เชื้อโรคที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทำลายอารยธรรมยุคสัมฤทธิ์กว่าสี่พันปีก่อน

อารยธรรมแห่งยุคราชอาณาจักรเก่าของอียิปต์ ล่มสลายลงเมื่อราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล

ที่มาของภาพ, Getty Images

อาณาจักรโบราณหลายแห่งในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ในยุคราชอาณาจักรเก่าหรือจักรวรรดิอักคาเดียน ต้องล่มสลายลงเพราะเชื้อกาฬโรคและไข้ทัยฟอยด์ชนิดที่ไม่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน

ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอของจุลินทรีย์ที่อยู่ในฟันมนุษย์ยุคสัมฤทธิ์ ซึ่งค้นพบที่ถ้ำสุสานแห่งหนึ่งบนเกาะครีต (Crete) ของประเทศกรีซ ชี้ว่ามีเชื้อแบคทีเรียสองชนิดได้แก่ Yersinia pestis ที่ทำให้เกิดกาฬโรค และ Salmonella enterica ที่ทำให้คนป่วยด้วยไข้ทัยฟอยด์ แต่เชื้อดังกล่าวเป็นสายพันธุ์เก่าแก่ที่สูญสิ้นไปจากโลกนี้แล้ว

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ระบุว่า การที่พบเชื้อโรคระบาดในโครงกระดูกของผู้คนจากอาณาจักรใหญ่ ซึ่งมีประชากรหนาแน่นและมีการติดต่อไปมาหาสู่กันอย่างกว้างขวางเมื่อราว 4,000 ปีก่อน ทำให้เชื่อได้ว่ายุคนั้นมีการแพร่กระจายตัวของเชื้อก่อโรค จนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อารยธรรมต่าง ๆ ในแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพากันล่มสลายลง ในช่วง 2,200 – 2,000 ปีก่อนคริสตกาล

ทีมนักพันธุศาสตร์เชิงโบราณคดีของสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษามานุษยวิทยาวิวัฒนาการ (MPI-EVA) บอกว่า แม้งานวิจัยใหม่ ๆ มักกล่าวโทษการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อาณาจักรโบราณล่มสลาย เนื่องจากเกิดการโยกย้ายถิ่นฐานและแย่งชิงทรัพยากร แต่การค้นพบล่าสุดของพวกเขากลับชี้ว่า โรคระบาดก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งด้วย

ภาพขยายเชื้อกาฬโรค Yersinia pestis (สีเหลือง) บนตัวเห็บหมัด (สีม่วง)

ที่มาของภาพ, NIH

หากมีเชื้อกาฬโรคแพร่กระจายในยุคสัมฤทธิ์จริง จะนับว่าเป็นการระบาดที่มีมาก่อนบันทึกการระบาดใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ เมื่อราว ค.ศ. 541 แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่ชี้ว่า ผู้คนอาจเริ่มติดเชื้อกาฬโรคมาตั้งแต่ช่วงยุคหินใหม่แล้ว

ทีมผู้วิจัยอธิบายว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินถึงระดับความรุนแรงของการระบาดในยุคสัมฤทธิ์ ทั้งยังไม่อาจทราบได้ว่าเชื้อที่สูญพันธุ์ไปแล้วแพร่กระจายตัวด้วยวิธีใด และมีฤทธิ์ร้ายแค่ไหนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นเชื้อกาฬโรคนั้นมีวิวัฒนาการ โดยเปลี่ยนจากการใช้เห็บหมัดบนตัวหนูเป็นพาหะติดต่อสู่คน มาเป็นกาฬโรคปอดที่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปกับละอองลอยในอากาศได้

ส่วนเชื้อไข้ทัยฟอยด์สายพันธุ์โบราณที่ค้นพบในครั้งนี้ ไม่มีลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมซึ่งปกติจะทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตในมนุษย์ได้ นอกจากนี้ทั้งกาฬโรคและไข้ทัยฟอยด์นั้นไม่ทิ้งรอยโรคใด ๆ ไว้บนกระดูกของผู้ป่วยเลย ทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคระบาดที่ล่มอาณาจักรโบราณอันยิ่งใหญ่หลายแห่ง ยังคงเป็นปริศนาต่อไป

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว