น้ำฝนทั่วโลกปนเปื้อน “สารเคมีชั่วนิรันดร์” เกินระดับปลอดภัยแล้ว

ผลการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์สวีเดนชี้ว่า ขณะนี้ไม่มีสถานที่แห่งใดบนโลกปลอดสาร PFAS หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “สารเคมีชั่วนิรันดร์” (forever chemicals) อีกแล้ว โดยพบการปนเปื้อนในน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วโลก ซึ่งสูงเกินระดับปลอดภัยตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดไว้มาก

แม้งานวิจัยที่ผ่านมายังไม่อาจสรุปได้ว่า สาร PFAS ที่เป็นสารเคลือบเครื่องครัวเทฟลอน และใช้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่นสี กาว กระดาษ เสื้อกันฝน บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นสารก่อมะเร็งและส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่าหากไม่จำกัดปริมาณการใช้สาร PFAS เสียแต่บัดนี้ จะทำให้เกิดผลร้ายต่อมนุษย์ในอนาคตอย่างแน่นอน

สาร PFAS หรือโพลีฟลูออโรอัลคิลและเพอร์ฟลูออโรอัลคิล เป็นสารประกอบฟลูออรีนที่มีอยู่ราว 4,500 ชนิด สามารถตกค้างอยู่ในดิน น้ำ และบรรยากาศได้นานกว่าหลายพันปี จนได้รับฉายาว่าเป็นสารเคมีชั่วนิรันดร์

รถดับเพลิง

ที่มาของภาพ, Getty Images

วงจรการแพร่กระจายตัวของสาร PFAS นั้น เริ่มจากการเป็นอนุภาคขนาดเล็กในละอองน้ำทะเล ซึ่งจะถูกลมพัดพาขึ้นไปในอากาศ และตกลงมากับน้ำฝนที่แทรกซึมสู่พื้นดินเบื้องล่าง สามารถจะพบได้แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น ทวีปแอนตาร์กติกา

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสตอล์กโฮล์มของสวีเดน ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นในวารสาร Environmental Science & Technology โดยระบุว่าผลการตรวจสอบสาร PFAS สี่ชนิดในน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วโลก พบว่ามีสารดังกล่าวอยู่ชนิดหนึ่งที่มีปริมาณการปนเปื้อนสูงในน้ำฝนของทุกแห่ง ซึ่งเกินระดับมาตรฐานความปลอดภัยของน้ำดื่มที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดไว้มาก ทั้งยังพบการปนเปื้อนในดินทั่วโลกอีกด้วย

ศาสตราจารย์เอียน เคาซินส์ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยบนโลกของเราอีกต่อไปแล้ว เราพบสารเคมีนี้ในทุกแห่ง และไม่สามารถจำกัดมันให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้อีกต่อไปแล้ว คำพูดของผมไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องตายกันหมด เพียงแต่ตอนนี้ไม่มีสถานที่ไหนเลยที่เราจะมั่นใจได้ว่า สิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นมีความปลอดภัย”

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ชี้ว่า หากได้รับสาร PFAS ในปริมาณสูง จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิด รวมทั้งปัญหาการเจริญพันธุ์ และพัฒนาการที่ล่าช้าในเด็ก แต่ก็มีงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่พบความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่างสาร PFAS กับโรคดังกล่าวแต่อย่างใด

นักวิทยาศาสตร์

ที่มาของภาพ, MARKUS FREY

ศาสตราจารย์คริสปิน ฮัลแซลล์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสาร PFAS จากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยของ ศ. เคาซินส์ แสดงความเห็นว่า “แค่ในน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ปริมาณของสาร PFAS ก็สูงเกินมาตรฐานไปแล้ว ไม่ต้องนับถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมส่วนอื่น ๆ  ซึ่งในระยะยาวจะต้องส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างแน่นอน เนื่องจากการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำดื่ม”

อย่างไรก็ตาม ศ. ฮัลแซลล์บอกว่า เราสามารถขจัดสาร PFAS ออกจากน้ำดื่มน้ำใช้ได้ โดยผ่านกระบวนการบางอย่างที่โรงบำบัดน้ำ แต่วิธีทำให้น้ำปราศจากสารปนเปื้อนแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก

เด็กกำลังเดินกลางฝน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอล์กโฮล์มยังชี้ว่า การควบคุมปริมาณสาร PFAS ไม่ให้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจนเกินระดับมาตรฐานนั้น ปัจจุบันไม่อาจจะทำได้โดยง่ายในทางปฏิบัติ ทั้งยังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ จะลดหย่อนผ่อนปรนเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวให้ต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะไปขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นการก่อสร้างอาคารและอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ศ. เคาซินส์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่างไรเสียมนุษย์ก็ต้องการสารเคมีที่คงทน ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ใช้งานได้นาน แต่เราควรค้นหาสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายมาแทนที่ PFAS ให้ได้โดยเร็ว ผมหวังว่าภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวคิดก้าวหน้าจะร่วมมือกันหาทางออกในเรื่องนี้”

……

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว