นักฟิสิกส์ฝรั่งเศสขอโทษ ใช้ไส้กรอกแทนภาพดาวจากกล้องเจมส์เว็บบ์

ศาสตราจารย์ เอเตียนน์ ไคลน์ นักฟิสิกส์และนักปรัชญาวิทยาศาสตร์คนดังของฝรั่งเศส ยอมออกมากล่าวขอโทษต่อบรรดาผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หลังจากใช้ภาพไส้กรอกสเปน “โชริโซ” (Chorizo) ที่ถูกหั่นเป็นแว่น ลงเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ โดยอ้างว่าเป็นภาพคมชัดล่าสุดของดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ซึ่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) บันทึกไว้ได้

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ศ. ไคลน์ เผยแพร่ภาพชิ้นไส้กรอกดังกล่าว พร้อมกับระบุว่า “นี่คือภาพของพร็อกซิมา เซนทอรี (Proxima Centauri)  ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และอยู่ห่างจากเรา 4.2 ปีแสง”

“ภาพถูกบันทึกไว้ด้วยกล้อง JWST…ด้วยความละเอียดสูงขนาดนี้ โลกใบใหม่ถูกค้นพบอยู่เรื่อย ๆ วันแล้ววันเล่า”

TWITTER

ที่มาของภาพ, TWITTER

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางส่วนมองไม่ออกว่าภาพดาวฤกษ์ของ ศ. ไคลน์ แท้จริงคือเนื้อไส้กรอกแสนอร่อย เพราะมันแทบจะไม่ต่างกับดาวฤกษ์ยักษ์สีแดง ที่มีกลุ่มก้อนพลังงานหมุนวนปั่นป่วนบนพื้นผิวคล้ายพายุสุริยะ ทั้งยังดูคล้ายกับภาพอันโด่งดังของดวงอาทิตย์ที่ถ่ายโดยกล้อง EUI ซึ่งติดตั้งบนดาวเทียมสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ (Solar Orbiter) อีกด้วย

ศ. เอเตียนน์ ไคลน์ กับชิ้นไส้กรอกเจ้าปัญหา

ที่มาของภาพ, TWITTER

หลังจากมีเสียงวิจารณ์ตำหนิจากกลุ่มคนที่ทราบว่าภาพดังกล่าวคืออะไร ศ. ไคลน์ได้ทวีตข้อความขออภัย โดยบอกว่าไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงมุกตลกของเขา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายกระตุ้นเตือนให้ผู้คนคิดไตร่ตรอง และตั้งคำถามกับภาพดาราศาสตร์ที่สวยงามน่าทึ่งอยู่เสมอ โดยไม่ควรยอมรับคำอธิบายจากผู้รู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างง่ายดายแบบอัตโนมัติ

“ไม่มีวัตถุที่จัดเป็นอาหารกินเล่นของสเปนอยู่ที่ไหนเลย นอกจากบนโลก” ศ. ไคลน์กล่าว

เมื่อเดือนที่แล้ว อีลอน มัสก์ ประธานผู้บริหารคนดังของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ได้ลงภาพและข้อความทางทวิตเตอร์ที่เป็นมุกตลกล้อเลียนผลงานของกล้อง JWST เช่นกัน โดยชี้ว่าภาพดวงดาวและกาแล็กซีจำนวนมหาศาลในห้วงอวกาศลึก (deep field image) แทบจะไม่แตกต่างจากลวดลายของหินแกรนิตที่ใช้ปูเคาน์เตอร์ทำครัวเลย

ภาพกาแล็กซีล้อเกวียน

ที่มาของภาพ, NASA/ESA/CSA/STSCI

นับแต่เปิดตัวภาพชุดที่เป็นผลงานชิ้นแรกในช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กล้อง JWST เผยผลงานที่น่าทึ่งออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจับภาพกาแล็กซี CEERS-93316 ซึ่งถือกำเนิดหลังเหตุการณ์บิ๊กแบงเพียง 235 ล้านปี และอาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา หรือการบันทึกภาพดาว Earendel ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่โดดเดี่ยวและห่างไกลจากเรามากที่สุดถึง 28,000 ล้านปีแสง

ล่าสุดกล้อง JWST เผยแพร่ภาพกาแล็กซีล้อเกวียน (Cartwheel Galaxy) ซึ่งเกิดจากการชนและรวมตัวของกาแล็กซีโบราณสองแห่ง โดยภาพจากกล้อง JWST เผยถึงรายละเอียดภายในกาแล็กซีล้อเกวียนได้ชัดเจนกว่าที่กล้องฮับเบิลเคยบันทึกไว้ โดยสามารถส่องทะลุกลุ่มฝุ่นและก๊าซหนาทึบเข้าไปเห็นกระจุกดาวฤกษ์ที่ก่อกำเนิดขึ้นใหม่ได้

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว