- ทีม Eye Investigations, โอลกา โปสวีโรวา และ โอเลก โบลดีเรฟ
- บีบีซี นิวส์
คำเตือน : บทความนี้มีภาพและเนื้อหาที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรง
อดีตนักโทษเปิดเผยกับบีบีซีถึงเรื่องราวการข่มขืนและทรมานที่ทำกันอย่างเป็นระบบในเรือนจำหลายแห่งในรัสเซีย คลิปบันทึกภาพการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นได้ถูกคนวงในนำออกเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว และล่าสุดเหยื่อหลายคนได้เปิดใจเล่าให้บีบีซีฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของพวกเขา
โรงพยาบาลราชทัณฑ์ซาราตอฟ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซียตกอยู่ในความสนใจของสังคมเมื่อปีที่แล้ว หลังจากคลิปวิดีโอการทารุณกรรมนักโทษได้รั่วไหลไปถึงมือขององค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน และถูกสื่อต่างชาตินำไปตีแผ่
อเล็กเซย์ มาคารอฟ เคยได้ยินกิตติศัพท์ของเรือนจำแห่งนี้มาก่อนที่เขาจะถูกส่งตัวไปคุมขังในปี 2018 เป็นเวลา 6 ปีจากความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น
ผู้ต้องขังจากเรือนจำอื่นในภูมิภาคที่ถูกย้ายตัวไปจองจำในเรือนจำซาราตอฟต่างร้องเรียนว่ามีการปลอมแปลงข้อมูลด้านการแพทย์เพื่อเอื้อให้มีการทรมานพวกเขาได้โดยไม่มีใครล่วงรู้
ที่ผ่านมา ทัณฑสถานในรัสเซียแทบจะไม่มีการตรวจสอบดูแลจากองค์กรอิสระ จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงกฎระเบียบการกักกันโรคในโรงพยาบาลของเรือนจำ
มาคารอฟ ซึ่งมีสภาพร่างกายที่อ่อนแออยู่แล้ว หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค คิดว่าตัวเองจะรอดพ้นจากการทารุณกรรม แต่เขาเล่าว่าถูกข่มขืน 2 ครั้งระหว่างที่อยู่ในเรือนจำแห่งนี้
บรรดาเหยื่อและผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นกับมาคารอฟและนักโทษคนอื่น ๆ ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชทัณฑ์ และใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ รีดไถ หรือบีบบังคับให้รับสารภาพ
การเปิดโปงคลิปและเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องเข้าตรวจสอบกรณีนี้ โดย Proekt ซึ่งเป็นโครงการสื่ออิสระของรัสเซียรายงานว่า มีรายงานพบการทรมานนักโทษใน 90% ของเรือนจำระดับภูมิภาคของรัสเซีย ระหว่างปี 2015 – 2019 แต่การดำเนินการแก้ปัญหาของทางการเป็นไปอย่างเชื่องช้า
บีบีซีได้วิเคราะห์เอกสารศาลหลายพันฉบับในช่วงเวลาดังกล่าว และพบว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 41 คนได้รับการตัดสินให้มีความผิดในคดีล่วงละเมิดนักโทษอย่างร้ายแรง ทว่าเกือบครึ่งได้รับการตัดสินลงโทษด้วยการรอลงอาญา
บีบีซีได้พูดคุยกับนักโทษหลายคน ซึ่งรวมถึง มาคารอฟ ถึงความโหดร้ายที่พวกเขาต้องเผชิญในระบบราชทัณฑ์ของรัสเซีย
มาคารอฟเล่าว่า ครั้งแรกที่เขาถูกทรมานเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2020 ตอนนั้นเขาปฏิเสธที่จะรับสารภาพในความผิดฐานวางแผนก่อเหตุร้ายต่อหน่วยงานราชทัณฑ์ และชาย 3 คนได้ล่วงละเมิดทางเพศเขาอย่างต่อเนื่อง
“พวกเขาทุบตีผม 10 นาที ฉีกเสื้อผ้าของผม แล้วก็ใช้ด้ามไม้ถูพื้นเป็นเครื่องมือข่มขืนผมทุก 2 นาที ตลอดช่วง 2 ชั่วโมงถัดมา” เขาเล่า
“พอผมเป็นลมหมดสติ พวกเขาก็เอาน้ำเย็นสาดผม แล้วโยนผมกลับขึ้นไปบนโต๊ะ”
เขาเล่าต่อว่า จะมีการเปิดเพลงเสียงดังกระหึ่มในระหว่างที่มีการทรมาน เพื่อกลบเสียงร้องของเหยื่อ
การล่วงละเมิดแบบเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้งในอีก 2 เดือนต่อมา และคราวนี้มาคารอฟถูกขู่กรรโชกให้จ่ายเงิน 50,000 รูเบิล (ราว 31,600 บาท) แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายเขา
มาคารอฟบอกว่า เขาถูกข่มขืนเพื่อบังคับให้เก็บเรื่องที่เกิดขึ้นเอาไว้เป็นความลับ และการทรมานดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้เป็นวิดีโอ เพราะเจ้าหน้าที่เรือนจำรู้ดีว่าจะสามารถนำภาพที่น่าอายเหล่านี้ออกประจานไปทั่วเรือนจำได้หากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้อง
ผู้ที่ลงมือข่มขืนคือนักโทษด้วยกันเอง ซึ่งมาคารอฟและเหยื่อคนอื่น ๆ มั่นใจว่าคนพวกนี้ทำไปตามคำสั่งของบรรดาผู้คุม
คลิปการล่วงละเมิดนักโทษที่เรือนจำซาราตอฟถูกเปิดโปงเมื่อปีก่อน เพราะอดีตนักโทษคนหนึ่งลักลอบนำออกมา
เซอร์เกย์ ซาเวลเยฟ แอบเอาคลิปที่มีการบันทึกไว้ออกมาได้เพราะเคยถูกเกณฑ์ไปช่วยงานในแผนกรักษาความปลอดภัยของเรือนจำที่มีพนักงานไม่เพียงพอ โดยเขามีหน้าที่เฝ้าดูวิดีโอจากกล้องที่ติดตัวพัสดีขณะปฏิบัติงาน
ซาเวลเยฟเชื่อว่าการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจระดับสูงสุดในหน่วยงานราชทัณฑ์
เขาเล่าให้บีบีซีฟังว่า ในการทรมานที่เรือนจำซาราตอฟ เจ้าหน้าที่จะใช้ให้นักโทษทำงานสกปรกแทน โดยให้ใส่กล้องติดตัวไว้เพื่อบันทึกภาพการล่วงละเมิดสำหรับใช้แบล็คเมล์เหยื่อในภายหลัง
“ผมได้รับคำสั่งจากหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัย [ให้แจกจ่ายกล้องติดตัว]” ซาเวลเยฟกล่าว
ในตอนนั้นเขาได้รับคำสั่งให้บันทึกภาพวิดีโอการทรมานนักโทษ แล้วเอาไปให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยดู บางครั้งเขาได้รับคำสั่งให้ย้ายวิดีโอไปไว้ในพื้นที่เก็บข้อมูลรวม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงดูต่อไป
หลังจากได้ล่วงรู้เรื่องราวสุดเลวร้ายที่เกิดขึ้น ซาเวลเยฟก็เริ่มแอบทำสำเนา และเก็บไฟล์เหล่านี้เอาไว้
“การปล่อยผ่านไปโดยที่ไม่ทำอะไรเลย เท่ากับการยอมรับว่ามันเป็นเรื่องปกติ” เขาอธิบายสาเหตุที่ตัดสินใจทำเรื่องนี้
ในวิดีโอบางคลิปปรากฏภาพชายหลายคนลงมือทรมานผู้ต้องขังโดยมีการใช้กุญแจมือและสวมกล้องติดตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่เรือนจำเท่านั้น
ซาเวลเยฟบอกว่า นักโทษซึ่งรับหน้าที่ทรมานเหยื่อมักเป็นผู้ต้องขังในคดีอุกฉกรรจ์ที่มีโทษจำคุกเป็นเวลานาน และต้องการเอาใจเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น
วลาดิเมียร์ โอเซคกิน จากองค์กร Gulagu.net ที่เผยแพร่คลิปเหล่านี้สู่สาธารณชนระบุว่า ภาพที่บันทึกไว้ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ลงมือทรมานนักโทษมีกระบวนการทำกันเป็นขั้นตอน ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
“พวกเขาส่งสัญญาณให้กัน ลงมือทำด้วยความเงียบ สามารถเข้าใจกันและกันได้โดยไม่ต้องพูด เพราะพวกเขาทำตามระบบที่มีการวางไว้เป็นอย่างดี [ชายในคลิป] ส่งสัญญาณให้จับเหยื่อแยกขาออกเพื่อข่มขืนเขา” โอเซคกิน เล่า
หลังจากคลิปถูกเปิดโปงมีการจับกุมนักโทษ 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่าลงมือทรมานเพื่อนนักโทษด้วยกัน แต่พวกเขาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ 2 เดือนต่อมาผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซาราตอฟได้ถูกจับกุม แต่พวกเขาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมที่ปรากฏในวิดีโออย่างสิ้นเชิง
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้สั่งเปลี่ยนหัวหน้าหน่วยงานราชทัณฑ์ พร้อมประกาศจะใช้ “มาตรการที่เป็นระบบ” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในหน่วยงานนี้ ขณะที่เมื่อเดือนก่อนมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีบทลงโทษรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดในลักษณะนี้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ว่า ปัจจุบันรัสเซียยังไม่กำหนดให้การทรมานเป็นความผิดเอกเทศในทางอาญา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีปูตินรับปากว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเขาเคยให้คำมั่นทำนองเดียวกันมาแล้ว หลังจากมีการเปิดเผยคลิปทารุณกรรมนักโทษในปี 2018 ซึ่งเผยให้เห็นกลุ่มพัศดีทุบตีนักโทษที่เรือนจำในเมืองยาโรสลาฟล์ ทางตอนเหนือของกรุงมอสโก
ลูกจ้างเรือนจำยาโรสลาฟล์ 11 คนได้รับการลงโทษขั้นต่ำในปี 2020 ขณะที่ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาถูกตัดสินให้พ้นผิด
ยูเลีย ชวาโนวา ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อการทรมาน ระบุว่า แรงจูงใจสำคัญของการล่วงละเมิดนักโทษอย่างเป็นระบบคือการที่เจ้าหน้าที่มุ่งเป้ารีดคำรับสารภาพโดยไม่คำนึงว่าเหยื่อมีความผิดจริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องการสอบสวนอาชญากรรมจึงเป็นตัวการหลักในการทรมานผู้ต้องขังในเรือนจำรัสเซีย
ปัจจุบันเธอพยายามเรียกร้องค่าชดเชยให้แก่ อันตน โรมาชอฟ ชายหนุ่มวัย 22 ปีที่ถูกทรมานในปี 2017 เพราะไม่ยอมรับสารภาพในอาชญากรรมที่เขาไม่ได้ก่อ
โรมาชอฟ ถูกจับฐานมีกัญชาในครอบครอง ทว่าตำรวจพยายามบังคับให้เขารับสารภาพว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษรุงแรงกว่า เมื่อเขาไม่ยอมรับสารภาพ ก็ถูกนำตัวไปไว้ที่ศูนย์คุมขังก่อนการพิจารณาคดีในเมืองวลาดิเมียร์ ทางภาคตะวันตกของรัสเซีย ช่วงปลายปี 2016
“ผมถูกจับไปไว้ที่ห้องขังหมายเลข 26 ผมรู้ดีว่ามันเป็นห้องอะไร …เพราะได้ยินเสียงร้องดังออกมาจากห้องนั้นอยู่นานหลายวัน”
ในห้องนั้นมีชายสองคนรอเขาอยู่ โรมาชอฟเล่าว่าเขาถูกเหวี่ยงลงกับพื้น แล้วถูกมัดเท้า มัดมือไพล่หลัง ก่อนที่จะถูกทุบตีไปทั้งวัน พอชายทั้งสองถอดกางเกงของโรมาชอฟออก เขาก็บอกว่าจะยอมเซ็นชื่อรับสารภาพในสิ่งที่พวกเขาต้องการแต่โดยดี
โรมาชอฟ ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แม้ว่าเขาจะพยายามบอกศาลว่าตนเองถูกทรมานเพื่อให้รับสารภาพก็ตาม
ในที่สุดก็มีการสอบสวนเรื่องการทรมานนักโทษที่เรือนจำแห่งนี้ หลังจากนักโทษคนหนึ่งก่อเหตุฆาตกรรมนักโทษอีกคนที่ขู่จะทรมานเขา
เจ้าหน้าที่เรือนจำที่เข้าให้ปากคำเปิดเผยว่า นักโทษส่วนใหญ่ที่นี่รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในห้องขังหมายเลข 26 เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลห้องขังดังกล่าวได้ถูกตัดสินให้มีความผิดในการพิจารณาคดีที่โรมาชอฟ และนักโทษอีก 2 คนขึ้นให้การเป็นพยาน
แต่การทรมานครั้งใหญ่และอื้อฉาวที่สุดในรัสเซียเกิดขึ้นที่เรือนจำแห่งหนึ่งในแคว้นเอียร์คุตสค์ ภูมิภาคไซบีเรีย หลังเกิดเหตุประท้วงที่เรือนจำหมายเลข 15 ใกล้กับเมืองเอกของแคว้นเมื่อช่วงต้นปี 2020 ซึ่งทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่หน่วยปราบจลาจลเข้าระงับเหตุ และมีการปิดล้อมก่อนที่จะควบคุมตัวนักโทษหลายร้อยคนไปไว้ที่ศูนย์คุมขัง ซึ่งเจ้าหน้าที่เรือนจำรอต้อนรับอยู่พร้อมกลุ่มนักโทษที่รับหน้าที่ทรมาน
หนึ่งในผู้ที่ถูกทรมานที่ศูนย์ดังกล่าวคือ เดนิส โปคูซาเยฟ ซึ่งต้องโทษจำคุก 3 ปีในคดีฉ้อโกง เขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์คุมขังพูดอย่างเปิดเผยถึงสาเหตุที่พวกเขาต้องถูกลงโทษ
“[พวกนั้น] บอกผมว่า ‘แกคิดว่าพวกเราสนหรือว่าพวกแกผิดจริงหรือเปล่า พวกแกถูกจับมาจากการก่อจลาจล ดังนั้นพวกแกจะต้องชดใช้สำหรับเรื่องนั้น'”
ชวาโนวา ทนายสาวผู้ต่อสู้เพื่อนักโทษที่ตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรมอธิบายรูปแบบที่มักพบในกรณีเช่นนี้
“[พนักงานสอบสวน] จะตัดสินใจว่าใครหรือพยานคนไหนจะถูกสอบปากคำ และจะใช้การสอบสวนรูปแบบไหน…จากนั้นพวกเขาจะติดต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำ พร้อมคำสั่งว่า “ผมต้องการคำสารภาพจากคน ๆ นี้”
โปคูซาเยฟเล่าว่าการทรมานเป็นไปอย่างไร้ความปรานี
“การทรมานดำเนินไปทุกวันเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ยกเว้นวันเสาร์อาทิตย์”
เจ้าหน้าที่จะเข้าร่วมในการทรมานด้วย
“พวกเขาหัวเราะ กินผลไม้…นักโทษคนหนึ่งถูกข่มขืนด้วยวัตถุชนิดต่าง ๆ …พวกนั้นเอาแต่หัวเราะเยาะชอบใจ”
บีบีซีได้ติดต่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานราชทัณฑ์ของรัสเซีย แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับใด ๆ
องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนประเมินว่ามีนักโทษอย่างน้อย 350 คนถูกทรมานหลังเกิดเหตุจลาจลในเรือนจำ
โปคูซาเยฟเป็นหนึ่งในชายประมาณ 30 คนที่ชนะคดีเรียกร้องสิทธิให้ได้รับการยอมรับทางกฎหมายว่าพวกเขาคือเหยื่อผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์นี้ และยังเป็นหนึ่งในเหยื่อที่เตรียมขึ้นให้การในศาลเพื่อเอาผิดต่อผู้ทรมานนักโทษ
ยูเลียและเหยื่อผู้ขึ้นให้ปากคำในการพิจารณาคดีนี้ได้ลงนามในข้อตกลงที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลในคดี ดังนั้นจึงไม่ชัดเจนว่าผลการพิจารณาคดีนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมได้หรือไม่
โปคูซาเยฟบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นยังตามหลอกหลอนเขามาจนถึงทุกวันนี้
“ผมเดินเข้าไปในป่าข้างบ้านแทบทุกวัน แล้วก็ร้องตะโกนถ้อยคำหยาบคายออกมาจนหมดสิ้น เพื่อที่จะไม่ต้องเก็บกดมันไว้ข้างใน”
อย่างไรก็ตามเขายังมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นไปได้ หากคนเรามีความกล้าหาญพอที่จะพูดความจริงออกมา
“ทุกวันนี้คน [ในรัสเซีย] กลัวที่จะออกมาพูดความจริง…นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอะไรได้”
…..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว