งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดพบว่าสองปีหลังจากติดโรคโควิด-19 ผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการ สมองล้า สมองเสื่อม และโรคลมบ้าหมูเพิ่มมากกว่าการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ
ทว่าข้อมูลจากงานวิจัยเดียวกันระบุว่าแทบไม่พบภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าในเด็กและผู้ใหญ่ในช่วงสองปีให้หลังแล้ว
อย่างไรก็ดี นักวิจัยบอกว่ายังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมากเพื่อหาคำตอบว่าทำไมการติดโรคโควิดจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ด้วย และเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเชื้อไวรัสโรคโควิดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและทำให้เกิดอาการป่วย
ขณะที่งานวิจัยก่อนหน้านี้หลายชิ้นระบุว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่มีความเสี่ยงจะเกิดอาการเกี่ยวกับสมองและสุขภาพจิตมากขึ้น ในช่วงเวลา 6 เดือนหลังติดโรคโควิด
งานวิจัยชิ้นนี้พิจารณาความเสี่ยงต่ออาการผิดปกติ 14 ประเภท ในผู้ป่วยจำนวน 1.25 ล้านคน ในช่วงเวลา 2 ปีหลังติดโรคโควิด โดยกลุ่มประชากรเหล่านี้อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับประชากรอีก 1.25 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มประชากรลักษณะใกล้เคียงกัน แต่มีอาการการติดเชื้อด้านระบบทางเดินอากาศแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โควิด
สำหรับกลุ่มที่เป็นโควิด ในช่วงสองปีหลังการติดเชื้อ พบว่ามีอาการใหม่ ๆ เหล่านี้ :
- ภาวะสมองเสื่อม เส้นเลือดในสมองแตก และภาะสมองล้า ในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ภาวะสมองล้า ในประชากรอายุระหว่าง 18-64 ปี
- โรคลมบ้าหมูและความผิดปกติทางจิตในเด็ก แม้ความเสี่ยงโดยรวมยังนับว่าน้อยอยู่
ยกตัวอย่างเช่นเด็ก 260 คน จากจำนวน 10,000 คน มีความเสี่ยงในการเป็นโรคลมบ้าหมูหลังโควิด ขณะที่เด็กที่ป่วยเป็นโรคทางทางเดินหายใจอื่น ๆ มีโอกาสเป็นลมบ้าหมูประมาณ 130 คน จาก 10,000 คน
ขณะที่ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติทางจิตหลังติดโควิดเพิ่มขึ้นแต่ถือว่าพบได้น้อยมาก โดยมีสัดส่วน 18 คน จาก 10,000 คน
อาการผิดปกติบางอย่างที่พบได้น้อยหลังผู้ป่วยเป็นโควิดมาแล้วสองปี ได้แก่
- ภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- ความผิดปกติทางจิตในผู้ใหญ่
ผลวิจัยพบว่าความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลจะหายไปในเวลาสองเดือนหลังผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ
“น่ากังวล”
ศ.พอล ฮาร์ริสัน หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ “น่ากังวล” ที่พบอาการอย่างภาวะสมองเสื่อมและโรคลมชักบ่อยครั้งหลังผู้ป่วยเป็นโควิด แม้จะผ่านมาแล้วถึงสองปีก็ตาม
แต่เขาเสริมว่ามันเป็น “ข่าวดี” ที่อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลหลังป่วยเป็นโควิดเกิดขึ้นเพียง“ระยะสั้น ๆ ” และไม่พบอาการดังกล่าวในเด็ก
นักวิจัยกล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะ “มองข้าม” ผลกระทบเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็น “คลื่นสึนามิ” และในบางกรณีอาจต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ซึ่งอาจไปสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับบริการทางสาธารณสุข
สำหรับงานงานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ได้วารสารจิตเวชแลนเซ็ต (Lancet Psychiatry) ไม่ได้ติดตามผู้ป่วยแต่ละคนตลอดช่วงเวลาสองปีหลังจากที่พวกเขาป่วยเป็นโควิด สิ่งที่นักวิจัยทำคือการวิเคราะห์จำนวนคนที่ได้รับการวินิจฉัยอาการใหม่สองปีหลังจากที่พวกเขาป่วยเป็นโควิดแทน
นอกจากนี้ ยังไม่ได้ดูความรุนแรงของอาการแต่ละอย่าง หรือไม่ได้วิเคราะห์ว่าพวกเขามีอาการดังกล่าวยาวนานแค่ไหน ทั้งยังไม่ได้เปรียบเทียบว่าอาการที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยหลังจากเป็นโควิดกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ มีความคล้ายคลึงกันหรือไม่
แต่นักวิจัยไม่เรียกอาการเหล่านี้ว่าเป็น “ลองโควิด” หรือผลค้างเคียงจากการเป็นโควิดในระยะยาว แม้ว่าอาการสมองล้าหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำและสมาธิเป็นอาการที่พบโดยทั่วไป
งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดเมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมาทำให้เกิดอาการลองโควิดน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
ทว่าแม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อย่างเดลต้า แต่ยังพบว่าโอมิครอนทำให้เกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะทางสมองและสุขภาพจิตได้เช่นเดียวกัน
“ความวุ่นวายทางสังคม”
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดชิ้นนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ กล่าวคือไม่ได้ชี้ว่าโรคโควิดทำให้เกิดความผิดปกติทางสมองและจิตใจได้อย่างไร แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งบอกว่าสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะการเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็ก
ศ.เดวิด เมนอน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่าผลกระทบของการต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะป่วยเป็นโควิด “เท่ากับการแก่ตัวลงถึง 20 ปี (ระหว่างอายุ 50 – 70 ปี)”
พอล การ์เนอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านกระบวนการวิจัยเชิงสังเคราะห์ในประเด็นสุขภาพโลกจากวิทยาลัยเวชศาสตร์เขตร้อนลิเวอร์พูล (LSTM) กล่าวว่า โควิดเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนไปมาก
เขาเสริมว่าอาการสมองเสื่อมและอาการทางจิตที่เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยนั้น “น่าจะมาจากความวุ่นวายทางสังคมและสภาพความเลวร้ายที่เราต้องเผชิญกันอยู่ มากกว่าจะเป็นผลโดยตรงจากเชื้อไวรัส”
…..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว