มีเพื่อนรวยในวัยเด็ก ช่วยเพิ่มรายได้ 20% ตอนโตเป็นผู้ใหญ่

Getty Images (ฺฺBBC THAI)
ที่มาของภาพ, Getty Images (ฺฺBBC THAI)
เด็กชายสองคนถือเงิน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก 72 ล้านคนพบว่า เด็กฐานะยากจนที่มีโอกาสได้คบหากับเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งมาจากครอบครัวมั่งคั่งร่ำรวย มีแนวโน้มว่าจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีเงินเดือนสูงกว่าคนรุ่นเดียวกันโดยเฉลี่ยถึง 20% เลยทีเดียว

งานวิจัยล่าสุดนี้จัดทำโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ได้แก่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก โดยได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งยวดของ “เครือข่ายความสัมพันธ์” (connection) ในการเลื่อนชั้นหรือขยับฐานะทางสังคม

ทีมผู้วิจัยพบว่า เด็กจากครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับล่าง แต่ได้อยู่อาศัยในชุมชนที่เพื่อน ๆ กว่า 70% มาจากครอบครัวฐานะดี เมื่อเติบโตขึ้นพวกเขาจะมีรายได้สูงกว่าคนรุ่นเดียวกันโดยเฉลี่ย 20% ซึ่งแสดงว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมที่ทรงพลังอย่างมาก แม้แต่การศึกษาหรือการประกอบอาชีพเฉพาะทางก็ไม่อาจทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงขนาดนี้

สาเหตุที่การคบหากับคนรวยในวัยเด็ก ส่งผลให้เกิดการสะสม “ทุนทางสังคม” (social capital) เพิ่มขึ้น จนสามารถมีฐานะดีกว่าเดิมในวัยผู้ใหญ่นั้น ทีมผู้วิจัยอธิบายว่าเรื่องนี้เป็นสมมติฐานที่มีมานานแล้วในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ แต่พวกเขาเพิ่งจะมีโอกาสได้ทดลองพิสูจน์ในวงกว้างเป็นครั้งแรก หลังผู้คนนิยมใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างแพร่หลาย

ส่วนทุนทางสังคมที่เด็กยากจนได้มาจากการคบหาเด็กบ้านรวย อาจเป็นได้ตั้งแต่แรงบันดาลใจในการสร้างเนื้อสร้างตัว ไปจนถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการหางาน ซึ่งเด็กยากจนทั่วไปไม่มีทางได้รับ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การที่เด็กยากจนมีสถานะทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอาจมาจากปัจจัยอื่น เช่นครอบครัวยากจนทุ่มเทในการลงทุนให้กับการศึกษาของลูกเป็นพิเศษ

บางคนมีเพื่อนในวัยเด็กที่ฐานะร่ำรวย เพราะเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนของคนชั้นสูง

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม ยังมีผลการศึกษาอีกเรื่องหนึ่งที่จัดทำโดยนักวิจัยทีมเดียวกัน ชี้ว่าโอกาสที่เด็กยากจนจะได้เป็นเพื่อนกับเด็กบ้านรวยนั้นเกิดขึ้นได้ยากมากในโลกของความเป็นจริง โดยผลการศึกษาในสหรัฐฯ ชี้ว่า นอกจากนครลอสแอนเจลิสแล้ว แทบไม่มีพื้นที่ใดเลยที่อัตราความสัมพันธ์ข้ามชนชั้นทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง ซึ่งหมายความว่าเด็กส่วนใหญ่ก็คบหากับเพื่อนในละแวกเดียวกันที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายคลึงกัน

เพื่อให้ผลการวิจัยในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ศาสตราจารย์ โยฮันเนส สเตรอเบล นักเศรษฐศาสตร์ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กแนะนำว่า “การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ข้ามชนชั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันได้มีปฏิสัมพันธ์ และมีโอกาสเต็มที่ในการผูกมิตรกันอย่างจริงใจ”

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว