เมื่อปรากฏการณ์ชัชชาติกลายเป็นหัวข้อสนทนาของ “แกนนำม็อบ” 3 รุ่น

Thai News Pix

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

แกนนำการชุมนุมทางการเมือง 3 รุ่น มองปรากฏการณ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สร้างการเมืองแห่งความหวัง ซึ่งส่งผลทั้งในทางบวกและลบต่อความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน พร้อมแสดงความกังวลต่อกองเชียร์บางส่วนที่ทำให้เกิด “การบูชาตัวบุคคล”

ชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อ 22 พ.ค. และการทำการเมืองรูปแบบใหม่ที่เน้นฉายภาพนักบริหารมืออาชีพ โดยไม่แบ่งขั้ว-ค่ายทางการเมือง ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทย และเกิดเป็นโจทย์ใหม่ให้ผู้นำการเมืองภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ต้องประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคชัชชาติ

“ไม่อยากให้มองว่าชัยชนะของ อ.ชัชชาติคือเบ็ดเสร็จแล้ว”

ศรัณย์ สัชชานนท์ สมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม “10 สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ” ที่ มธ. ศูนย์รังสิต ให้เหตุผลในการกลับมาชุมนุมช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ต้องการทบทวนความทรงจำ” และ “ต้องการปลุกคนให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง” หลังพบว่ามวลชนบางส่วนหลับใหลไปเพราะปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ

ปัจจัยแรกคือ อำนาจรัฐที่ทำให้เกิดข้อจำกัดของสิ่งที่ทำได้

Advertisment

ปัจจัยที่สองคือ ความหวังที่เกิดจากการได้คนที่คาดหวังเข้ามาเป็นผู้แทน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในด้านกลับคือพลังของภาคประชาชนอ่อนลง

“เราไม่อยากให้มองว่าชัยชนะของอาจารย์ชัชชาติคือเบ็ดเสร็จแล้ว มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เรายังดำเนินการในส่วนของเราต่อไปได้พร้อมกับชัยชนะของอาจารย์ชัชชาติ” ศรัณย์กล่าวกับบีบีซีไทย

Advertisment
ม็อบ 10 ส.ค.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

3 เดือนหลังชาว กทม. ได้ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ ประชาชนบางส่วนพึงใจ-สุขใจกับการฟังดนตรีในสวน ชมหนังกลางแปลง ดูไลฟ์ผู้ว่าฯ นั่นทำให้การเมืองบนท้องถนนคล้ายได้รับความสนใจน้อยลง

ศรัณย์ รองประธานสภา มธ. ท่าพระจันทร์ ยอมรับว่า ประชาชนบางส่วนอาจไม่อยากมาร่วมชมนุมแล้ว เพราะคิดว่าสามารถใช้กระบวนการเลือกตั้งแก้ปัญหาได้ หรืออาจคิดว่า “ลองเปลี่ยนยุทธศาสตร์ดูดีกว่า เพราะจัดม็อบมาบ่อยแล้ว สูญเสียกันก็เยอะ โดนนั่นโดนนี่ ลองเปลี่ยนยุทธศาสตร์กลับไปสู่การเมืองในระบบดีกว่า” ซึ่งเขามองเห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย

  • ข้อดี : ความตื่นตัวจากการเมืองในระบบ ทำให้เสียงของประชาชนมีพลัง และอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
  • ข้อเสีย : เมื่อคนหันไปสนใจการเมืองในระบบ ก็อาจละเลยความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน

ความเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2563-2564 ถูกนำไปผูกโยงเข้ากับชัยชนะทางการเมืองของผู้ว่าราชการ กทม. คนที่ 17 ผู้คว้าคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์ สะท้อนผ่านแถลงการณ์  “10 สิงหา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ” ของนักศึกษา มธ. ผู้จัดกิจกรรม

เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคม โดยภาพสะท้อนที่สำคัญที่สุดคือผลลัพธ์จากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งใน กทม.

“พวกเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความเปลี่ยนแปลงนี้คือชัยชนะที่เกิดขึ้นจริง และมันจะบานสะพรั่งขึ้นอีกครั้งภายใต้การเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมาถึง” แถลงการณ์ 10 สิงหาฯ ระบุ

ตัวแทนนักศึกษา มธ. ยังกล่าวเชิญชวนประชาชนให้พิจารณาการเลือกตั้งด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป มิใช่เพียงการออกมาใช้สิทธิเลือกผู้แทน หรือการเปลี่ยนแปลงตัวแสดงในสภา แต่คือ “ปฏิบัติการทางการเมืองอันเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกคนจะออกมารวมพลังพร้อมกัน เพื่อเป็นประตูบานแรกสู่การอภิวัฒน์ทางสังคมการเมืองอย่างแท้จริง”

ศรัณย์ และเพื่อนนักศึกษา มธ. ผู้จัดกิจกรรมชุมนุม 10 ส.ค. 2565

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ทว่านอกจากมีโอกาสร่วมสัมผัสชัยชนะในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น กระแสสูงของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำให้นักกิจกรรมการเมืองรุ่นศิษย์มีหลายเรื่องต้องขบคิดต่อ

หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นในวงประชุมนักศึกษา มธ. ตามคำบอกเล่าของศรัณย์คือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการยึดติดกับตัวบุคคลแบบ heroistic คือคิดว่าคนหนึ่งคนใดเข้ามาแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง

“มันทำให้เป็นการบูชาตัวบุคคล เราไม่อยากให้ประชาชนคิดอย่างนั้น แต่อยากให้มองว่าคนที่ไปทำงานคือผู้แทนของเรา โดยเราคือคนกำหนด ไม่ใช่เขากำหนด ผมไม่ได้กำลังบอกว่าสิ่งที่อาจารย์ชัชชาติทำไม่ดีนะ คือเขาทำดีส่วนหนึ่ง แต่การกำหนดทิศทางทางการเมืองควรมาจากประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง” ศรัณย์กล่าว

นักศึกษาชายรายนี้ชี้ว่า ปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำ “ราษฎร” ผู้ตั้งคำถามเรื่องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อผู้ว่าฯ คนที่ 17 ของ กทม. ในช่วงปลายเดือน พ.ค. คือภาพสะท้อนปัญหาของการบูชาตัวบุคคลได้เป็นอย่างดี

เมื่อให้ประเมินว่าประวัติศาสตร์การเมืองที่สร้างโดยขบวนการนักศึกษาประชาชนเมื่อปี 2563-2564 ถูกตัดจบด้วยชัยชนะจากการไม่เลือกข้างของชัชชาติในปี 2565 แล้วหรือไม่

“ขอใช้คำว่าพลังอ่อนลง ไม่ใช่ถูกตัดจบ เพราะถ้าตัดจบ แสดงว่าเราจะฟื้นกลับมาใหม่ไม่ได้” เขาตอบ และย้ำว่า “ที่พวกเรามารวมตัวกันวันนี้เพื่อปักหมุดหมายว่าเรายังอยู่ และจะสานต่อสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ”

“เราจะไปต่ออย่างไรในช่วงที่ทุกคนมุ่งสู่การเลือกตั้ง”

การประเมินของนักศึกษารุ่นน้อง สอดคล้องกับมุมมองของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นพี่ที่เห็นว่าการมาของชัชชาติทำให้เกิดการปรับโทนการเมืองใหม่

ปฏิกิริยาด้านลบจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนที่มีต่อ รุ้ง-ปนัสยา แกนนำกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” “คณะราษฎร” และ “ราษฎร” หลังสอบถามความเห็นของชัชชาติ เกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112 ในระหว่างผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่แวะไปเยี่ยมชมงาน “ตลาด (นัด) ราษฎร” จัดที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ 3 เมื่อ 29 พ.ค. สร้างความงุนงง ตกใจ และทำให้ต้องทบทวนใหม่ว่าเหตุใดการตั้งคำถามปกติถึงกลายเป็นสิ่งผิดปกติไปได้ในสายตาของคนที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” เหมือนกัน

ทวิตเตอร์

ที่มาของภาพ, TWITTER

หลังจากนั้นชัชชาติและบริบทการเมืองใหม่ ก็กลายเป็นหัวข้อสนทนาในวงแกนนำ “คณะราษฎร/ราษฎร” อยู่หลายครั้ง

สารพัดคำถามเกิดขึ้น อาทิ คนลืมไปแล้วหรือว่าเราต่อสู้เรียกร้องอะไรกันมา? ถ้าการจัดชุมนุมใน กทม. จะมีแรงต้านไหม? เราจะไปต่ออย่างไรในช่วงที่ทุกคนมุ่งสู่การเลือกตั้ง? เราจะดึงแนวร่วมกลับมาได้ไหม แค่ไหน และอย่างไร?

แกนนำราษฎรยอมรับว่า การจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ใน กทม. เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ ทั้งด้วยเนื้อหา, การมีคดีติดตัวของแกนนำ และบรรยากาศการเมืองแห่งความหวังที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาเตรียมสื่อสารต่อสาธารณะคือถึงแม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ได้พรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ตาม แต่การต่อสู้ของภาคประชาชนยังไม่จบ และมีอย่างน้อย 2 ข้อเรียกร้องที่ไม่อาจบรรลุผลได้ในสนามเลือกตั้ง

สำหรับ 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร ที่ถูกย้ำ-ยืนยันบนเวทีชุมนุมของนักศึกษา มธ. เมื่อ 10 ส.ค. ประกอบด้วย 1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ต้องลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของปนัสยากับบีบีซีไทยในวาระครบรอบ 2 ปีปรากฏการณ์ “ทะลุเพดาน” ที่ว่า “ถึงแม้บรรยากาศตอนนี้มันจะดูโปร่งแค่ไหน ถึงเราจะได้อาจารย์ชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีของคน กทม. ทำให้บรรยากาศมีความหวังขึ้น โปร่งขึ้น แต่อย่าลืมว่าการต่อสู้มันยังไม่จบ… เราก็อยากพูดกับทุกคนว่าให้กำข้อเสนอและเป้าหมายของเราเอาไว้แน่น ๆ อย่าให้มันหลุดไปไหน อย่าเพิ่งมั่นใจว่าจะได้หากเรายังไม่เห็นมันจริง ๆ”

“อย่าให้กองเชียร์เป็นลัทธิบูชาบุคคล”

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) และแกนนำชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ใช้ชื่อว่า “คณะหลอมรวมประชาชน” ชี้ให้เห็นถึงการกระบวนการสร้างและสั่งสมตัวตนแบบชัชชาติที่ผิดจากวิสัยของนักการเมืองทั่วไปที่ต้องเลือกข้าง

หนังกลางแปลง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เขาเห็นว่า ชัชชาติได้สร้างการเมืองที่ตัวเองเป็นความหวังของทุกฝ่าย และเปิดพื้นที่แห่งความแตกต่างให้คนที่ได้รับความอึดอัดคับข้องใจมีรูระบาย มีหนังกลางแปลงให้ดู มีดนตรีในสวนให้ฟัง และยังจัดพื้นที่สาธารณะให้ชุมนุมได้ โดยมี กทม. ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่สนใจเนื้อหาและความเชื่อ แต่ปล่อยให้เป็นเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจตุพรมองว่าเป็นทัศนะของผู้ปกครองที่ดี สมควรที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเอาเยี่ยงอย่าง

ย้อนกลับไปเมื่อ 23 มิ.ย. ชัชชาติลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ 7 แห่ง ใน 7 เขต ประกอบด้วย ลานคนเมือง เขตพระนคร, ศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ เขตดินแดง, ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา เขตจตุจักร, ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง, ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี, ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ และสวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน

ชัชชาติกล่าวว่า “เป็นประวัติศาสตร์แรกของกรุงเทพฯ ที่มีการประกาศให้มีพื้นที่ชุมนุม” พร้อมปฏิเสธว่า “ไม่ได้เป็นการจัดโซนนิง แต่เป็นทางเลือกในการเปิดพื้นที่ให้แสดงออกได้”

ในฐานะมีประสบการณ์เป็นอดีตผู้แทนราษฎร และผู้นำมวลชนบนท้องถนน จตุพรกล่าวว่า การจัดวางบทบาทของผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 เป็นพื้นที่กลาง ไม่ซ้าย-ไม่ขวา ไม่สังกัดพรรคการเมือง ทำให้คนไม่ว่ามามุมใด ซ้าย-ขวา-กลาง-หน้า-หลัง ก็รับชัชชาติได้ทั้งหมด แม้แต่คนที่ไม่ได้ลงคะแนนเลือกชัชชาติ ก็ไม่มองเขาเป็นศัตรู

อย่างไรก็ตามจตุพรไม่ขอสรุปว่าการเกิดขึ้นของชัชชาติช่วยสลายการเมืองแบบสุดโต่งหรือไม่ แต่เป็นการสลายความเชื่อชุดเดิมที่ว่าการไม่เลือกข้างจะทำให้ไม่ได้รับชัยชนะ เพราะนักการส่วนหนึ่งชนะจากการเลือกข้าง

ชัชชาติ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อดีตแกนนำคนเสื้อแดงที่ผันตัวมาจัดการชุมนุมประท้วงร่วมกับแกนนำและแนวร่วมคนเสื้อเหลือง ยอมรับว่า เคยนำปรากฏการณ์ชัชชาติเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวง โดยสรุปข้อวิเคราะห์ได้ ดังนี้

  • ชัชชาติกับการเมืองสนามใหญ่ : ปรากฏการณ์ชัชชาติจะไม่มีผลต่อการเลือกตั้งทั่วไป เพราะ ส.ส. ต้องสร้างความขัดแย้ง เลือกฝ่ายชัดเจน เพื่อให้ได้รับคะแนนนิยม
  • ชัชชาติกับการเมืองภาคประชาชน : การจัดวางบทบาทแบบไม่เลือกข้างในเชิงเนื้อหา/ประเด็นข้อเรียกร้อง แต่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกเป็น “หลักคิดที่ถูกต้อง” ไม่ว่ามองจากมุมของผู้ชุมนุมประท้วงฝ่ายใด เพราะถ้าผู้ว่าฯ เป็นพวกเดียวกับนักการเมืองระดับชาติ ก็จะเกิดข้อจำกัดในการทำหน้าที่ เช่น ถ้าประชาชนชุมนุมขับไล่รัฐบาล ผู้ว่าฯ สังกัดพรรครัฐบาลจะกล้าเอารถสุขามาให้บริหารหรือ

การขีดเส้น-ตีกรอบให้ตัวเองไม่ต้องลงไปดูเนื้อหาการชุมนุม ถือเป็น “เกราะป้องกันชั้นดี” ในทัศนะของจตุพร โดยเฉพาะเมื่อมีข้อเรียกร้องที่อ่อนไหว

หากถามว่าชัชชาติเป็นนักการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษนิยมตามหาหรือไม่

ผู้นำประท้วงวัย 56 ปี วัยเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า ถ้าไล่ดูตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ ทุกฝ่ายมองว่าชัชชาติไม่เป็นภัย ตั้งแต่การตั้งชื่อ, ได้ทุนเล่าเรียนหลวง, การใช้ชีวิต, การทำงาน และการวางตัว ถือว่ามาถูกที่ ถูกเวลา ถูกสถานการณ์ และถูกสนาม

สำหรับชื่อ ฉันชาย-ชัชชาติ เป็นนามพระราชทานจากในหลวง ร. 9 ทั้งนี้ “ซูม” คอลัมนิสต์แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเขียนเล่าไว้ว่า พล.ต.อ. เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บิดาของคู่แฝดอายุ 3 ขวบ มีโอกาสเข้าเวรถวายอารักขาในหลวง ร. 9 จึงได้ขอพระราชทานชื่อให้แก่ลูกชายทั้ง 2 ซึ่งต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ด.ช.ชัยวัฒน์ เป็น ฉันชาย มีความหมายว่า ฉันเป็นผู้ชาย ส่วน ชัยวุฒิ เปลี่ยนเป็น ชัชชาติ มีความหมายว่า ชาตินักรบ

จตุพร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ในเวลา 4 ปีนี้ จตุพรระบุว่า ผู้ว่าฯ 1.3 ล้านเสียง ต้องรักษาความหวังและความเชื่อของผู้คน พร้อมกับบริหารกองเชียร์ซึ่งบางส่วนมีลักษณะสุดโต่ง

“ขึ้นอยู่กับชัชชาติว่าจะบริหารกองเชียร์อย่างไร อย่าให้กองเชียร์เป็นลัทธิบูชาบุคคล เพราะท้ายที่สุดก็จะมาทำลายตัวชัชชาติเองในระยะยาว เพราะอย่างไรเสียเขาก็หนีความเป็นมนุษย์ข้อหนึ่งไปไม่พ้น นั่นคือ ไม่สามารถตอบสนองทุกคนได้ทุกเรื่องและทุกเวลา ณ วันที่ชัชชาติแข็งแรง ความแตกต่างอันนี้คนก็จะยังเข้าข้างชัชชาติ แต่ถ้าปล่อยลัทธิเชิดชูบุคคลไว้ในระยะยาวก็จะเกิดความคลั่ง และเกิดเจ้าสำนักลัทธิใหม่ขึ้นมา ซึ่งชัชชาติไม่ควรเดินไปสู่จุดนั้นเพราะจะสร้างความขัดแย้งระลอกใหม่ ต้องวางหลัก ไม่ใช่ตัวบุคคล” จตุพรให้ความเห็น

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ความนิยม ความรัก ความชอบไม่จีรังยังยืนในทางการเมือง ในสนามใหญ่เคยเกิดปรากฏการณ์ “ฟีเวอร์” นักการเมืองบางคน และมีวันที่กระแสฟีเวอร์ไม่หลงเหลือเลย จนไม่มีแม้กระทั่งเสียงเดียว

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว