สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ถอดรหัส GC ปรับโมเดลธุรกิจ เมื่อ “พลาสติก” กลายเป็น “ผู้ร้าย”

เทรนด์รักษ์โลกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง ๆ ไม่ใช่แค่กระแส แต่คือทิศทางของโลกธุรกิจในอนาคต ทำให้ปัจจุบันธุรกิจยักษ์ใหญ่ต้องปรับตัวอย่างจริงจัง เช่นกรณีการเลิกใช้ “พลาสติก” ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ขวดพลาสติก แก้วพลาสติก จนถึงหลอดพลาสติก ทำให้บริษัทอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลกต่างออกมาขานรับ พร้อมประกาศแผนที่จะเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในการบริการลูกค้า

เมื่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลายเป็น “ผู้ร้าย” ที่ทั่วโลกกำลังหลีกหนี ย่อมทำให้ผู้ประกอบการปิโตรเคมีที่เป็นต้นกำเนิดของพลาสติกต่าง ๆ ต้องติดร่างแหไปด้วย

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกครบวงจร 1 ใน 20 รายใหญ่ของโลก กล่าวว่า “สิ่งที่เราเชื่อมาโดยตลอดคือ พลาสติก ไม่ได้เป็นผู้ร้าย ถ้ามนุษย์ไม่ทิ้งทำให้เขาเป็นขยะ” 

จากมุมมองดังกล่าวทำให้ GC ต้องการทำให้โลกเห็นว่า “พลาสติก” เป็นได้มากกว่าที่เห็นและไม่ควรที่จะถูกทิ้งเป็นขยะ ให้กลับมาทำร้ายและทำลายโลก

รวมถึงการช่วยสร้างโลกสวยด้วยนวัตกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้วันนี้ GC กลายเป็นผู้ผลิต “ไบโอพลาสติก” หรือพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ รายใหญ่ของโลก

GC ให้ความสำคัญกับแนวคิด “ปิโตรเคมีรักษ์โลก” ไม่ใช่แค่การทำแคมเปญหรือกิจกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น แต่เป็นการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมยั่งยืนได้ จึงมีการลงทุนโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก เพื่อชุบชีวิตและแปลงร่างขยะพลาสติกให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อีกครั้ง

สุพัฒนพงษ์อธิบายว่า เป็นกระบวนการทำงานแบบครบวงจร ตั้งแต่เก็บขยะพลาสติกจากทะเลระยอง มาเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และผลิตเป็นสินค้ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 

“เราเริ่มโปรเจ็กต์นี้เมื่อ 3 ปีก่อน ที่มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกในทะเล เรามองว่าหากปล่อยทิ้งไว้วันหนึ่งปัญหาจะกลับมาที่เรา ว่าเป็นคนสร้างปัญหาให้กับชุมชน GC จึงได้เริ่มทำโครงการ “UPCYCLING THE OCEANS” โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนเห็นว่า แม้แต่ขยะที่ถูกทิ้งไปแล้ว ยังสามารถนำกลับมาทำเป็นสินค้าที่มีมูลค่าได้ จากขวดพลาสติกกลายเป็นเสื้อ กระเป๋า”

และปีนี้บริษัทได้ดึงดีไซเนอร์ไทยมาร่วมทำคอลเล็กชั่น คิดว่าจะใช้ชื่อ Bangkok Collectionหรือ Rayong Collection โดยได้กลุ่มสยามพิวรรธน์ Flynow มาช่วยในการออกแบบ-ผลิต ซึ่งจะมาวางจำหน่ายเป็นการทั่วไปเพื่อให้เห็นว่าสามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้

ซีอีโอ GC เล่าว่า สเต็ปต่อไปคือบริษัทจะลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก เพื่อทำเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์ เตรียมเปิดแผนทั้งหมดในเดือน พ.ย.นี้

“ขนาดของโรงงานรีไซเคิลจะต้องเป็นหลัก 10,000 ตัน เพื่อให้มีอิมแพ็กต์ เพราะปริมาณขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล ลงแม่น้ำลำคลองปีละกว่า 500,000 ตัน สำหรับมูลค่าการลงทุนอยู่ในระดับหลักพันล้านบาท ซึ่งไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับขนาดธุรกิจของ GC หลายแสนล้านบาท”

เป้าหมายการลงทุนครั้งนี้ บิ๊กบอส GC ขยายความว่า บริษัทไม่ได้ทำเพราะต้องการกำไร แต่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทย โดยเฉพาะต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม ดังนั้นบิสสิเนสโมเดลต้องทำให้เกิดอีโคซิสเต็มส์เรื่องการรีไซเคิล หาวิธีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ส่งขวดพลาสติกคืนกลับเข้าโรงงานรีไซเคิลโดยที่ “ไม่ต้องให้เขาถูกทิ้งเป็นขยะ” ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำกลับมาใช้ใหม่ถูกลง

“สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทิ้งให้เป็นขยะ ดังนั้นจึงต้องหาโมเดลให้เริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน ให้ประชาชนส่งขวดพลาสติกกลับเข้าโรงงานเพื่อรีไซเคิล ออกมาเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ และนำไปใช้ผลิตเป็นแพ็กเกจจิ้ง เส้นใยต่าง ๆ ต่อไป ช่วงแรกอาจต้องทำแคมเปญชิงโชค หรือคะแนนสะสมแลกซื้อสินค้า เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในกลไกนี้มากที่สุด จะได้ลดกระบวนการทำงานและลดขยะ”

สุพัฒนพงษ์ฉายภาพว่า เป้าหมายของเราคือต้องการเปลี่ยนจากที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศอันดับ 6 ของโลก ที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด ให้เป็นผู้นำด้านการดูแลจัดการขยะพลาสติก โดยที่คนไทยมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่ 1-2 บริษัทใหญ่ และไม่ใช่ผักชีโรยหน้า ทำให้เป็นธุรกิจยั่งยืน สร้างงานสร้างระบบเศรษฐกิจได้ ใครต้องการสร้างธุรกิจก็เข้ามาร่วม

โดยหลังจากเริ่มต้นมา 3 ปี ตอนนี้ก็มีผู้ผลิตสินค้ารุ่นใหม่ ๆ หลายรายที่สนใจติดต่อขอนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลไปผลิตสินค้าแฟชั่น อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เพราะเทรนด์รักษ์โลกทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจกับสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น เช่น ถ้ารู้ว่าเสื้อตัวนี้นอกจากออกแบบสวย ยังสามารถช่วยลดขยะขวดพลาสติกได้ 6 ใบ ก็มีผู้บริโภคที่ยอมจ่ายราคาพรีเมี่ยม

“นี่คือการเปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส แล้วก็เป็นโอกาสที่ทุกคนมีส่วนร่วม”

ขณะเดียวกันจากกระแสที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั่วโลกประกาศนโยบายเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นถุงก๊อบแก๊บ หลอด แก้วพลาสติก ในส่วนของ GC ในฐานะต้นน้ำก็มีนโยบายจะเลิกผลิตเม็ดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single use) ภายใน 3-4 ปีข้างหน้าเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตเม็ดพลาสติกกลุ่มนี้ประมาณ 100,000 ตันต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตรวมเม็ดพลาสติกทุกประเภทของบริษัทอยู่ทีราว 3 ล้านตัน

“การที่บริษัทเลิกผลิตพลาสติกประเภทนี้ไม่ได้ทำให้สัดส่วนธุรกิจเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนไปในแง่ของสังคม” บิ๊กบอส GC กล่าวและฉายภาพถึงทิศทางธุรกิจของบริษัทว่า จะมุ่งเน้นการลงทุนต่อยอดเพื่อตอบโจทย์การเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจร โดยเน้นการลงทุนพลาสติกเกรดพิเศษเป็นหลัก สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่น ๆ รวมถึงการเป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไบโอพลาสติก

“GC เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ 4 บริษัท ทำให้ก่อนหน้านี้จึงวุ่นกับการควบรวม และในยุคที่ตนเข้ามาจึงเป็นการต่อยอด จากที่เป็นแค่ผู้ผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น ส่งขายให้ผู้ผลิตขั้นปลายซึ่งได้ผลตอบแทนดีกว่าเรา แต่พอเกิดปัญหาขยะพลาสติก ผู้ผลิตขั้นต้นอย่างเราที่เดือดร้อน บริษัทจึงเปลี่ยนโมเดลเข้ามาเป็นผู้ผลิตขั้นกลางขั้นปลายด้วย ก็ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มผลกำไรในทางธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย”

นโยบายคือทำให้ธุรกิจของ GC ครบวงจรมากขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อะไรที่ครบอยู่แล้วก็ทำให้มีมูลค่ามากขึ้น มูลค่าสูงขึ้น สินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงก็หาพันธมิตรต่างประเทศมาร่วม

ขณะเดียวกันก็เป็นโมเดลธุรกิจที่ขยับเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ผลิตวัตถุดิบขั้นต้น ขายส่งเม็ดพลาสติกให้ผู้ผลิตขั้นกลาง แต่ตอนนี้เราเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ขายวัตถุดิบตรงกับผู้ผลิตสินค้า ทำให้มีความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการลูกค้าที่เปลี่ยนไปมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม “สุพัฒนพงศ์” มองว่า สิ่งสำคัญของโลกธุรกิจในอนาคตต้องเน้นเรื่องความยั่งยืน และโจทย์เรื่องความยั่งยืนก็คือ ต้องเริ่มคิดถึงคนอื่น เพราะถ้าดูเฉพาะตัวเองก็จะคิดแต่เรื่องความมั่งคั่ง กำไร และลูกค้าเท่านั้น แต่จะให้เกิดความยั่งยืนต้องดูแลทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญตลอด 6 ปีที่ผ่านมา 

“เพราะเราตระหนักดีถึงหลายบทเรียนในอดีต ที่ทำให้สังคมเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการแย่งน้ำกับชุมชนเมื่อ 10 ปีก่อน หรือเหตุสุดวิสัยเรื่องน้ำมันรั่ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ถ้าเราพัฒนาแล้วดีอยู่คนเดียว หรือเจริญอยู่คนเดียว เราไปต่อไม่ได้ต้องมองแบบไปด้วยกันทั้งหมด”