง “ยานยนต์ไร้คนขับ” หัวใจสำคัญจะอยู่ที่ “แบตเตอรี่” “มอเตอร์ไฟฟ้า” และ “ระบบควบคุมสั่งการอัตโนมัติ”

ค่ายรถยนต์เดิม ๆ อาจไม่มีเทคโนโลยีหรือไม่สามารถพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นก็ทำให้เห็นภาพของความร่วมมือกันมากขึ้น

จึงไม่แปลกหากจะได้เห็นภาพบริษัทไอที-คอมพิวเตอร์ กลายมาเป็น “ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์” รายสำคัญ

รองประธานกรรมการ ไทยซัมมิทฯ มองว่า อนาคตการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไม่จำเป็นจะต้องมีความเชี่ยวชาญแบบเดิม ๆ เพราะยิ่งโลกมีการใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้นเท่าใด ก็จะมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเท่านั้น

“ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางส่วนอาจต้องล้มหายตายจากไป แต่บางส่วนก็อาจจะเกิดขึ้นมาใหม่ได้”

เพราะจากรถยนต์ระบบสันดาปแบบเดิมที่รถแต่ละคันต้องมีชิ้นส่วนนับหมื่นชิ้น แต่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เมื่อไม่มีเครื่องยนต์ซึ่งมีส่วนประกอบของชิ้นส่วนจำนวนมากหายไป ก็จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

“ชนาพรรณ” ย้ำว่า ในยุคของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอคืบคลานเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในระหว่างรอยต่อของความเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายเดิมจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเร่งพัฒนาตัวเอง

โดยเฉพาะ “กลุ่มชิ้นส่วน” ที่อาจจะต้องสูญหายไปหรือไม่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่ชิ้นส่วนที่ยังอยู่ในรถแห่งอนาคตนี้ก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนา “กระบวนการผลิต” “เทคโนโลยี” รวมถึง “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไทยซัมมิทฯ ทำอยู่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง

“ชนาพรรณ” ยืนยันว่า บิ๊กเชนจ์ในอนาคต…ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไทยซัมมิทจะต้องล้อไปตามลูกค้า หากรถยนต์รุ่นใหม่ที่กำลังมาไม่ใช่รถไฮบริด แต่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เราในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนก็ต้องพร้อมตั้งรับ และก้าวไปข้างหน้าก่อนลูกค้าเพื่อที่พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้ทัน

แม้ว่าจะเป็นระยะทางที่จะมาถึงใน 10-20 ปี มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม การก้าวไปข้างหน้าของไทยซัมมิทฯไม่ได้เดินไปตามลำพัง แต่เน้นความร่วมมือพันธมิตรในหลายส่วน ทั้งโลคอลพาร์ตเนอร์ ของการเป็นฐานผลิต, ฐานของลูกค้า รวมทั้งด้านเทคโนโลยีและก้าวต่อ ๆ ไป “ไทยซัมมิท” ยังต้องเปิดรับพาร์ตเนอร์เพิ่มขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ความร่วมมือต่างค่าย ต่างสายพันธุ์กันเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยซัมมิทฯ เชื่อว่า หากการแข่งขันยังอยู่ใน “สมรภูมิ” ของประเทศไทย ในแง่ของบริษัทไทยแท้ ถือว่าเราเป็นผู้ได้เปรียบ จากเดิมการเป็นไทยแท้อาจจะมีความหวั่นเกรงบ้าง แต่วันนี้ไม่ใช่…

“ชนาพรรณ” ระบุว่า ที่สำคัญ “ไทยซัมมิท” ไม่ได้มีคู่แข่งที่เป็นคนไทยด้วยกันเองมานานแล้ว และมีความคุ้นชินที่จะอยู่กับความเป็นระดับ “โกลบอล” มากขึ้น

โกอินเตอร์ของไทยซัมมิทฯเป็นการไปตั้งฐานผลิตในต่างประเทศ นั่นก็เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า (ค่ายรถยนต์) ที่ขยายการลงทุนไปตั้งฐานผลิตในต่างประเทศ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอย่างไทยซัมมิทก็ต้องพร้อมไปซัพพอร์ตในทุกฐานการผลิต นี่คือการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพราะลูกค้าของเราคือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์

ดังนั้นหากจะพูดว่าเมื่อไทยซัมมิทฯผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเป็นผู้ผลิตชิ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต่อไปไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมใด ๆ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน และความมั่นใจ จากนี้ไปก็ขึ้นอยู่กับช่องทางในการหาตลาดเท่านั้น

สุดท้ายก่อนกระแสคลื่นความเปลี่ยนแปลงซัดเข้ามา ผู้ประกอบการจะเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน

ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะปรับตัวไปในชิ้นส่วนที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ หรือจะมองหาลู่ทางปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม กระแสความเปลี่ยนแปลงไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ยานยนต์แห่งอนาคตนั้น …วันนี้ถือว่ายัง (พอ) มีเวลาเตรียมตัว

เพราะกว่าตลาดจะจุดติดต้องใช้เวลา แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อกระแสดังกล่าวจุดติดแล้ว จะไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ต พอมาแล้วสปีดการเปลี่ยนแปลงจะเร็วมาก

“ระยะเวลา 10 ปี คนอาจจะบอกว่านาน แต่10 ปีสำหรับการเตรียมการของอุตสาหกรรมใหม่ ถือว่าไม่นาน ไทยซัมมิทฯได้เลือกแล้วว่าจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และที่สำคัญสิ่งที่ไทยซัมมิทผลิตนั้น คือ สิ่งที่เราชำนาญอยู่แล้ว”

ด้วยวันนี้โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็วชนิดเกมเปลี่ยน “ชนาพรรณ” มองว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่จับตาดูธุรกิจของตัวเอง แต่ต้องดูธุรกิจข้าง ๆ ที่มีผลกระทบกับเราด้วย เช่น กรณีเทรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังมา ไทยซัมมิทหรือคนในวงการส่วนใหญ่อาจไม่ได้ตกใจ เพราะเตรียมการอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น

ตรงนี้ต้องมองให้รอบด้าน เช่นเดียวกับการมาของอินเทอร์เน็ตที่มีหลาย ๆ ธุรกิจต้องล้มหายตายจากไป และหากรถยนต์ไฟฟ้ามา มีการพูดถึงรถยนต์ไร้คนขับ ธุรกิจโลจิสติกส์จะทำอย่างไร เมสเซนเจอร์จะมีอยู่อีกต่อไปมั้ย เหล่านี้ต่างหาก

เพราะการมาของรถยนต์ไฟฟ้ามีผลต่อไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ทุกอย่างก็เปลี่ยน นี่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องสนใจ เพราะถ้ามาเมื่อไหร่ การเปลี่ยนแปลงจะเร็วมาก