ค่านิยมเชิดชูความบริสุทธิ์ ทำหญิงอิหร่านต้องขอใบรับรองพรหมจรรย์ก่อนแต่งงาน

Getty Images
  • ฟิรูเซห์ อักบาเรียน และโซเฟีย เบตติซา
  • บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

ในอิหร่าน ความเป็นสาวบริสุทธิ์ก่อนที่จะแต่งงานถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิงหลายคน และสำหรับครอบครัวของพวกเธอ บางครั้งฝ่ายชายจะเรียกร้องให้แสดงใบรับรองพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัจจุบันมีหลายฝ่ายออกมาต่อต้านแนวปฏิบัตินี้เพิ่มขึ้น

“คุณหลอกให้ผมแต่งงานด้วย เพราะคุณไม่ใช่สาวบริสุทธิ์ ไม่มีใครอยากแต่งงานกับคุณถ้าพวกเขารู้ความจริง”

นี่คือสิ่งที่สามีของมาเรียม (นามสมมุติ) พูด หลังจากพวกเขามีเพศสัมพันธ์กันครั้งแรก

เธอพยายามทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเธอไม่เคยมีกิจกรรมทางเพศแบบสอดใส่มาก่อน แม้ว่าเธอจะไม่มีเลือดไหลออกมาระหว่างที่พวกเขามีอะไรกันเป็นครั้งแรกก็ตาม

แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังไม่เชื่อ และสั่งให้เธอไปขอใบรับรองพรหมจรรย์มายืนยันความบริสุทธิ์

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกในอิหร่าน โดยหลังจากหมั้นหมาย ผู้หญิงที่นี่หลายคนจะไปให้แพทย์ตรวจเพื่อรับรองว่าพวกเธอไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน

อย่างไรก็ตาม WHO ระบุว่า การตรวจพรหมจรรย์ไม่มีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์

ในใบรับรองของมาเรียมระบุว่า เยื่อพรหมจารีของเธอเป็นชนิดที่มีความ “ยืดหยุ่น” จึงทำให้เธอไม่มีเลือดไหลออกมาในขณะที่มีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่

“มันทำลายความภาคภูมิใจของฉัน ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่สามีเอาแต่ดูถูกฉัน” มาเรียมเล่า “ฉันทนต่อไปอีกไม่ไหว ก็เลยกินยาเพื่อหวังฆ่าตัวตาย”

เคราะห์ดีที่มีคนมาพบ แล้วนำตัวเธอส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา

“ฉันจะไม่มีวันลืมช่วงเวลาอันมืดมนนั้น ฉันน้ำหนักลดลงไป 20 กก.เลย”

กระแสต่อต้านที่เพิ่มขึ้น

เรื่องราวของมาเรียมเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงหลายคนในอิหร่าน การเป็นสาวบริสุทธิ์ก่อนแต่งงานนั้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงหลายคนและสำหรับครอบครัวของพวกเธอ มันเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมอนุรักษนิยมของประเทศนี้

ทว่าในระยะหลัง อะไร ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หญิงและชายชาวอิหร่านทั่วประเทศเริ่มออกมารณรงค์ให้ยุติการตรวจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะนี้

เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีการยื่นคำร้องออนไลน์ให้ยุติการตรวจพรหมจรรย์ และมีผู้เข้าไปลงนามสนับสนุนเกือบ 25,000 คนภายในเวลาเพียง 1 เดือน นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ชาวอิหร่านจำนวนมากออกมาต่อต้านประเด็นนี้อย่างเปิดเผย

Couple praying in Iran

ที่มาของภาพ, Getty Images

“มันคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสร้างความอับอาย” เนดา (นามสมมุติ) กล่าว

เธอเล่าว่าได้สูญเสียความบริสุทธิ์ให้กับแฟนหนุ่ม ตอนอายุ 17 ปี ขณะเป็นนักศึกษาที่กรุงเตหะราน

“ฉันตื่นตระหนกและกลัวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากครอบครัวของฉันรู้เรื่องนี้เข้า” เธอบอก

เนดา ตัดสินใจเข้ารับการซ่อมแซมเยื่อพรหมจารี

แม้กระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็มีผลเสียที่อันตรายในด้านสังคม ดังนั้นจึงไม่มีโรงพยาบาลไหนรับทำ

แต่เนดาก็พบคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งที่จะรับทำอย่างลับ ๆ แลกกับค่าบริการที่แสนแพง

“ฉันใช้เงินเก็บทั้งหมดที่มี ฉันขายแล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือ และเครื่องประดับทองคำ” เธอเล่า

เธอต้องเซ็นชื่อในเอกสารที่ระบุว่าจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบในทุกกรณีหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

จากนั้นพยาบาลผดุงครรภ์ก็รับหน้าที่เป็นผู้ทำกระบวนการนี้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 นาที

แต่เนดาต้องใช้เวลาพักฟื้นหลายสัปดาห์กว่าที่จะฟื้นตัว

“ฉันเจ็บปวดมากเสียจนขยับขาไม่ได้” เธอเล่า

เนดาต้องเก็บงำเรื่องนี้ไม่ให้พ่อแม่รู้

“ฉันรู้สึกโดดเดี่ยวมาก แต่ความกลัวว่าพวกท่านจะรู้เรื่องเข้าก็ทำให้ฉันอดทนกับความเจ็บปวดได้”

ทว่าท้ายที่สุดความพยายามของเนดาก็เสียเปล่า

1 ปีต่อมาเธอได้รู้จักกับชายที่อยากแต่งงานกับเธอ แต่ตอนที่พวกเขามีเพศสัมพันธ์กัน เธอไม่มีเลือดไหลออกมา การซ่อมแซมเยื่อพรหมจารีครั้งนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

“แฟนกล่าวหาว่าฉันพยายามหลอกให้เขาแต่งงานด้วย เขาบอกว่าฉันเป็นคนโกหกแล้วก็ทิ้งฉันไป”

แรงกดดันจากครอบครัว

แม้ WHO จะประณามการตรวจพรหมจรรย์ โดยชี้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและไม่มีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังพบการกระทำลักษณะนี้ในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อิรัก และตุรกี

องค์กรแพทย์แห่งอิหร่านระบุว่า จะทำการตรวจสอบพรหมจรรย์เฉพาะในบางกรณีเท่านั้น เช่น การพิจารณาคดีในศาล หรือการกล่าวหาเรื่องการข่มขืน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขอใบรับรองพรหมจรรย์ส่วนใหญ่คือผู้ที่กำลังวางแผนจะแต่งงาน ดังนั้นพวกเขาจึงหันไปใช้บริการคลินิกเอกชน

สูตินรีแพทย์หรือนางพยาบาลผดุงครรภ์จะเป็นผู้ตรวจสอบ แล้วออกใบรับรอง ซึ่งเอกสารนี้จะประกอบไปด้วยชื่อเต็มของผู้หญิง ชื่อบิดาของเธอ บัตรประจำตัวประชาชน และรูปถ่ายในบางกรณี โดยจะมีการบรรยายสภาพของเยื่อพรหมจารี พร้อมกับข้อความรับรองว่า “หญิงสาวผู้นี้ดูเหมือนจะยังบริสุทธิ์อยู่”

ในครอบครัวที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม เอกสารฉบับนี้จะต้องมีพยายานเซ็นรับรอง 2 คน ซึ่งตามปกติมักเป็นมารดา

พญ.ฟาริบา (นามสมมุติ) รับหน้าที่ออกเอกสารแบบนี้มาหลายปีแล้ว เธอยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่น่าอับอาย แต่ก็เชื่อว่าเธอได้ช่วยผู้หญิงหลายคนที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากครอบครัว

แพทย์รายนี้ยอมรับว่าบางครั้งก็ช่วยโกหกให้ฝ่ายหญิงว่าเธอยังเป็นสาวบริสุทธิ์อยู่

แต่สำหรับผู้ชายอิหร่านบางคน ค่านิยมนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญ

Woman in wedding dress looks out of window

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ถ้าผู้หญิงเสียตัวก่อนที่จะแต่งงาน เธอถือเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ เธออาจหนีสามีไปหาผู้ชายคนอื่น” อาลี ช่างไฟฟ้าวัย 34 ปี จากเมืองชีราซกล่าว

อย่างไรก็ตาม เขาเล่าว่าเคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงมาแล้ว 10 คน

“ก็ผมอดใจไม่ไหวนี่นา” เขาบอก

อาลียอมรับว่าสังคมอิหร่านมีสองมาตรฐาน แต่ชี้ว่าเขาไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัตินี้

“บรรทัดฐานสังคมยอมรับว่าผู้ชายมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าผู้หญิง” เขาบอก

อาลีไม่ใช่คนเดียวที่คิดแบบนี้ เพราะค่านิยมทำนองนี้มีอยู่อย่างดาษดื่นในอิหร่าน โดยเฉพาะในเขตชนบทหรือชุมชนที่ยังยึดถือความคิดอนุรักษนิยม และแม้จะมีคนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมากขึ้นในระยะหลัง แต่หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลและผู้บัญญัติกฎหมายในอิหร่ายไม่น่าจะสั่งห้ามการตรวจพรหมจรรย์อย่างสิ้นเชิงในเร็ว ๆ นี้

4 ปีหลังจากพยายามฆ่าตัวตาย และใช้ชีวิตกับสามีที่ทำร้ายเธอ ในที่สุดมาเรียมก็สามารถหย่าขาดจากสามีได้สำเร็จผ่านกระบวนการทางศาล

เธอกลับมาเป็นโสดอีกครั้ง แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เธอไม่กล้าเปิดใจอีก “มันคงจะเป็นเรื่องยากมากที่จะไว้ใจผู้ชายอีกครั้ง…ฉันยังไม่เห็นตัวเองแต่งงานอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้” เธอบอก

มาเรียมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงนามสนับสนุนการยกเลิกการออกใบรับรองพรหมจรรย์ในอิหร่าน แม้เธอจะไม่คาดหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่ก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งผู้หญิงอิหร่านจะมีความเสมอภาคกับผู้ชาย

“ฉันเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง ฉันหวังว่าในอนาคตจะไม่มีเด็กสาวคนไหนที่ต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกับฉัน”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว