ประจำเดือน : หญิงอินเดียใช้ตาราง “วันนั้นของเดือน” ทลายค่านิยมมองประจำเดือนเป็นหัวข้อต้องห้าม

  • คุชบู สันธุ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซี

การเป็นประจำเดือนถือเป็นหัวข้อต้องห้ามในอินเดีย แต่หญิงสาวยุคใหม่กลับกล้าที่จะเริ่มติด “ตารางการเป็นประจำเดือน” บนกำแพงหรือประตูในบ้านของตนเอง พวกเธอทำไปทำไม

ตารางประจำเดือนของพวกเธอ ระบุถึงวันและระยะเวลาการเป็นประจำเดือน เป็นสิ่งที่หญิงสาวเหล่านี้ใช้ติดตามรอบประจำเดือนของตัวเอง แต่มาวันนี้ ตารางประจำเดือนกำลังช่วยทลายกำแพงความอับอาย ที่หญิงอินเดียถูกกดดันให้ปิดปากเงียบในเรื่องนี้

“ตารางการเป็นประจำเดือนช่วยให้เราตรวจสอบว่ารอบประจำเดือนของเราเป็นปกติหรือไม่ ถ้าประจำเดือนมาช้า หรือผิดปกติ เราจะได้ปรึกษาแพทย์ได้ทัน” สุปรียา เวอร์มา หญิงอินเดียอายุ 33 ปี ที่อาศัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของรัฐหรยาณา กล่าว

เธอเล่าให้ผู้สื่อข่าวบีบีซีฟังว่า ในหมู่บ้านของเธอ มีผู้หญิงจาก 35 ครัวเรือนที่ติดตารางการเป็นประจำเดือนไว้ในบ้านอย่างเปิดเผย เพื่อผลักดันให้ผู้คนออกมาพูดคุยในเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ใช่มองว่าเป็นหัวข้อที่น่าอาย

ผู้หญิงในรัฐหรยาณาติดตารางการเป็นประจำเดือนในบ้าน

ที่มาของภาพ, Sunil Jaglan

อีกทั้ง มันทำให้ชีวิตของพวกเธอง่ายขึ้นด้วย

“ก่อนนี้ เด็กผู้หญิงและผู้หญิงเคยต้องทนทำงาน ทั้งที่ปวดประจำเดือน หรือมีประจำเดือนหนักจนขยับตัวลำบาก เพราะพวกเธอไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับครอบครัว”

“แต่มาวันนี้ ครอบครัวรู้แล้วว่า มีคนเป็นประจำเดือน และเข้าใจถึงสถานการณ์มากขึ้น” เวอร์มา ระบุ

อย่างครอบครัวของเธอเอง เห็นอกเห็นใจเธอมากขึ้นในวันที่เป็นประจำเดือน รวมถึงปล่อยให้เธอนอนตื่นสายได้ ในช่วงที่ประจำเดือนมา

“ทางบ้านรู้ว่าฉันมีประจำเดือน และอนุญาตให้พักผ่อนได้มากขึ้น เวลาเพื่อนบ้านมาถาม ก็จะบอกว่าลูกไม่ค่อยสบาย แต่ก็ยังไม่กล้าพูดว่าเพราะเป็นประจำเดือน แต่นี่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง”

Lado Panchayat

ที่มาของภาพ, Sunil Jaglan

ชีวิตของผู้หญิงอินเดียที่มีประจำเดือนต้องเผชิญเงื่อนไขหลายอย่าง สังคมส่วนใหญ่ยังมองว่า ผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนไม่สะอาด และถูกกีดกันออกจากงานสังคม หรือพิธีกรรมทางศาสนา แม้กระทั่งไม่ให้เข้าใกล้ห้องครัวในบ้านของตัวเอง

ยิ่งในแถบชนบทหรือชนเผ่าบางแห่ง จะมีกระท่อมสำหรับให้ผู้หญิงเข้าไปอาศัย เวลามีประจำเดือน อีกด้วย

ตารางการเป็นประจำเดือน เป็นแนวคิดของสุนิล จักลัน ผู้อำนวยการมูลนิธิ “เซลฟีกับลูกสาว” (Selfie with Daughter) ตั้งชื่อตามการรณรงค์ในปี 2015 ที่เขาเชิญเหล่าคุณพ่อมาถ่ายรูปเซลฟีร่วมกับลูกสาวของตนเอง โดยแคมเปญนี้เป็นที่สนใจมากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย นำไปกล่าวถึงในรายการวิทยุ

“เราไม่ค่อยพูดคุยแบบเปิดกว้างเรื่องประจำเดือนในบ้านของเรา” จักลัน ซึ่งเป็นคุณพ่อลูกสาว 2 คน บอกกับบีบีซี

“แต่เมื่อลูกสาวคนโตผมเติบใหญ่ ผมรู้สึกว่าผมต้องการคุยเรื่องนี้กับลูกอย่างจริงจัง ผมเริ่มไปคุยกับแพทย์และรวบรวมข้อมูล พอทราบว่าผู้หญิงต้องเผชิญอะไรบ้างตอนที่เป็นประจำเดือน ผมก็เริ่มออกมาส่งเสียงถึงเรื่องนี้”

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

บทสนทนาลักษณะนี้ นำมาสู่แนวคิดเรื่องตารางการเป็นประจำเดือน ที่เริ่มแพร่หลายเมื่อ 2 ปีก่อน เริ่มจากหมู่บ้านบางแห่งในรัฐหรยาณา จากนั้นก็เริ่มแพร่หลายใน 7 รัฐทั่วอินเดีย โดยมีผู้หญิง 1,000 คน เข้าร่วมการรณรงค์นี้

จักลันมองว่า ความสำเร็จของแคมเปญนี้ คือการที่ผู้หญิงในหลายรัฐ อย่าง หรยาณา อุตระประเทศ และราชาสถาน ติดตารางการเป็นประจำเดือนที่บ้านของตนเอง ทั้งที่สามรัฐนี้ เป็นรัฐที่อนุรักษ์นิยมสูงและยึดถือหลักผู้ชายเป็นใหญ่

Period Charts

ที่มาของภาพ, Sunil Jaglan

อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่า โครงการรณรงค์เผชิญกับแรงต่อต้านเช่นกัน โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และ “99% มาจากผู้ชาย”

เด็กหญิงบางคนเผชิญแรงต้านจากคนในครอบครัวด้วย ตอนที่ต้องการติดตารางดังกล่าวภายในบ้าน เช่น ปรียังกา เวอร์มา หญิงสาววัย 21 ปี ที่อาศัยอยู่ในรัฐหรยาณา

“ในวันแต่งงานของพี่สาวฉัน พวกญาติรู้สึกว่าจะมีแขกมาบ้านเยอะ ถ้ามาเห็นตารางการเป็นประจำเดือน มันอาจดูไม่ดี” เธอกล่าว พร้อมเล่าว่า หลังจากนั้นญาติบางคนถึงกับฉีกตารางทิ้ง แต่เธอก็สู้กลับ ด้วยการติดตารางใหม่ พร้อมเพิ่มชื่อของพี่สาวที่กำลังจะแต่งงานเข้าไปด้วย

ช่วงที่เริ่มการรณรงค์เมื่อ 2 ปีก่อน จักลันแจกตารางการเป็นประจำเดือนไป 2,800 ชิ้น แต่มีผู้หญิงเพียง 30% ที่นำไปติดใช้ในบ้าน แต่ตอนนี้ กระแสตอบรับเริ่มดีขึ้น มีคนร้องขอตารางเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน จักลันได้จัดการอบรมออนไลน์สำหรับเด็กผู้หญิง ให้พวกเธอทำตารางใช้เองได้ อีกทั้งยังรวบรวมผู้หญิงที่มีประเด็นเกี่ยวกับการเป็นประจำเดือนและสุขภาพสตรีเพศ มาหารือและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ผ้าอนามัย และถ้วยประจำเดือนอีกด้วย

อันจู พังฮาล จากหมู่บ้านมันด์โกลา ในรัฐหรยาณา ยอมรับว่า การเป็นประจำเดือนไม่ใช่หัวข้อที่เธอพูดคุยได้อย่างสะดวกใจ

“เราถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้ เรารู้สึกอายแม้ตอนที่ไปซื้อผ้าอนามัย”

“มันมีความเชื่อเก่า ๆ มากมายเกี่ยวกับประจำเดือน อาทิ ผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนไม่ควรจับของดอง ไม่ควรเข้าวัด มันยากที่จะอธิบายให้คนเข้าใจว่าการที่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนจับของดอง ไม่ได้ทำให้อาหารเสีย หรือไม่ทำให้วัดมีมลทินแปดเปื้อนแต่อย่างใด” เธอกล่าว

เมื่ออันจูแขวนตารางการเป็นประจำเดือน คนในครอบครัวเธอไม่เห็นด้วย แต่ท้ายสุด พวกเขาก็ยอมรับ

ดังนั้น การเปลี่ยนทัศนคติและพูดคุยเรื่องประจำเดือนอย่างเปิดกว้าง อาจต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อย สิ่งที่จักลันและผู้หญิงอีกหลายคนกำลังทำ ก็เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้ว

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว