อัฟกานิสถาน : ฟังเสียงพนักงานสัญญาจ้างที่รู้สึกว่าถูกอังกฤษ “ทิ้งไว้ข้างหลัง”

  • โยกิตา ลิเมอร์เย
  • บีบีซี นิวส์ ณ กรุงคาบูล

ถุงกระดาษธรรมดา ๆ ที่อัมมาร์ถือติดตัวไว้ ข้างในเต็มไปด้วยเอกสารซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดของเขาตอนนี้

เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าความสนใจของคนรอบข้าง อัมมาร์ตัดสินใจขับรถจักรยานยนต์จากบ้านพักมาพบเราในสถานที่ปลอดภัย เขากังวลมากว่าจะถูกกลุ่มตาลีบันเรียกค้นตัวระหว่างการเดินทาง และจะพบเอกสารสำคัญนี้

แผ่นกระดาษจำนวนหนึ่งในถุงพลาสติกใบนั้นคือสัญญาว่าจ้างทำงานเป็นเวลาสองปีจากบริติช เคาน์ซิล สถาบันด้านภาษาและวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร อัมมาร์เป็นครูให้กับสถาบันฯ นอกจากนี้ยังมีเอกสารอื่น ๆ ที่ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องของเขากับสหราชอาณาจักร ซึ่งเขาได้แต่หวังว่าหลักฐานเหล่านี้จะช่วยให้เขาและครอบครัวปลอดภัย อัมมาร์หวาดกลัวอย่างมากว่าการทำงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะนำผลเสียมาสู่ตัว

“เราสอนวัฒนธรรมสหราชอาณาจักรและคุณค่าที่พวกเขายึดถือในอัฟกานิสถาน นอกจากการสอนภาษาอังกฤษแล้ว เรายังให้ความรู้เรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการอยู่ร่วมกัน ตามความเชื่อของพวกเขา [ตาลีบัน] สิ่งที่เราสอนอยู่นอกเหนือศาสนาอิสลาม และเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขามองว่าเราเป็นอาชญากรและต้องการลงโทษเรา พวกเราถึงได้หวาดกลัวกัน” เขากล่าว

อัมมาร์เคยถูกกลุ่มตาลีบันควบคุมตัวมาแล้ว และเขาก็กังวลว่าครอบครัวจะตกอยู่ในอันตราย

“พวกนั้นพาผมไปสถานีตำรวจและสอบปากคำว่าผมเคยทำงานกับรัฐบาลต่างประเทศหรือไม่ โชคดีว่าพวกนั้นไม่เจอหลักฐานอะไรทั้งที่บ้านและในโทรศัพท์ของผม”

“แต่ผมไม่คิดว่ามันจะจบแค่นั้น พวกเขายังจับตาผมอยู่”

อัมมาร์เป็นหนึ่งในครูมากกว่า 100 คน ที่เคยทำงานให้กับบริติช เคาน์ซิล ในสายงานที่ต้องเป็นหน้าตาให้กับสถาบันฯ พวกเขาถูกทิ้งเอาไว้ที่อัฟกานิสถาน และครูจำนวนมากเหล่านี้ก็เป็นผู้หญิง

นูเรียเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอีกคนหนึ่งของบริติช เคาน์ซิล

“มันเป็นเรื่องยากสำหรับเรา พวกนั้นมีความคิดสุดโต่ง และมักจะพูดบ่อย ๆ ว่า สิ่งที่เราสอนเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ทุกที่ที่เราไป เราถูกมองว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลสหราชอาณาจักร”

“บางคนถึงขั้นคิดว่าเราเป็นสายลับให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักร” และเธอกล่าวว่าความคิดเช่นนี้ผลักให้เธอและครอบครัวตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ตาลีบันคือผู้ปกครองประเทศ

กลุ่มนักรบตาลีบัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

แม้ฝั่งตาลีบันจะออกมานิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เคยทำงานให้กับระบอบการปกครองแบบเก่าและเหล่าพันธมิตร ทว่าการสังหารหมู่กลับเกิดขึ้นบ่อยครั้ง องค์การสหประชาชาติรายงานว่ามีเหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้นแล้ว 160 กรณี

ตั้งแต่ตาลีบันขึ้นมาปกครองประเทศ นูเรียก็ได้แต่ซ่อนตัว

“มันตึงเครียดอย่างมาก นี่มันเลวร้ายกว่าชีวิตของนักโทษเสียอีก เราไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ เราต้องแต่งตัวไม่ให้คนรู้ว่าเป็นเราเวลาไปข้างนอก มันส่งผลกระทบกับจิตใจของฉัน บางครั้งฉันรู้สึกว่าโลกมันมาถึงจุดจบแล้ว” เธอกล่าว

เธอกล่าวหาบริติช เคาน์ซิล ว่ามีการเลือกปฏิบัติกับพนักงานในสถาบันของตัวเอง

“พวกเขาย้ายที่อยู่ให้กับคนที่ทำงานในออฟฟิศ และทิ้งเราไว้ข้างหลัง พวกเขาไม่แม้แต่จะบอกเราว่ามีสิ่งที่เรียกว่านโยบายช่วยเหลือโยกย้ายถิ่นให้ชาวอัฟกัน [Afghan Relocation Assistance Policy (ARAP)]”

ตอนนี้นูเรียและครูคนอื่น ๆ หาช่องทางอพยพมายังสหราชอาณาจักรผ่านอีกโครงการหนึ่งที่เรียกว่า โครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ให้กับชาวอัฟกัน [ Afghan Citizens Resettlement Scheme (ACRS)] ทว่านับจนถึงตอนนี้ พวกเขาได้แค่หมายเลขอ้างอิงเท่านั้น

บริติช เคาน์ซิล กล่าวว่าตอนเริ่มโครงการ ARAP ใหม่ ๆ นั้น รัฐบาลอังกฤษพิจารณาใบสมัครเฉพาะลูกจ้างประจำซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำงานในออฟฟิศเท่านั้น แต่ไม่ได้พิจารณาครูหรือคนงานสัญญาจ้างอื่น ๆ

สถาบันภาษาและวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักรยังเสริมว่าได้พยายามผลักดันรัฐบาลไปในเรื่องนี้แล้ว

กระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักรเสริมว่าคนงานสัญญาจ้างของบริติช เคาน์ซิล สามารถสมัครเข้าโครงการ ACRS ได้ และกระทรวงฯ พยายามเร่งกระบวนการรับสมัครให้เร็วที่สุดแต่ไม่ได้ตอบกลับมาว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าใด

“คงต้องให้คนงานสัญญาจ้างตายก่อนพวกเขาถึงจะทำงานอย่างทันท่วงทีได้ และตอนนี้พวกเขาก็อาจจะรู้สึกว่า ใช่ พวกนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง ตอนนี้ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ผมว่าไม่ช้าก็เร็วสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้น” อัมมาร์ กล่าว

หนทางสู่ความปลอดภัยยิ่งดูไม่แน่นอนเข้าไปใหญ่สำหรับผู้ที่เคยทำงานบางตำแหน่งให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักร

เจฟเฟอร์เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาอาวุโสที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับโครงการพัฒนาจำนวนมากในอัฟกานิสถานที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้การสนับสนุน

เขาได้รับการว่าจ้างโดยตรงจากบริษัทสัญชาติอังกฤษ บางบริษัทรัฐบาลก่อตั้งโดยตรง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลว่าจ้างมาอีกที เขายังทำงานในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกันให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการร่วมงานกับกองทัพสหรัฐฯ

ตั้งแต่ก่อนปี 2021 เจฟเฟอร์ก็ได้รับคำขู่จากกลุ่มตาลีบันแล้ว มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กลุ่มติดอาวุธเดินหน้าสังหารสมาชิกภาคประชาสังคมของอัฟกานิสถานที่มีความโดดเด่น

เจฟเฟอร์ให้เราดูข้อความข่มขู่ที่เขาได้รับ กลุ่มตาลีบันกล่าวหาว่าเขาเป็นสายลับให้กับรัฐบาลต่างประเทศและขู่ว่าเขาจะถูกสังหารจาก “การทรยศต่อศรัทธาแห่งอิสลาม”

นับตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว เจฟเฟอร์ย้ายที่อยู่แล้วทั้งหมด 7 ครั้ง

เขาให้เราดูจดหมายแสดงตัวที่ครอบครัวของเขาได้รับเมื่อต้นปีที่ผ่านมาจากกระทรวงมหาดไทยของกลุ่มตาลีบันที่บอกให้เขาเดินทางไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ เขาได้รับจดหมายเช่นนี้มาแล้ว 3 ฉบับ

“ผมต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะความเครียดและความกลัว ผมนอนไม่หลับ ถึงแพทย์จะจ่ายยาขนานแรงให้กับผม มันก็ไม่ช่วยอะไรมาก ภรรยาของผมตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ผมไม่ได้ให้ลูก ๆ ไปโรงเรียน ผมกลัวว่าพวกนั้นจะจำเด็ก ๆ ได้” เขากล่าว

เจฟเฟอร์ถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธวีซ่าพิเศษสำหรับผู้ลี้ภัย เนื่องจากเขาไม่สามารถยื่นจดหมายแนะนำตัวจากหัวหน้าของเขาซึ่งเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้

ระหว่างช่วงเวลาแห่งการอพยพที่โกลาหลหลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองประเทศอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่จากสหราชอาณาจักรเรียกให้เจฟเฟอร์และครอบครัวไปยังสนามบิน เขาและครอบครัวนั่งอยู่บนรถบัสคันหนึ่งนอกสนามบินเป็นเวลา 6 ชั่วโมง

“ลูกชายของผมรู้สึกอยากจะอาเจียน แต่เราไม่สามารถเปิดหน้าต่างรถบัสได้เพราะคนที่อยู่ข้างนอกจะพยายามเข้ามาในรถ และตอนที่กลุ่มตาลีบันยิงปืนขึ้นท้องฟ้า ลูกชายของผมเห็นเข้า เขายังรู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องนี้จนถึงตอนนี้”

ส.ค. 2021

ที่มาของภาพ, Getty Images

นั่นเป็นวันเดียวกับที่มีการโจมตีสนามบินด้วยระเบิดพลีชีพซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 180 ราย

กระบวนการอพยพภาคพื้นดินของสหราชอาณาจักรเป็นไปอย่างรวบรัดโดยที่เจฟเฟอร์และครอบครัวไม่สามารถผ่านเข้าไปได้

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเจฟเฟอร์ได้เพียงแค่เลขยืนยันจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรตอบกลับการสมัครโครงการ ARAP ของเขา

“ผมทำงานให้พวกเขา ผมช่วยอำนวยความสะดวกให้พวกเขา ชาวอัฟกันทั่ว ๆ ไปไม่ได้รังเกียจพวกเขา [ชาวต่างชาติ] เพราะเราโน้มน้าวประชาชนให้ยอมทำให้ทำโครงการต่าง ๆ แต่เราต้องเผชิญหน้ากับคำขู่และตอนนี้เราก็ถูกทิ้งไว้แบบนี้ ผมไม่มีที่ไหนในโลกนี้ที่จะอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

เราพูดคุยกับผู้ที่เคยทำงานให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรอย่างน้อย 3 คน ในจำนวนนี้รวมถึงคนที่เคยทำงานเป็นล่ามให้กับกองทัพสหราชอาณาจักร ทั้งยังเคยร่วมเดินทางไปยังพื้นที่ด่านหน้าของการสู้รบมาแล้ว ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขารู้สึกถูกทรยศโดยบุคคลที่พวกเขาเคยเสี่ยงชีวิตทำงานให้

ทหารอังกฤษคนหนึ่ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัฐบาลสหราชอาณาจักรอพยพผู้คนราว 15,000 คน ในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว และอีก 5,000 คน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทว่ายังมีคนอีกมากที่รอคอยความช่วยเหลือ พวกเขาใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยความหวาดกลัว ติดอยู่ปากเหวนรก และได้แต่รออีเมลด้วยความหวังอันน้อยนิด

“ฉันเคยรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร” นูเรีย กล่าว

“แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกคิดผิด ฉันนึกอยากให้ตัวเองไม่เคยทำงานให้กับพวกเขา เพราะพวกเขาไม่เห็นคุณค่าชีวิตและงานของพวกเรา และยังโหดร้ายที่ทิ้งเราไว้ข้างหลังแบบนี้”

ชื่อของผู้ให้สัมภาษณ์ในบทความนี้ถูกเปลี่ยนเพื่อปกป้องตัวตนของพวกเขา

………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว