ดาวยักษ์ใหญ่แดง “บีเทลจุส” ปลดปล่อยมวลครั้งใหญ่จนมืดมัวลง

การปะทุปลดปล่อยมวลจากดาวบีเทลจุส 4 ระยะ ระหว่างช่วงต้นปี 2019 – เดือนมีนาคม 2020

ที่มาของภาพ, NASA/ESA/STSCI

เมื่อช่วงปลายปี 2019 เกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก หลังจากดาวฤกษ์ยักษ์ “บีเทลจุส” (Betelgeuse) ที่เคยส่องแสงสว่างเจิดจ้า กลับมืดมัวลงอย่างกะทันหันโดยสูญเสียความสว่างไปถึง 2 ใน 3 ของระดับปกติ ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์พากันตั้งข้อสงสัยว่ามันใกล้จะสิ้นอายุขัยแล้วใช่หรือไม่ 

บีเทลจุสหรือ “อัลฟา โอไรออนิส” เป็นดาวฤกษ์ชนิดดาวยักษ์ใหญ่แดง (Red Supergiant) ในกลุ่มดาวนายพรานหรือโอไรออน ตั้งอยู่ห่างจากโลกราว 640 ปีแสง โดยปรากฏเป็นจุดสว่างบนบ่าซ้ายของนายพราน รายงานวิจัยเมื่อปีที่แล้วคาดว่าบีเทลจุสจะสิ้นอายุขัยและเกิดการระเบิดซูเปอร์โนวาภายใน 100,000 ปีข้างหน้านี้

ล่าสุดทีมวิจัยจากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาวาร์ด-สมิธโซเนียน (CfA) ของสหรัฐฯ ได้ค้นพบสาเหตุที่บีเทลจุสมืดมัวลงอย่างน่ากลัวเมื่อกว่าสองปีก่อน  โดยชี้ว่ามีการปะทุปลดปล่อยมวลปริมาณมหาศาลจากภายใน ทำให้ผิวหน้าบางส่วนของดาวถูกปกคลุมไปด้วยเขม่าควันเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้ดาวดูมืดมัวลงเมื่อมองด้วยกล้องโทรทรรศน์จากพื้นโลกหรือห้วงอวกาศใกล้โลก

ผลวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและกล้องตัวอื่น ๆ ที่ใช้สังเกตการณ์ร่วมกัน ชี้ว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงในปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่แก่นกลางของดาว ทำให้เกิดการปะทุปลดปล่อยมวลมหาศาลจากบรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ (photosphere) กลายเป็นกลุ่มเขม่าควันที่แผ่กว้างถึง 1.6 ล้านกิโลเมตร ทั้งมวลที่ปะทุออกมาก็มีน้ำหนักมากกว่าดวงจันทร์หลายเท่า

ดาวบีเทลจุสอยู่ในกลุ่มดาวนายพราน มองเห็นเป็นจุดสว่างสีส้มที่มุมล่างซ้ายของภาพ

ที่มาของภาพ, NASA

กลุ่มควันนี้ได้บดบังแสงจากดาวบีเทลจุสด้านที่หันเข้าหาโลกพอดี ทำให้วงจรการส่องสว่างและมืดมัวลงตามปกติของมันซึ่งเคยมีขึ้นเป็นวัฏจักรทุก 400 วันหายไปชั่วคราว แต่ในขณะนี้แสงสว่างของบีเทลจุสได้กลับคืนมาเกือบจะเป็นปกติแล้ว

ผลการศึกษาดังกล่าวผ่านการตรวจสอบและเตรียมจะลงตีพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal ในไม่ช้านี้ โดยทีมวิจัยชี้ว่าการปลดปล่อยมวลมหาศาลจากภายในดาวบีเทลจุส ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากการปลดปล่อยมวลโคโรนา (coronal mass ejection) ของดวงอาทิตย์ เนื่องจากมีความรุนแรงสูงกว่าถึง 400,000 ล้านเท่า

แม้จะมีการปลดปล่อยมวลมหาศาล แต่นักดาราศาสตร์มองว่านี่ยังไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกถึงวาระสุดท้ายของบีเทลจุสแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้พวกเขาคาดการณ์กันว่า เมื่อบีเทลจุสเกิดการระเบิดซูเปอร์โนวาจะมีความสว่างยิ่งกว่าดาวศุกร์ 100 เท่า และจะสังเกตเห็นได้บนท้องฟ้าของโลกในเวลากลางวัน

ด้วยเหตุที่บีเทลจุสอยู่ห่างจากโลกหลายร้อยปีแสง ทำให้โลกของเราปลอดภัยหากเกิดการระเบิดซูเปอร์โนวาขึ้น เพราะจะอยู่พ้นรัศมีการทำลายล้าง 50 ปีแสง ซึ่งเป็นระยะทางที่รังสีอันตรายแผ่ออกมา

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว