ศรีลังกา : อดีตประธานาธิบดีราชปักษาหนีร้อนมาพึ่งไทย สมควรหรือไม่ ?

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

โกตาบายา ราชปักษา จะถึงไทยวันนี้ 11 ส.ค.

ที่มาของภาพ, Getty Images

อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” ในประเทศไทย หลังหนีแรงกดดันประชาชนออกนอกประเทศมากว่า 1 เดือน ด้านนักวิชาการไทยที่ติดตามวิกฤตการเมืองในศรีลังกามาตลอดมองว่า “เข้ามาได้ แต่อย่าให้อยู่นาน” เพราะมีแต่จะสร้างปัญหาให้ไทยหากการเมืองศรีลังกาเปลี่ยนขั้ว

นายโกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา เตรียมเดินทางถึงประเทศไทยในวันนี้ (11 ส.ค.) หลังเมื่อเดือนที่แล้ว เขาหลบหนีกระแสประท้วงกดดันจากประชาชนไปมัลดีฟส์ ต่อด้วยสิงคโปร์ แต่วีซ่าหมดอายุ จึงเดินทางมาไทยเพื่อ “เป็นทางผ่าน”

อดีตผู้นำศรีลังกาจะเดินทางเข้าไทยด้วยหนังสือเดินทางทางการทูต และมีกรอบการพำนักอยู่ไม่เกิน 90 วัน ตามกฎเกณฑ์ของประเทศไทย

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์วานนี้ (10 ส.ค.) ว่า นายราชปักษาใช้หนังสือเดินทางทางการทูต ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลศรีลังกา ไทยจึง “ไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหา จึงไม่มีการคัดค้าน”

ตามหลักกฎหมายแล้ว “ประเทศไทยปฏิเสธการเข้าเมืองได้หรือไม่…ปฏิเสธได้ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศ” แต่ในเมื่อไม่ได้สร้างปัญหาให้ไทย ก็สามารถอยู่อาศัยได้

แต่ ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับบีบีซีไทยแกมเตือนรัฐบาลไทยว่า “เข้ามาได้ แต่อย่าให้อยู่นาน” เพราะหากสถานการณ์ทางการเมืองในศรีลังกาเปลี่ยนขั้ว และประชาชนเป็นฝ่ายชนะ การให้นายราชปักษาพำนักในไทย จะเป็นระเบิดเวลาที่เพิ่มแรงกดดันต่อไทย

ทำไมไทยต้องไปรับมาเป็นภาระ

ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ วิเคราะห์กรณีการเดินทาง “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” ของอดีตประธานาธิบดีศรีลังกาเป็น 2 ประเด็น

ประการที่หนึ่ง – อดีตประธานาธิบดีราชปักษามีความผูกพันที่ดีกับรัฐบาลชุดปัจจุบันของศรีลังกา

ประการที่สอง – กรณีเกิดปฏิวัติหรือรัฐประหารในศรีลังกา และฝ่ายที่ชนะคือประชาชน อาจเกิดการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศได้ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลไทย

"หนีร้อนมาพึ่งเย็น"

ที่มาของภาพ, Reuters

“เหมือนกับกรณีทักษิณ หนีไปอยู่ (ประเทศอื่น) ได้ถาวรหรือไม่…ถ้าเราตีความว่า คนนี้เป็นอาชญากร เราคงจะไม่รับ หรือถ้ารับเข้ามา ต้องรีบให้ไปต่อเลย” ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าว

ถ้าในกรณีทักษิณ “ไทยบอกว่าเราต้องการได้ผู้ร้ายกลับมา ก็ต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ หรือลี้ภัยทางการเมือง กรณีนี้ของนายราชปักษายังไม่ถึงขั้นนั้น”

แต่เมื่อถามว่า การเดินทางมาไทยของอดีตประธานาธิบดีศรีลังกาผิดปกติหรือไม่ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าเป็นสิทธิ์ของนายราชปักษาที่จะเดินทางมาไทยเพื่อเป็นทางผ่าน แต่ไม่ควรให้พำนักอยู่นาน หรือถึงขั้นถาวร เพราะ “ไม่มีประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยเลย”

ไทยยืนยันไม่ให้ลี้ภัย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์วานนี้ (10 ส.ค.) ถึงกรณีนายราชปักษาจะเดินทางมาพำนักในไทย ว่า เป็นเรื่องของมนุษยธรรมที่มี “สัญญา” ต่อกัน

แต่นายกรัฐมนตรีไทยยืนกรานว่า เป็นเพียงการพักพิงชั่วคราว เพื่อเตรียมหาประเทศลี้ภัย โดยรัฐบาลไทยจะไม่ยุ่งเกี่ยว เยี่ยมเยียน พบปะ หรือเคลื่อนไหวใด ๆ กับนายราชปักษา ทั้งสิ้น

ส่วนคำถามว่ามีประเทศใดที่จับตาไทยต่อประเด็นนี้บ้าง นายดอน รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า “ไม่มีใครสนใจ มีแต่สื่อมวลชนเท่านั้น” เพราะสถานการณ์นี้เป็นเรื่องปกติ “เป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็นในยามยาก” และย้ำอีกครั้งว่า กระทำได้ ตราบเท่าที่ไม่เป็นปัญหาต่อประเทศไทย

Graphic

ราชปักษากำลังจนตรอก ?

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานข่าวอ้างอิงถึงคนสนิทของนายราชปักษา ถึงเหตุผลที่เขาต้องรีบเดินทางไปประเทศอื่น

“เพราะวีซ่าสิงคโปร์ของเขาหมดแล้ว” คนสนิทของนายราชปักษาที่ไม่ประสงค์ออกนาม บอกกับเอเอฟพี “เขาทำเรื่องขอขยายวีซ่ากับสิงคโปร์แล้ว แต่ในเช้าวันพุธ (10 ส.ค.) เรื่องกลับมาว่าต่อวีซ่าไม่ได้”

วิธีการของอดีตประธานาธิบดีศรีลังกาในตอนนี้ คือการทำสิ่งที่เรียกว่า “วีซ่ารัน” คือการเดินทางเข้ามาพำนักชั่วคราวในไทย ก่อนเดินทางกลับไปสิงคโปร์เพื่อพำนักต่อได้อีก 30 วัน ระหว่างการดำเนินเรื่องขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศอื่น

ผู้ประท้วงบุกทำเนียบประธานาธิบดีในศรีลังกา

ที่มาของภาพ, Reuters

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ระบุว่า ไทยได้รับคำร้องจากรัฐบาลปัจจุบันศรีลังกา เพื่อให้อดีตประธานาธิบดีศรีลังกาเข้าประเทศไทย แต่ “ไม่มีการร้องขอลี้ภัยทางการเมืองในไทย”

การเมืองศรีลังกายังไม่นิ่ง

สถานการณ์ล่าสุดในศรีลังกา หลังจากที่นายโกตาบายาหลบหนีออกนอกประเทศ นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีของศรีลังกา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรักษาการประธานาธิบดี แต่การตัดสินใจดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงเพิ่มเติมและเรียกร้องให้เขาลาออกด้วย

ศรีลังกากำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ประชาชนจำนวนมากตำหนิรัฐบาลของราชปักษาว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตนี้ และมองว่านายวิกรมสิงเห ซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน พ.ค. เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย

การประท้วงเริ่มต้นในวันที่ 9 ส.ค. ก่อนจะถึงจุดพลิกผัน หลังผู้ประท้วงหลายพันคนบุกเข้าไปในกรุงโคลัมโบ และทำเนียบประธานาธิบดีของนายราชปักษา ในวันที่ 9 ก.ค. กดดันให้เขาต้องหนีออกจากประเทศ

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว