สนทนากับ “มาดามเดียร์” หลังออกจากมูลนิธิป่ารอยต่อ ทิ้งสถานะ ส.ส. พลังประชารัฐ

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

นายธนกร วังบุญคงชนะ เตรียมทิ้งเก้าอี้โฆษกรัฐบาล เพื่อข้ามไปทำงานในฐานะผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก หลัง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่างลงจากการลาออกของ “มาดามเดียร์”

น.ส. วทันยา  บุนนาค หรือที่รู้จักในชื่อ “มาดามเดียร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเช้าวันนี้ (16 ส.ค.) เพื่อแสดงจุดยืนรักษาความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่

มาดามเดียร์เป็น 1 ใน 9 ส.ส. สังกัด พปชร. ที่ร่วมเป็นองค์ประชุม ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อในวาระ 2 และ 3 เมื่อ 15 ส.ค. ก่อนที่องค์ประชุมจะล่มตามคาด เนื่องจากมีสมาชิกมาแสดงตนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ร่างกฎหมายลูก ที่มีการแก้ไขเนื้อหาวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยสูตรหาร 500 ต้องตกไป แล้วกลับไปใช้ร่างเดิมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใช้สูตรหารด้วย 100

มาดามเดียร์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สำหรับ ส.ส. พปชร. มีทั้งสิ้น 97 คน แต่มีอยู่ 88 คนที่ไม่อยู่หรือไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุม ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ อาทิ พรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่มาแสดงตน 120 คน จาก 132 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ไม่มาแสดงตน 13 คน จาก 16 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ไม่มาแสดงตน 5 คน จาก 12 คน

ด้านพรรคที่ ส.ส. ส่วนใหญ่ร่วมเป็นองค์ประชุมคือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มี ส.ส. แสดงตนถึง 59 คน จาก 62 คน, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แสดงตน 42 คน จาก 52 คน และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แสดงตน 43 คน จาก 54 คน

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาแสดงตน 150 คน และอีก 99 คนไม่แสดงตน

มาดามเดียร์กับเพื่อน ส.ส. ที่อยู่เป็นองค์ประชุมรัฐสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เหตุการณ์การประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อ 15 ส.ค. เป็นสิ่งที่ น.ส. วทันยาใช้คำว่า “น่าเศร้าใจ” และ “ทำให้ประชาชนเกิดข้อกังขาว่ารัฐสภายังคงเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้อยู่หรือไม่” ในฐานะ ส.ส. จึงไม่อาจปฏิเสธถึงข้อกังขาศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐสภาได้

ก่อนประกาศลาออกผ่านโลกออนไลน์ น.ส. วทันยาได้เดินทางเข้าพบ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า พปชร. ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ช่วงเช้าวันนี้ เพื่อแจ้งการตัดสินใจและกราบลา ทั้งนี้เธอบอกว่า พล.อ. ประวิตรเข้าใจการทำหน้าที่ การยืนยันตัวตน และการแสดงจุดยืนของเธอ

“ท่านเป็นผู้ใหญ่ ก็ให้ความเมตตา แม้เดียร์ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแล้ว แต่ให้ความเคารพผู้ใหญ่ในฐานะผู้น้อยก็ไม่ได้เปลี่ยนไป ท่านก็อวยพรสั้น ๆ ว่าขอให้โชคดี” น.ส. วทันยากล่าวกับบีบีซีไทย

“ในฐานะประชาชนคงรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น”

ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับการแก้ไขเมื่อปีก่อน โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกการตัดสินใจเลือกระหว่าง ส.ส.แบบแบ่งเขต กับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ น.ส. วทันยาสนับสนุนวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยใช้สูตรหาร 100 ซึ่งเธอบอกว่าได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้ว 99% ตีความตรงกันว่าสูตรหารด้วย 100 ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564

สภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

แม้เคารพความเห็นของสมาชิกที่มองต่างออกไป แต่เธอไม่เห็นด้วยกับการไม่เข้าประชุมสภา ซึ่งถือเป็นหน้าที่อันดับแรกและหน้าที่พื้นฐานของ ส.ส.

“ถ้าไม่เห็นด้วย ก็เข้าไปโหวตคว่ำสูตรหาร 500 ได้” และ “ในฐานะประชาชนคงรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องทำหน้าที่ของตัวเราให้ถูกต้องก่อน เหมือนที่เดียร์ไม่เห็นด้วยกับพรรค แต่ไม่เลือกใช้วิธีอื่น ก็ใช้เอกสิทธิ์ของเราในสภา แม้ไม่สามารถเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี หรือเปลี่ยนนโยบายอะไรได้ แต่ประชาชนและสังคมก็ได้เห็น ก็อาจทำให้ผู้ใหญ่ได้ทบทวนบ้าง” น.ส. วทันยากล่าว

ก่อนหน้านี้ น.ส. วทันยาเคยแหวกแนวทางของ พปชร. หลายครั้ง โดยล่าสุดคือการลงมติ “งดออกเสียง” ให้ 2 รัฐมนตรีคือ รมว.คมนาคม และ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ ก.ค. ที่ผ่านมา

น.ส. วทันยาเห็นว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจเป็นเรื่องมารยาทการเมือง แต่อันนี้ไม่ใช่มารยาทการเมือง คือ a must (ต้องทำ) เรื่องแรก เป็นหน้าที่ ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข

หากถามว่าการไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองได้หรือไม่

คำตอบของนักการเมืองหญิง ผู้เป็นมารดาของลูกน้อย 2 คนคือ “มันเหมือนเด็กนักเรียนที่มีหน้าที่หลักคือไปเรียนหนังสือ แต่บอกว่าไม่เรียนแล้ว หาดูในยูทิวบ์เอาก็ได้ ซึ่งมันก็เหมือนจะได้ แต่ก็มีคำถามตามมา สมมติเป็นองค์กรที่ต้องรับคุณเข้าทำงาน ก็จะมีคำถามเรื่องความรับผิดชอบ จะสามารถเชื่อใจเขาได้ไหม ถ้าทุกคนคิดว่าทำแบบนี้ได้ กติกาก็ใช้ไม่ได้จริง ถูกไหมคะ”

ไม่ยืนยันข่าว พปชร.-พท. จับมือคว่ำสูตรหาร 500

ส่วนการที่นักการเมือง 2 พรรคใหญ่จากต่างขั้วพร้อมใจกันหายตัวไปจากห้องประชุมรัฐสภา ทำให้กระแสข่าวเรื่องมีใบสั่งจาก “ผู้ใหญ่” ให้ พปชร. จับมือกับ พท. คว่ำสูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 ดูมีน้ำหนักขึ้นมาหรือไม่นั้น น.ส. วทันยาบอกว่า มันก็เป็นการวิเคราะห์ไปต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเหตุการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น “แต่ตราบใดที่ไม่ใช่ท่านประวิตร หรือคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ออกมายืนยัน ก็ไม่มีใครรู้จริงหรอก ก็คาดเดากันไปเรื่อย”

อดีตลูกพรรค พปชร. ยืนยันว่า ไม่เคยได้รับโทรศัพท์ หรือการบอกกล่าวใด ๆ จาก พล.อ. ประวิตร ในเรื่องนี้ จึงไม่ขอยืนยันข้อเท็จจริง

นอกจากนี้เธอยังปฏิเสธจะให้ความเห็นว่า มี ส.ส.กทม. สังกัด พปชร. จะลาออกอีกหรือไม่ เพราะถือเป็นการตัดสินใจส่วนบุคล ซึ่งแต่ละคนย่อมมีเหตุผล เงื่อนไข และข้อจำกัดแตกต่างกัน คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องตัดสินใจตาม ๆ กัน

ลุงป้อม

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

ไม่ตอบอยู่ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับไหนถึงจะปลอดภัย

ในเวลาที่เหลืออีก 7 เดือนก่อนสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 จะครบวาระในเดือน มี.ค. 2566 น.ส. วทันยาตั้งใจว่าจะไปทำธุรกิจด้านการเงินสักพัก ก่อนตัดสินใจหา “บ้านหลังใหม่” ในทางการเมือง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับหลายพรรค

ชื่อของ “มาดามเดียร์” ถูกโยน-ถุกปล่อยกลางวงพูดคุยของนักการเมืองหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็น ปชป., พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), พรรคสร้างอนาคตไทย (สอคท.) หรือพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) จึงน่าสนใจว่าเธอจะไปลงเอยกับพรรคการเมืองไหนกันแน่

น.ส. วทันยายังไม่ได้ให้คำตอบชัดเจน แต่บอกใบ้ว่าคงเลือก “พรรคที่มีพื้นฐานของประชาธิปไตยจริง ๆ และไม่ถูกครอบงำโดยคนหรือกลุ่มบุคคล” ซึ่งแต่ละพรรคมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง พชปร. ก็มีวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง แนวคิดของเธออาจไม่ได้เหมือนกันทั้งหมดกับพรรค หลายเรื่องอาจไปคนละทาง แต่พื้นฐานประชาธิปไตย ไม่ว่ามติออกจะมาอย่างไร แต่ควรเกิดกระบวนการแสดงความเห็น และมีโอกาสถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่สิ่งที่เป็นทางออกที่ดี ทั้งนี้ส่วนตัวเมื่อไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางของพรรค ก็เป็นเรื่องที่ต้องทบทวนตัวเอง

นักการเมืองอายุงาน 3 ปี ขอใช้เวลาในคุย-คิด ก่อนตัดสินใจ เพราะ “อยากกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน ถ้าไปตัดสินใจจากภาพลักษณ์ หรือสิ่งที่คนวิเคราะห์วิจารณ์จากข้างนอก ก็อาจทำให้เราหลงทิศหลงทาง”

อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ยังสนใจลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อไป เพราะต้องการขับเคลื่อนงานในเชิงนโยบาย หากลงสมัคร ส.ส.เขต ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานในพื้นที่ ทำให้มีเวลาโฟกัสงานอื่น ๆ ได้น้อยลง

มาดามเดียร์

ที่มาของภาพ, Watanya Bunnag

ภายใต้ระบบเลือกตั้งใหม่-ใช่บัตร 2 ใบ คิดว่าอยู่ปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับใดถึงปลอดภัย น.ส. วทันยาตอบว่า ไม่ทราบเลย เพราะผลการเลือกตั้งปี 2562 ไม่สามารถใช้อธิบายการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ทั้งหมด เพราะไม่เคยมีจำนวนพรรคการเมืองมากขนาดนี้ อีกทั้งประชาชนก็แบ่งกลุ่ม และบริบทหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงแม้การเลือกตั้งครั้งหน้าจะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และคำนวณปาร์ตี้ลิสด์แบบหารด้วย 100 แต่บริบทก็ต่างจากช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 โดยสิ้นเชิง

ธนกรจ่อทิ้งเก้าอี้โฆษกรัฐบาล นั่ง ส.ส. แทน

สำหรับ น.ส. วทันยา เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 19 ของ พปชร. และเข้ามาร่วมงานกับ พปชร. ตั้งแต่ พ.ย. 2561

ผลจากการลาออกจากตำแหน่งของนักการเมืองหญิงรายนี้ ทำให้นายธนกร วังบุญคงชนะ หรือ “ดร.แด็ก” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 27 ของ พปชร. จ่อเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อคนใหม่ ทั้งนี้หากเขาต้องการข้ามฟากจากการทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารไปนั่งทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ นายธนกรก็ทิ้งเก้าอี้โฆษกรัฐบาล

ด้านนายธนกรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล หลังเสร็จสิ้นการแถลงมติ ครม. โดยแสดงความพร้อมในการเข้ารับตำแหน่งใหม่ในฐานะ ส.ส. ส่วนจะชัดเจนเมื่อใดนั้น ก็ต้องรอกลไกของสภา

“ผมคิดอยู่เสมอว่าบัญชีรายชื่อ ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐใกล้จะถึงผมแล้ว ซึ่งได้คิดไว้ล่วงหน้า ได้ปรึกษาผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยินดีกับผม โดยผมบอกท่านนายกฯ ว่ายินดีที่จะทำงานกับท่านเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน” นายธนกรกล่าวและย้ำว่า “การเป็น ส.ส. ก็เป็นเส้นทางที่ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก”

มีรายงานว่า น.ส. ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษก พปชร. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พปชร. เตรียมเข้ามาร่วมทีมโฆษกรัฐบาลแทน

ทว่านายธนกรปฏิเสธจะตอบคำถามนี้ โดยบอกเพียงว่าไม่ทราบ

……….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว