
หลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ ก.พ. 2564 การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยติดอาวุธทีผนึกกำลังกับผู้ต่อต้านการรัฐประหารกับรัฐบาลทหารก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดผู้อพยพเข้ามาชายแดนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาความปลอดภัยและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า
การรัฐประหารปีที่แล้วนำมาสู่การเข่นฆ่าปราบปรามผู้ประท้วง ผู้บริสุทธิ์ถูกจับกุมมากกว่า 14,500 คน และมีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 2,000 ราย ตามสถิติของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners – AAPP)

ที่มาของภาพ, Getty Images
ผู้เห็นต่างที่เป็นปัญญาชน นักวิชาชีพต่าง ๆ ออกเดินทางสู่ป่า เข้าร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธเพื่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร เกิดการปะทะระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลัก ได้แก่ กะเหรียงเคเอ็นยู ที่ปะทะกับทหารของรัฐบาลจนเกิดการตอบโต้ ทำให้พลเรือนต้องอพยพเข้ามาไทยอยู่บ่อยครั้งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยทางไทยพยายามควบคุมไม่ให้เข้ามาก หรือใกล้พรมแดนไทยมากเกินไป
นายสมจิต รุ่งจำรัสรัศมี ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย ซึ่งประจำอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวเมื่อ 3 ส.ค. ว่า ปัจจุบันมีชาวเมียนมาลีเภัยสงครามเข้ามาอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทยราว 228 คน “แต่เป็นตัวเลขไม่นิ่ง มีการเข้าออกตลอดเวลา”
เมื่อสถานการณ์ฝั่งเมียนมาสงบลง ทางการไทยจะเข้าไปถามความสมัครใจของผู้ลี้ภัยให้เดินทางกลับประเทศ ทว่าชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการเดินทางกลับประเทศ
นอกจากชาวบ้านตามแนวชายแดนแล้ว คนจำนวนมากที่ไม่มีงานทำ เพราะการเมืองทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมทั้ง ปัญญาชนและนักวิชาชีพที่ถูกคุกคามและปราบปรามจากรัฐ ก็มุ่งหน้าหาโอกาสที่ดีกว่ามาประเทศไทยเช่นกัน

ที่มาของภาพ, Getty Images
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน บอกว่าคนเหล่านี้ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น หนีร้อนเศรษฐกิจ หนีร้อนการเมือง” จากวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น ไทยจะเห็นคลื่นแรงงานฝีมือจากฝั่งเมียนมาทะลักเข้ามาเช่นเดียวกัน อาทิ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพครู-อาจารย์
“มีคุณครูอยู่ที่นั่นก็เริ่มสอนได้ไม่ปกติแล้ว หนีมาอยู่ไทย มาหางานทำ”
เขาอธิบายเพิ่มว่าทางเลือกแรกของผู้ลี้ภัยเหล่านี้คือการอยู่ที่ อ.แม่สอด ไปก่อน “ต้องอยู่ให้ได้ ก็มีระบบใต้ดินคอยช่วยเหลือ” ขณะที่เป้าหมายสำคัญยังเป็นการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล
ทำไมยังเลือกช่องทางผิดกฎหมาย

ที่มาของภาพ, Getty Images
ชาวเมียนมาต้องการมาหางานทำในไทย ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีความต้องการเดียวกัน
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ ปัญหาแรงงานข้ามชาติซับซ้อนหรือซ้ำซากว่าไทยมีสิทธิ “ขาดแคลนแรงงานถึง 1 ล้านคน” จากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 2.2 ล้านคน ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา
ด้านหนึ่งรัฐบาลไทย มีนโยบายหลายเรื่องในความพยายามแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวขาดแคลน เช่น
เหตุใดการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายถึงยังไม่ใช่เรื่องทั่วไป
นายสมพงษ์อธิบายว่า การเดินทางเข้ามาตามกฎหมาย MOU หมายความว่าแรงงานเหล่านี้ต้องผ่านการจ้างงานจากนายหน้าหรือบริษัทระหว่างประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ราว 40,000-50,000 ต่อคน
“เมื่อราคาสูง เขายอมเสี่ยงมาตายเอาดาบหน้าดีกว่า”
ราคาประเมินของการลักลอบเดินทางเข้าไทยอยู่ที่ราว 8,000-10,000 บาท/คน
และเมื่อแรงงานเหล่านี้ลักลอบเข้ามาในไทยได้แล้ว หากพวกเขาสามารถหานายจ้างได้ และนายจ้างพาไปจดทะเบียน พวกเขาก็จะสามารถอยู่ในประเทศไทยเพื่อทำงานได้
ขณะที่ภาครัฐของไทยพยายามดึงแรงงานใต้ดินเหล่านี้ขึ้นมาอยู่บนดิน ด้วยการเปิดโอกาสให้แรงงานผิดกฎหมายมาลงทะเบียนอย่างถูกต้อง กระบวนการนายหน้าหรือผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีอยู่มานานแล้วก็อาจทำให้แรงงานเมียนมาจำนวนไม่น้อยเสมือน “หนีเสือปะจระเข้” ได้เช่นกัน
มติ ครม.ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ก.ค. อนุญาตให้ “กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มี “สถานะไม่ถูกต้อง” ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง” สามารถมาลงทะเบียนได้
นายสมพงษ์ ชี้ว่าจากมติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีนายจ้างก่อน จึงมีบรรยากาศเป็นสุญญากาศอยู่ และกลายเป็นช่องว่างให้แรงงานถูกเอาเปรียบได้ “เหมือนหนีเสือปะจระเข้”
“ช่วงที่บริษัทมีการเปิดรับสมัครคนงานใหม่ คนก็ไปออกันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า ปัญหาก็คือว่า รัฐเปิดนโยบายนให้เขาขึ้นมาบนดิน แต่ตำรวจไปดักจับอยู่หน้าโรงงาน มันไม่ตอบโจทย์”
นายสมพงษ์ ยังเสริมว่าแรงงานต่างด้าวยังต้องเจอปัญหาเรื่องการจดทะเบียนแรงงานที่ต้องทำผ่านนายหน้าหรือบริษัทผู้ว่าจ้าง ซึ่งนำไปสู่การเอาเปรียบเรื่องราคา จนแรงงานจำนวนไม่น้อยตัดสินใจลงใต้ดินอีกครั้งเพื่อเลี่ยงค่าใช้จ่ายเหล่านี้
ตัวนายสมพงษ์มองว่า แท้จริงแล้ว นอกจากจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ในแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าหานายจ้า รัฐบาลควรจัดระบบ “ให้เขาลงทะเบียนเองได้ด้วยซ้ำ”
“ทำงานทั้งปี ต้องมาเก็บเงินอันนี้มาต่อทะเบียน เงินก็ไม่มีเก็บละ กลับเมียนมาก็เศรษฐกิจฝืดเคือง ต้องยอมอยู่เมืองไทยต่อ”
กฎหมายมีช่องโหว่จริงหรือ
บีบีซีไทยสอบถามไปยัง นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนได้รับคำตอบว่าแท้จริงแล้วตามพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้นคนต่างด้าวเองไม่เพียงมีสิทธิ “แต่มีหน้าที่” ต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงาน หรือต่ออายุการทำงานเอง
“ที่จริงแล้วประเด็นนี้คนต่างด้าวเองควรจะรู้ เป็นหน้าที่ของคนต่างด้าว”

ที่มาของภาพ, กรมการจัดหางาน
ทว่าในความพยายามดึงคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ไทยอย่างปิดกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบครั้งนี้ ตาม มติ ครม.วันที่ 5 ก.ค. กรมการจัดหางานเปิดให้มีการลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ที่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้เป็นเพียงนายจ้างและบริษัทนายหน้าสัญชาติไทย “ที่เงินวางประกันกับกรมจัดหางาน จำนวน 5 ล้านบาท” เท่านั้น
อย่างไรก็ดี นายไพโรจน์อธิบายเพิ่มว่าหากตัวแรงงานต่าวด้าวเองต้องการเป็นผู้ยื่นเรื่องด้วยตัวเอง สามารถทำได้ด้วยการไปสำนักงานจัดหางานจังหวัดได้เช่นเดียวกัน โดยต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนทั้ง เอกสารของตัวแรงงานต่าวด้าวเอง และเอกสารของนายจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รูปถ่าย ฉากหลังสีขาว”
นายไพโรจน์เสริมว่า ก่อนที่จะมีมติ ครม.ล่าสุดนี้ กรม ได้จัดการสำรวจความต้องการขึ้นทะเบียนแรงงานจากภาคเอกชนและพบว่า มีภาคธุรกิจส่งตัวเลขรวมเข้ามาสูงถึง 120,000 ราย เป็นแรงงานผิดกฎหมายที่ต้องการแปลงเป็นแรงงานถูกกฎหมาย
สำหรับประเด็นช่องโหว่เรื่องสถานะของแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย นายไพโรจน์ย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นการยื่นด้วยตัวเองหรือยื่นผ่านตัวเอง แรงงานต่างด้าวจำเป็นต้องมีนายจ้างทั้งสิ้น แรงงานต่างด้าวคนใดก็ตามที่ไม่มีนายจ้างหรือมีผู้ต้องการว่าจ้างภายในะระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจะถือเป็นการผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรกับแรงงานที่ลักลอบเข้ามาแล้วหานายจ้างไม่ได้ นายไพโรจน์ตอบว่า “แรงงานส่วนใหญ่มีนายจ้างอยู่แล้ว เขามีเป้าหมายชัดเจนจะมากับใคร อยู่ที่ไหน”
………
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว