ปลุกศพขึ้นมาถ่ายรูป พิธีกรรมแปลกของชาวตอราจาในอินโดนีเซีย

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแถบเทือกเขาบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย ชาวบ้านหลายสิบคนรวมตัวกันนำศพผู้เสียชีวิตขึ้นออกมาจากหลุมศพของครอบครัว หรือถ้ำ ไม่ว่าจะร่างไร้วิญญาณของพ่อแม่ และบรรพบุรุษ เพื่อนำมาประกอบพิธีทำความสะอาด ที่เชื่อว่าจะช่วยชำระล้างวิญญาณของบุคคลอันเป็นที่รักที่ลาโลกไปแล้ว

ครอบครัวหนึ่งโพสต์ท่าถ่ายรูปร่วมกับญาติผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถยิ้มให้กล้องได้อีกต่อไป ส่วนอีกครอบครัว ห่างออกไปไม่ไกล กำลังแต่งชุดพื้นเมืองให้กับหนึ่งในบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งชนเผ่า แม้ร่างจะเหลือเพียงกระดูก

ทุก ๆ 2-3 ปี ชาวตอราจา จะนำศพบรรพบุรุษที่ทำมัมมี่ไว้ มาทำความสะอาด

ที่มาของภาพ, AFP

นี่ไม่ใช่การเยี่ยมบุพการี-บรรพบุรุษตามบ้านพักคนชรา หรือฉากในภาพยนตร์สยองขวัญ เพราะพวกเขาเหล่านี้ได้เสียชีวิตไปนานแล้ว

พิธีกรรมที่กินเวลานานหลายวันนี้เรียกว่า “มาเนเน” ของชาวบ้านใน 2 หมู่บ้าน บนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย

ศพบรรจุในโลงที่ตั้งไว้ในถ้ำ หรือหลุมศพของครอบครัว

ที่มาของภาพ, AFP

เหล่าลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ จะขุดศพหลายร้อยร่างขึ้นมา ทำความสะอาด และแต่งกาย เพื่อสักการะวิญญาณและนำเครื่องเซ่นมากราบไหว้

“ตอนที่เราทำพิธีมาเนเน เราเริ่มจากเปิดหลุมศพขึ้นมา แล้วทำความสะอาดหลุมศพ และพื้นที่รอบ ๆ” ซุลเล ตอซาเอ หนึ่งในชาวบ้าน เล่า โดยโลงบรรจุศพฝังอยู่ในหลุมฝังศพที่ขุดลึกเข้าไปในภูเขา

“จากนั้น เราพยายามตากศพให้แห้งด้วยแสงอาทิตย์ ก่อนจะเปลี่ยนเสื้อผ้าให้”

ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโทรีอา (Torea) อธิบายว่า ลูกหลานของศพเหล่านี้ ร่วมแรงร่วมใจกันทำพิธีกรรมมาเนเน “เพื่อให้วิญญาณผู้เสียชีวิตอวยพรให้พวกเขาปลอดภัย อยู่เย็นเป็นสุข และมีความสุข”

บางครอบครัวปฏิบัติกับร่างไร้วิญญาณเสมือนดั่งมีชีวิต โดยนำบุหรี่ไปให้สูบ หรือสวมแว่นกันแดดให้ศพด้วย เป็นภาพที่แปลกตา จนมีคนตั้งสมญานามพิธีกรรมนี้ว่า “ขุดศพมาถ่ายรูป”

"1 2 3 ยิ้ม"

ที่มาของภาพ, AFP

ถามว่าบางศพฝังไปนานแล้ว ทำไมยังมีสภาพร่างเป็นมนุษย์อยู่ ? นั่นก็เพราะชาวบ้านใช้กระบวนการคล้ายทำมัมมี่ เพื่อรักษาสภาพของศพ แต่ก็มีบางศพที่เหลือแต่กระดูกเท่านั้น

ทำความรู้จักชาวตอราจา

ชาวบ้านบนเกาะสุลาเวสีที่ประกอบพิธีมาเนเน คือ ชนกลุ่มน้อยชาวตอราจา ที่มีประชากรกว่า 1 ล้านคนบนเกาะ

พวกเขาไม่ยี่หระที่จะพูดคุยกับศพ แต่งตัวให้ศพ จัดแต่งทรงผม หรือถ่ายรูปกับร่างผู้เสียชีวิต โดยชาวตอราจามีความเชื่อว่า วิญญาณของผู้เสียชีวิตจะยังร่องรอยอยู่บนโลกหลังเสียชีวิตไปแล้ว ภายวหลังพิธีศพ วิญญาณของพวกเขาถึงจะเริ่มเดินทางไปยังแดนวิญญาณ ที่ซึ่งวิญญาณของพวกเขาจะสถิตอยู่อย่างเป็นนิรันดร์

ดังนั้น พิธีศพจึงเป็นสิ่งที่ชาวตอราจาให้ความสำคัญมาก หากคนในครอบครัวเสียชีวิต จะรักษาร่างไว้จนกว่าจะเก็บหอมรอบริม จนมีเงินจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ วิธีการรักษาศพแบบมัมมี่นั้น ชาวบ้านจะใช้น้ำสมสายชูและใบชาเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน บางครอบครัวเลือกฉีดฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน เข้าไปในร่างโดยตรง เพื่อรักษาศพก็มี

ศพสวมแว่นกันแดดเท่ ๆ

ที่มาของภาพ, AFP

ส่วนพิธีมาเนเนนั้น ไม่ได้จัดทุกปี ขึ้นอยู่กับแต่ละหมู่บ้าน ปกติจะจัดขึ้นทุก ๆ 2-3 ปี ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.

ช่วงแรก ๆ ที่พิธีกรรมนี้ปรากฏสู่สายตาชาวตะวันตก พวกเขาตกใจและหวาดกลัว แต่ความแปลกและจริงจังของพิธีกรรม ทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติเดินทางเพื่อมาชมเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ผู้ใหญ่บ้านมองว่า ชาวบ้านดูจะเล่นกับผู้เสียชีวิตมากเกินไป ทั้งนำศพมาแต่งตัว และถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ทั้งที่ ควรแสดงความเคารพศพมากกว่านำมาเป็นฉากถ่ายรูป

“เราควรเคารพพ่อแม่หรือบรรพบุรุษ ถ้าลบหลู่อาจมีผลร้ายตามมาได้” ผู้ใหญ่บ้าน กล่าว

พิธีมาเนเน จากสายตาผู้สื่อข่าวบีบีซี

ซาราร์ แซนด์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ได้เดินทางไปสังเกตการณ์พิธีมาเนเน เมื่อปี 2017 เธอเล่าว่า สำหรับคนภายนอกแล้ว ธรรมเนียมที่ชาวตอราจามักเก็บศพของสมาชิกครอบครัวผู้วายชนม์ไว้กับบ้าน และปฏิบัติต่อศพราวกับว่ายังมีชีวิตอยู่

ดูจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดไม่ใช่น้อย แต่ชาวตอราจากว่าล้านคนยึดถือธรรมเนียมปฏิบัตินี้มานานหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งธรรมเนียมดังกล่าวมีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน ก่อนที่มิชชันนารีชาวดัตช์จะเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์กับคนในแถบนี้

ผู้สื่อข่าวบีบีซี (ซ้ายสุด)

เมื่อมีคนตาย ชาวตอราจาจะเก็บศพไว้กับบ้านนานหลายเดือนหรือหลายปี เพื่อรอเวลาเตรียมการงานศพที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยใช้น้ำสมุนไพรหรือฟอร์มาลีนรักษาสภาพศพไว้

ในระหว่างนั้น คนในครอบครัวจะปฏิบัติต่อศพเหมือนกับคนที่นอนป่วยอยู่ มีการยกน้ำ อาหาร และบุหรี่มาให้วันละสองครั้ง อาบน้ำทำความสะอาดและเปลี่ยนเสื้อผ้าสม่ำเสมอ ทั้งยังมีการตั้งกระโถนไว้มุมห้องให้ผู้ตายได้ “เข้าห้องน้ำ” อีกด้วย จะมีคนคอยเฝ้าศพและเปิดไฟให้สว่างอยู่เสมอ เพราะเกรงว่าการทิ้งให้ศพอยู่โดดเดี่ยวลำพังจะทำให้ผู้ตายไม่พอใจได้

พิธีศพของชาวตอราจานั้นจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีการแห่ศพไปรอบหมู่บ้าน มีการบูชายัญควายหลายตัวซึ่งเชื่อว่าเป็นพาหนะนำคนตายไปยังสถานที่รอเกิดใหม่

ทั้งยังเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่นานหลายวันหลายคืนติดต่อกัน ทำให้เจ้าภาพงานศพมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งสำหรับคนมีฐานะแล้วเงินจัดงานศพอาจมากถึงราว 1.7 ล้านบาท หรือ 10 เท่าของรายได้ต่อปีโดยเฉลี่ยของพวกเขาเลยทีเดียว ชาวตอราจาส่วนใหญ่จึงต้องเก็บศพไว้กับบ้านไปก่อน และใช้เวลาเก็บสะสมเงินทองเพื่อให้พอจัดงานศพ ซึ่งอาจกินเวลานานหลายปี

BBC

หลังพิธีศพ จะมีการเคลื่อนศพจากบ้านไปเก็บยังสุสานของครอบครัวหรือตามถ้ำ โดยจะไม่นิยมฝังศพลงดิน เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นหุบเขา บางครอบครัวที่มีฐานะจะว่าจ้างช่างให้แกะสลักหุ่นไม้ที่เรียกว่า “เตา เตา” ซึ่งเป็นตัวแทนของคนตายไว้ด้วย โดยหุ่นนี้จะสวมเสื้อผ้าเครื่องประดับอย่างดีรวมทั้งสวมวิกที่ทำจากผมของผู้ตาย และจะมีการจัดเรียงให้หุ่นนั่งที่ด้านนอกของถ้ำ จ้องมองลงมายังลูกหลานที่เชิงเขาเบื้องล่าง

ศาสตราจารย์แอนดี้ ทันดี โลโล ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมตอราจาบอกว่า การปฏิบัติต่อคนตายเสมือนคนเป็นเช่นนี้ เป็นวิถีทางหนึ่งในการดำรงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ยังอยู่และผู้ที่ตายไปแล้ว

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว