แม่น้ำโขง : ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องให้ กฟผ. คดีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ชี้ชาวบ้าน 8 จังหวัดริมโขง ไร้อำนาจฟ้องรัฐ

This aerial photo taken on October 31, 2019 shows Mekong River in Pak Chom district in the northeastern Thai province of Loei with Laos side seen at right.

ที่มาของภาพ, AFP

ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องการอุทธรณ์ของเครือข่ายคนลุ่มโขง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร้องขอให้สั่งยกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหตุไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หลังจากฟ้องคดีมานาน 10 ปี

เครือข่ายภาคประชาชนและชาวบ้าน 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ จ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวม 37คน นำโดย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ยื่นฟ้อง กฟผ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และคณะรัฐมนตรี ว่าร่วมกันดำเนินการโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีของ กฟผ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมทั้งในฝั่งไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

ประเด็นสำคัญของการฟ้องนี้ คือ การเกิดผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยขอให้ศาลพิพากษายกเลิกโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว

“ศาลมองว่ากรณีสัญญาซื้อไฟ ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีหรือประชาชนลุ่มน้ำโขง แต่การที่มีผลกระทบคือเกิดจากเขื่อนไม่ได้เกิดจากสัญญาซื้อไฟ… ศาลเห็นว่าจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 57” นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ ระบุ

ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า คดีนี้ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในเรื่องการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการไชยะบุรีได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แต่อย่างใด

นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวด้วยว่า ศาลเห็นว่า ประกาศกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอขอความเห็นชอบตาม มาตรา 47 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2535 และขณะได้มีการดำเนินโครงการเพื่อทำสัญญาจัดซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี ก็ไม่ได้กำหนดให้โครงการสัญญารับซื้อไฟฟ้าต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินโครงการ ดังนั้น กฟผ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี จึงไม่มีหน้าที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ศาลปกครองสูงสุดยังเคยได้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 แล้วว่าผู้ฟ้องคดี 37 คน ไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในประเด็นที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว การที่ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2558 นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

เขื่อนไซยะบุรี เริ่มก่อสร้างในปี 2555 ทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเดือน ก.ค. 2562 และเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. 2562

ไม่กี่วันหลังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ก็ปรากฏภาพของแม่น้ำโขงแห้งขอดจนเห็นแก่งหิน ดอนทรายที่แม่น้ำโขงช่วงบริเวณ อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ห่างออกไปกว่า 200 กม.

ขณะที่เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมานี้ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ที่จังหวัดบึงกาฬ มีระดับสูงขึ้น วัดได้ 8.30 เมตร เป็นระดับน้ำสูงสุดในรอบปี 2565 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของไทย ระบุว่า เนื่องจากมีฝนตกหนักในแขวงหลวงพระบางของ สปป.ลาว ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเข่อนไซยะบุรีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ด้านท้ายเขื่อนมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากการที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนในอัตรา 9,000-10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

เขื่อนไซยะบุรี ลงทุนโดยกลุ่มบริษัท ช.การช่าง และบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ด้วยสินเชื่อจาก 6 ธนาคารไทย คือ ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทิสโก้

ปัจจุบันไทย รับซื้อไฟฟ้าผลิตจากเขื่อนไซยะบุรีถึง 95% โดยมีการทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังผลิตติดตั้ง 1,225 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี นับจากวันซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาเท่ากับ 2.479 บาท/หน่วย

โรงไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. โดยส่งกระแสไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงไซยะบุรีผ่านระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงท่าลี่ อ.ท่าลี่ จ.เลย เพื่อนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทย

ภาพแม่น้ำโขงเหือดแห้งครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2562

ภาพมุมสูงของแม่น้ำโขงช่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่แห้งลงจนเหลือให้เห็นเพียงร่องน้ำช่วงกลาง เป็นภาวะผิดไปจากธรรมชาติตามฤดูกาลของแม่น้ำโขงที่เคยเป็นมาทุกปี

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) องค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการประสานงานจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทย ตั้งแต่เดือน มิ.ย.- ต.ค. ปีนี้ ลดต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี โดยระดับน้ำที่ จ.หนองคาย ตรงข้ามกับกรุงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว ลดลงราว 1 เมตร เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (29 ต.ค.) ซึ่งถือว่าลดลงต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยหลายเท่าตัว

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุอีกว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตลอดทั้งสายยัง “ถือว่าต่ำกว่าระดับต่ำที่สุดในช่วงเวลานี้ของปี และคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะยังคงลดต่ำลงอีก” พร้อมชี้ว่าสถานการณ์เช่นนี้ถือว่าน่ากังวลสำหรับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

ผู้เชี่ยวชาญชี้เขื่อนหลายแห่งในจีนและลาวเป็นสาเหตุ

นายไบรอัน อีย์เลอร์ หัวหน้าคณะนักวิจัยด้านนโยบายลุ่มแม่น้ำโขง แห่ง Stimson Center และผู้เขียนหนังสือ Last Days of the Mighty Mekong ชี้ว่าการสร้างเขื่อนในจีนและลาวหลายแห่ง เป็นต้นเหตุทำให้แม่น้ำโขงแห้งลง

“เขื่อนเหล่านี้ทำให้แม่น้ำโขงตายลงอย่างช้า ๆ”

This screengrab from an aerial video taken on October 28, 2019 shows the Mekong river in Sungkom district in Nong Khai province,

ที่มาของภาพ, AFP

เขาระบุอีกว่า ขณะนี้แม่น้ำโขงตอนล่างอยู่ในสภาพวิกฤตไปจนกว่าจะถึงฤดูฝนของปีหน้า

ข้อมูลจากองค์กรแม่น้ำนานาชาติระบุว่า สปป.ลาวซึ่งประกาศตัวเป็น “แบตเตอรีของเอเชีย” มีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนที่ดำเนินการแล้ว 44 แห่ง และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงอีก 46 แห่ง

วิกฤตหนักที่ อ.สังคม จ.หนองคาย

“ต.ค. – พ.ย. น้ำมาก พอจะถึงเทศกาลลอยกระทง น้ำจะเข้าบุ่งอยู่แล้ว แต่นี่ไม่มีน้ำเลย มันลดมากถึง 10 เมตร ผิดปกติมาก” ก้านก่อง จันลอง ประธานกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำโขง ชาวบ้านห้วยค้อ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของสายน้ำที่เธอเห็นมาตั้งแต่เกิด

“มาปีนี้ต้นไคร้ตายหมดเลย ปกติช่วงนี้จะต้องอยู่ใต้น้ำ….พี่อยู่นี่ 40 ปี ยังไม่เคยเห็นว่าพื้นน้ำเป็นพื้นหินขนาดนี้”

ก้านก่อง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลงและค่อย ๆ แห้งลงตั้งแต่ช่วงวันที่ 23-24 ต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวานนี้ (29 ต.ค.) ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมาน้ำค่อย ๆ เพิ่มระดับขึ้นมาราว 1-2 ฟุต

สถานการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอด ปรากฏให้เห็นแก่งหิน ดอนทรายที่เกิดขึ้นที่ อ.สังคม จ.หนองคาย ย้อนขึ้นไปถึง อ.เชียงคาน จ.เลย เกิดขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกับเขื่อนไซยะบุรี ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ต.ค.ที่ อ.สังคม ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 200 กม.

ประธานกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำโขง ให้ข้อมูลอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อคืนวันที่ 22 ต.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นสูงอย่างรวดเร็วถึง 3 เมตร ภายในชั่วข้ามคืน สร้างความเสียหายให้กับชาวประมงริมแม่น้ำโขงในหมู่บ้าน เบ็ด และตาข่ายดักปลาที่ชาวประมงลงทุนไว้หายไปกับสายน้ำ

“เรือชาวประมงหายไปหมด น้ำแรงมากเลย เรือ (หมู่) บ้านพี่ต้องไปตามประมาณสิบกิโล ได้คืนบ้างไม่ได้คืนบ้าง”

ไม่เพียงเผชิญกับการแห้งขอดของสายน้ำเท่านั้น แต่สิ่งที่ชาวบ้านพบเห็นมาตั้งแต่เดือน ก.ค. คือ ความผันผวนของระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติ และยิ่งหนักขึ้นในเดือน ต.ค.

“สิบกว่าวันมันแห้งแล้วน้ำ สองวันขยับขึ้น แล้วลงอีก…. ไม่รู้ว่าชาวบ้านจะปรับตัวกันยังไง พูดถึงวิถีชีวิต คนแก่อายุ 70-80 ที่หาปลามา เขาบอกน้ำเป็นตะกอน น้ำขึ้นน้ำลงธรรมชาติ หรือมีน้ำป่าในรอบ 30 ปี เขาก็ปรับสภาพได้ แต่นี่กลายเป็นคนกำหนด น้ำสาขาไม่มีเลย” ก้านก่อง กล่าวกับบีบีซีไทย

Activists and villagers protest against Laos dam on Mekong river outside of Loei, Thailand, October 29, 2019

ที่มาของภาพ, Reuters

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของปีนี้ที่แม่น้ำโขงในบริเวณนี้แห้งลงผิดฤดูกาล แต่เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แม่น้ำโขงใน อ.สังคม จ.หนองคาย จ.เลย บึงกาฬ และนครพนม ก็ลดระดับลงอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุสาเหตุในครั้งนั้นว่าเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าปกติทั้งในจีน ลาว ไทย การลดระดับการระบายน้ำของเขื่อนในจีน และการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีของ สปป. ลาว

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

เขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป. ลาว มีบริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด เครือ ช.การช่าง เป็นผู้ก่อสร้าง เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างบริเวณ สปป. ลาว ห่างจากประเทศไทย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กม. ตัวสันเขื่อนพาดกั้นลำน้ำโขง มีความยาว 810 เมตร กำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ทำสัญญาขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 60 เมกะวัตต์

หนังสือพิมพ์ลงภาพโฆษณาการเปิดเดินเครื่องเขื่อนไซยะบุรี

บริษัท ซีเค พาวเวอร์ เครือ ช.การช่าง ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. และได้ออกเอกสารชี้แจง โดยยืนยันว่าเขื่อนแห่งนี้เป็นลักษณะ “ฝายทดน้ำขนาดใหญ่” เขื่อนน้ำผ่านหรือ “run-of-river” ซึ่งไม่ได้กักน้ำ จึงไม่ใช่ต้นเหตุทำให้น้ำโขงน้อยกว่าปกติ

ขณะที่แม่น้ำโขงที่ จ.หนองคาย และ จ.เลย เหือดแห้ง บนหน้าหนังสือพิมพ์ระดับชาติของไทยและภาษาอังกฤษของวันที่ 29 ต.ค. ลงข่าวประชาสัมพันธ์การดำเนินการของเขื่อนไซยะบุรีหลายฉบับ ระบุถึงการดำเนินการที่ยั่งยืน

บีบีซีไทยติดต่อไปยังบริษัท ซีเค พาวเวอร์ เพื่อขอคำชี้แจงเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ขณะที่เว็บไซต์ของบริษัทระบุว่าบริษัทมีวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ที่มีการดำเนินงานอันมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีพันธกิจในการสร้างผลตอบแทนที่ดี มั่นคงและเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้น ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

This screengrab from an aerial video taken on October 28, 2019 shows the Mekong river in Sungkom district in Nong Khai province, more than 300km from the Xayaburi dam

ที่มาของภาพ, AFP

ความกังวลที่เกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรีในลาว คือ ผลกระทบข้ามแดนที่มายังไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้าน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ให้ที่ประชุมผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นในไทยต้นเดือน พ.ย. นี้ หยิบยกมาเป็นวาระสำคัญ เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค และเรียกร้องให้ภาคเอกชนไทย ที่เป็นเจ้าของโครงการ และธนาคารไทย ผู้สนับสนุนโครงการ ได้แสดงความรับผิดชอบและมีมาตรการแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เพียรพร ดีเทศน์ ผอ. รณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ระบุว่า พื้นที่ในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบ คือ พรมแดนไทยลาวตอนล่าง ตั้งแต่ปากแม่น้ำเหือง อ.เชียงคาน ไล่ลงมาถึง จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ จนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี รวม 7 จังหวัด