รวมสุดยอดไอเดียชุบชีวิตอาคารเก่าและการออกแบบเพื่อความยั่งยืน

อาคารและสิ่งปลูกสร้างเก่าคร่ำคร่าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นภาพที่มีให้เห็นชินตา ไม่ว่าจะเป็นโรงงานเก่า โกดังสินค้า โรงสี ไซโลเก็บผลผลิตทางการเกษตร หรือศูนย์การค้าที่เลิกกิจการไปแล้ว 

รูธ แลง ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรม เขียนวิเคราะห์ไว้ในหนังสือชื่อ Building for Change: The Architecture of Creative Reuse ที่เพิ่งพิมพ์เผยแพร่ออกมาในเดือน ส.ค. 2022 ว่าวิถีชีวิตและการทำงานของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อรูปแบบการใช้พื้นที่อาคารและสิ่งปลูกสร้าง

“อาคารหลายแห่งมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 50 ปี บางแห่งอาจใช้งานได้ถึง 100 ปี แต่ความนิยมและรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนไป ทำให้อายุการใช้งานของอาคารและสิ่งปลูกสร้างสั้นลง บางครั้งไม่ถึง 10 ปี ก็ไม่เป็นที่ต้องการแล้ว”

โรงแรม

ที่มาของภาพ, Su Sheng Liang / Building for Change, Gestalten 2022

แต่แทนที่จะทิ้งอาคารเหล่านั้นให้เปล่าประโยชน์ นักออกแบบบางคนมองเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่และชุบชีวิตมันขึ้นมา ทำให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้กลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง กลายเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานในยุคที่ผู้คนยึดติดกับความแปลกใหม่

ADVERTISMENT

“นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงการสร้างสิ่งใหม่เสมอไป แต่ยังหมายรวมถึงการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วในแนวทางใหม่” ศาสตราจารย์แลงให้ความเห็น

เว็บไซต์บีบีซี คัลเจอร์ เลือกอาคาร 10 แห่ง จากหนังสือเล่มนี้ที่แสดงให้เห็นถึงสุดยอดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของนักออกแบบในการรีโนเวทอาคารเก่าให้กลายเป็นสถานที่อันน่าทึ่ง  รวมทั้งไอเดียการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ADVERTISMENT

เปลี่ยนโรงงานเหล็กเป็นศูนย์แสดงนิทรรศการ

Baoshan WTE Exhibition Centre

ที่มาของภาพ, Terrence Zhang / Building for Change, Gestalten 2022

ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ Baoshan WTE Exhibition Centre นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

โรงงานเหล็กร้างถูกแปลงสภาพเป็นอาคารสำนักงานและศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ด้านนอกมีพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ พื้นที่ภายในอาคารได้รับการออกแบบมาให้ง่ายต่อการโยกย้ายปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานที่ลื่นไหล สถาปนิกเก็บโครงสร้างเดิมของโรงงานเหล็กเอาไว้ แล้วติดตั้งผนังสำเร็จรูปเสริมเข้าไป ปรับ ท่อน้ำและเครื่องจักรบางส่วนให้กลายเป็นองค์ประกอบตกแต่งอาคาร แทนที่จะรื้อทิ้ง เพียงเท่านี้โรงงานเหล็กที่ทึบทึมก็กลายเป็นอาคารโปร่งที่แสนอบอุ่น

ย้ายอาคารชั่วคราวในเดนมาร์กมาสร้างโรงเรียนในเคนยา

โรงเรียน Kibera Hamlets School

ที่มาของภาพ, Iwan Baan / Building for Change, Gestalten 2022

โรงเรียน Kibera Hamlets School กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา

โรงเรียนในกรุงไนโรบีแห่งนี้สร้างขึ้นจากวัสดุของอาคารชั่วคราวในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งในเดนมาร์ก อาคารชั่วคราวนี้ไม่เพียงได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานระยะสั้น แต่ยังออกแบบให้ง่ายต่อการรื้อและขนย้าย วัสดุเหล่านั้นจึงสามารถนำมาใช้สร้างโรงเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมกว่า 600 คน  ที่สลัมแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของเคนยาได้

เปลี่ยนโรงงานน้ำตาลเป็นโรงแรม

โรงแรม Alila Yangshuo Hotel

ที่มาของภาพ, Vector Architects / Su Shengliang, Chen Hao / Building for Change, Gestalten 2022

โรงแรม Alila Yangshuo Hotel กวางสี ประเทศจีน

โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเก่าแก่ที่ปัจจุบันนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ ที่นี่เคยเป็นโรงงานน้ำตาลที่ถูกทิ้งร้างในช่วงปี 1960 สถาปนิกคงสภาพเดิมของโรงงานไว้เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งโครงถัก (truss) ที่อยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งเคยใช้เป็นที่ขนย้ายอ้อยจากโรงงานลงเรือในแม่น้ำด้านล่าง ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของสระว่ายน้ำของโรงแรม

เปลี่ยนไซโลเก็บธัญพืชเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแอฟริกา Zeitz Museum of Contemporary Art Africa

ที่มาของภาพ, Iwan Baan / Building for Change, Gestalten 2022

พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแอฟริกา Zeitz Museum of Contemporary Art Africa เคปทาวน์ แอฟริกาใต้

อาคารแห่งนี้เคยเป็นไซโลเก็บธัญพืชที่สร้างขึ้นในทศวรรษที่ 1920 โดยครองตำแหน่งอาคารที่สูงที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ก่อนจะเลิกใช้งานในปี 1990 ไซโลเก็บพืชผลการเกษตรนี้เป็นที่บันทึกประวัติศาสตร์ทั้งในสมัยอาณานิคมและยุคหลังการแบ่งแยกสีผิว สถาปนิกดึงรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของอาคารออกมาแล้วประกอบสร้างมันขึ้นใหม่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมศิลปะร่วมสมัยแอฟริกันไว้มากที่สุดในโลก โดยดัดแปลงถังคอนกรีตขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บธัญพืชให้กลายเป็นแกลเลอรี 6 ชั้น พร้อมห้องแสดงงานศิลปะ 80 ห้อง

ศูนย์คัดแยกขยะในบรรยากาศคอมมูนิตี้มอลล์

ศูนย์จัดการขยะ Kamikatsu Zero Waste Centre

ที่มาของภาพ, Koji Fujii / TOREAL / Building for Change, Gestalten 2022

ศูนย์คัดแยกขยะ Kamikatsu Zero Waste Centre เมืองคามิคัตสึ ประเทศญี่ปุ่น

หลังจากโรงงานเผาขยะของเทศบาลเมืองคามิคัตสึถูกปิดไป เทศบาลได้ประกาศใช้นโยบายขยะเป็นศูนย์ซึ่งกำหนดให้ทุกครัวเรือนต้องรีไซเคิลขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องถูกส่งไปบ่อฝังกลบหรือเตาเผาขยะในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้เทศบาลยังได้สร้างศูนย์จัดการขยะขึ้นเพื่อใช้เป็นที่คัดแยกขยะก่อนส่งไปโรงงานรีไซเคิลหรือนำกลับไปใช้ใหม่  แต่เพื่อลบภาพจำของโรงงานแยกขยะที่มักสกปรก เฉอะแฉะและส่งกลิ่นเหม็น ทางเทศบาลและบริษัทสถาปนิกได้ออกแบบศูนย์จัดการขยะให้เป็นเหมือนคอมมูนิตี้มอลล์ ที่มีทั้งร้านขายของมือสอง ร้านซักรีด โรงแรม ห้องประชุม และแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการลดและแยกขยะ พื้นที่คัดแยกขยะได้รับการออกแบบเป็นรูปเกือบม้าที่โปร่งและง่ายต่อการเคลื่อนย้ายขยะ อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นจากวัสดุที่ไม่ใช่แล้วจากสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งร้างในเมือง เช่น ใช้หน้าต่างจากอาคารเก่ามาประกอบเป็นผนัง ปัจจุบันชาวเมืองคามิคัตสึรีไซเคิลขยะได้มากถึง 80 เปอร์เซนต์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 20 เปอร์เซนต์ของทั้งประเทศญี่ปุ่น

เปลี่ยนโรงนาเป็นโรงแรมแคปซูลและห้องสมุด

โรงแรม Qinglongwu Capsule Hotel and Library

ที่มาของภาพ, Su Sheng Liang / Building for Change, Gestalten 2022

โรงแรม Qinglongwu Capsule Hotel and Library เมืองจินหัว ประเทศจีน

โรงนาเก่าได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นโรงแรมแคปซูลขนาด 20 เตียง ที่กระจัดกระจายอยู่ตามมุมต่าง ๆ ของอาคารสูงโปร่งที่สร้างขึ้นง่าย ๆ จากโครงเหล็ก แคปซูลแต่ละห้องมีชั้นหนังสือที่ทำจากไม้ไผ่กั้น เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว

เปลี่ยนศูนย์การค้าเก่าแก่เป็นศูนย์การศึกษา

ศูนย์การศึกษา EOI Melilla Language School

ที่มาของภาพ, Ángel Verdasco Arquitectos / Building for Change, Gestalten 2022

ศูนย์การศึกษา EOI Melilla Language School เมืองเมลียา ประเทศสเปน

เดิมทีอาคารแห่งหนึ่งเคยเป็นศูนย์การค้าที่เป็นแหล่งนัดพบของผู้คนในเมืองเมลีย บิรเวณชายแดนสเปน-โมรอคโค หลังจากที่ศูนย์การค้าแห่งนี้ปิดตัวลงในปี 2003 หลังจากเปิดบริการมากว่า 90 ปี บรรยากาศในเมืองก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะที่นี่เป็นที่พบปะสังสรรค์และเชื่อมโยงชาวเมืองที่มีความหลากหลายทางศาสนาทั้งคริสต์ มุสลิม และยิว เข้าด้วยกัน ปี 2008 บริษัท Ángel Verdasco Arquitectos ชนะการประกวดออกแบบเพื่อปรับปรุงอาคารแห่งนี้เป็นศูนย์การศึกษาที่มีทั้งโรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนดนตรี และศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อให้สถานที่นี้กลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกครั้ง สถาปนิกอนุรักษ์ผนังอาคารบางส่วนไว้ในสภาพเดิมเพื่อเป็นความทรงจำถึงอดีตของศูนย์การค้าแห่งนี้ ขณะที่ภายนอกอาคารถูกห่อหุ้มด้วยระแนงอลูมิเนียมรูปทรงข้าวหลามตัดแบบศิลปะอิสลาม

เปลี่ยนหอเก็บน้ำเป็นบ้าน

หอเก็บน้ำ Castle Acre Water Tower

ที่มาของภาพ, Dennis Pedersen – left image / Taran Wilkhu – right image / Building for Change, Gestalten 2022)

หอเก็บน้ำ Castle Acre Water Tower เมืองนอร์ฟอล์ก สหราชอาณาจักร

หอเก็บน้ำแคสเติล เอเครอ สร้างขึ้นในปี 1953 ในพื้นที่ที่เคยเป็นลานจอดเครื่องบิน หลังจากเลิกใช้งาน มันก็ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครเหลียวแล และมีการประกาศขายเป็นเศษเหล็ก แต่คนที่รับซื้อหอเก็บน้ำเก่าแห่งนี้ได้ชุบชีวิตมันใหม่ให้กลายเป็นบ้านที่น่าอยู่ พร้อมวิวมุมสูงจากแบบรอบทิศ โดยการรีโนเวทครั้งนี้ ใช้วัสดุดั้งเดิมแทบทั้งหมด

เปลี่ยนอาคารโบราณเป็นศูนย์วัฒนธรรม

ศูนย์ศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรม Tai Kwun Centre for Heritage and Arts

ที่มาของภาพ, Iwan Baan / Building for Change, Gestalten 2022

ศูนย์ศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรม Tai Kwun Centre for Heritage and Arts ฮ่องกง

กลุ่มอาคารโบราณแห่งนี้สร้างขึ้นหลังจากอังกฤษเข้ายึดครองฮ่องกงในปี 1841 มันเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจกลาง ศาล และเรือนจำวิกตอเรีย การปรับปรุงอาคารแห่งนี้นับเป็นโครงการอนุรักษ์โบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง เนื่องจากอาคารเหล่านี้เก่าแก่มากจนแบบแปลนการก่อสร้างไม่หลงเหลือให้เห็น วิศวกรจึงต้องศึกษาโครงสร้างอย่างละเอียดเพื่อวางแผนการปรับปรุงอาคาร และยังต้องวางแผนป้องกันอาคารโบราณเหล่านี้จากแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้าง ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคืองานฐานรากของอาคารที่ต้องวางแผนอย่างดีเนื่องจากมีพื้นที่จำกัด ปัจจุบันกลุ่มอาคารยุคอาณานิคมนี้ได้กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมและศูนย์การค้า

บ้านสำเร็จรูปริมทะเลสาบ

บ้านสำเร็จรูป

ที่มาของภาพ, Jin Weiqi / Building for Change, Gestalten 2022

บ้านสำเร็จรูปริมทะเลสาบ Lakeside Plugin Tower กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

นี่เป็นบ้านสำเร็จรูปต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์และข้อดีของการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป (modular construction) ซึ่งเป็นการนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ผลิตสำเร็จรูปมาประกอบในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หน้างานได้ อย่างเช่นบ้านสำเร็จรูปต้นแบบหลังนี้ที่สร้างขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการเกษตร จึงถูกออกแบบให้ตัวบ้านสัมผัสพื้นดินน้อยที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อดิน น้ำและสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้น ชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้รับการออกแบบมาให้ง่ายต่อการขนส่ง ประกอบและรองรับการออกแบบที่หลากหลาย และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว