
ไดอานา อดีตเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์อังกฤษ เคยทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ “ผู้หญิงที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุดในโลก”
ในโอกาสครบ 25 ปีการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ บีบีซีพาย้อนชมชีวิตของเจ้าหญิงไดอานาผ่านเลนส์กล้อง และภาพถ่ายที่เปี่ยมด้วยความหมายต่าง ๆ

ที่มาของภาพ, Getty Images
ไดอานา ฟรานซิส สเปนเซอร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 1961 ที่คฤหาสน์พาร์กเฮาส์ ใกล้กับซานดริงแฮม มณฑลนอร์ฟอล์ก
เธอเป็นบุตรสาวคนเล็กของวิสเคานต์และวิสเคานเตสอัลธอร์ปในขณะนั้น
หลังจากพ่อและแม่ของเธอหย่ากัน เธอมักจะต้องเดินทางไปมาระหว่างบ้านของพวกเขาในมณฑลนอร์แทมป์ตันเชียร์ และสกอตแลนด์

ที่มาของภาพ, Getty Images
เลดีไดอานาได้รับการศึกษาในโรงเรียนเตรียมในเมืองนอร์ฟอร์ค เมื่ออายุได้ 9 ปี จึงได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนริดเดิลสเวิร์ธ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วนใกล้เมืองดิส และเมื่ออายุได้ 12 ปี ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเวสต์ฮีธเกิร์ลส์สคูล เมืองเซเว่นโอ๊กส์ มณฑลเคนต์
ปี 1978 ไดอานาเดินทางกลับลอนดอน หลังจากเรียนที่โรงเรียนการเรือนอังสติตูอัลแป็งวิเดมาแน็ต เมืองรูฌมงต์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เพียงหนึ่งภาคการศึกษา

ที่มาของภาพ, Getty Images
หลังจากเรียนจบ เธอทำงานในกรุงลอนดอน งานแรกคือพี่เลี้ยงเด็ก และต้องเป็นแม่ครัวบ้างเป็นครั้งคราว จากนั้นได้ไปเป็นผู้ช่วยที่โรงเรียนอนุบาลยังอิงแลนด์ในย่านไนต์สบริดจ์
มีข่าวลือแพร่สะพัดว่ามิตรภาพของเธอกับเจ้าชายแห่งเวลส์กำลังเบ่งบานและอาจจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปมากกว่านั้น สื่อมวลชนต่างติดตามเธอทุกฝีก้าว และ ทางสำนักพระราชวังพยายามอย่างหนักในการลดกระแสข่าวลง

ที่มาของภาพ, Getty Images
วันที่ 24 ก.พ. 1981 การหมั้นหมายเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แหวนหมั้นมีมูลค่าเกือบ 30,000 ปอนด์ หรือราว 1.28 ล้านบาท เป็นแหวนไพลินล้อมเพชร 14 เม็ด
ปัจจุบัน แหวนไพลินดังกล่าวสืบทอดต่อมายังแคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ที่ทรงสวมใส่ต่อ

ที่มาของภาพ, Getty Images
เลดี้ไดอานา เดินไปตามทางเดินพร้อมกับเอิร์ล สเปนเซอร์ บิดาของเธอในมหาวิหารเซนต์ปอล เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 1981 ในชุดเจ้าสาวที่ได้รับการออกแบบโดยเดวิด และเอลิซาเบธ เอมานูเอล ชุดมีชายยาว 20 เมตร และทำจากผ้าแพรสีงาช้างและลูกไม้โบราณ สื่อรายงานว่า พระราชพิธีเสกสมรสเป็น “การแต่งงานแห่งศตวรรษ”
ขณะเข้าพิธีอภิเษกสมรส ไดอานามีอายุเพียง 20 ปี แม่ของเธอเฝ้ามองลูกสาวที่เดินคล้องแขนพ่อในพิธี เพื่อเตรียมกล่าวคำสาบาน เธอแสดงให้เห็นถึงความประหม่าเพียงแค่ครั้งเดียว ขณะที่พยายามกล่าวพระนามเต็มของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ให้ถูกต้อง
มีผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกชมการถ่ายทอดพิธีอภิเษกสมรสผ่านทางโทรทัศน์ และมีผู้คนมาเฝ้ารับเสด็จอยู่ตามเส้นทางจากพระราชวังบัคกิงแฮมไปยังโบสถ์เซนต์ปอลราว 600,000 คน

ที่มาของภาพ, Getty Images
เจ้าหญิงไดอานาทรงปรารถนาจะมีครอบครัวขนาดใหญ่ ภายในเวลา 1 ปีหลังพิธีอภิเษกสมรส พระองค์ทรงให้กำเนิดเจ้าชายวิลเลียม เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 1982 ซึ่งทรงมีฐานะเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2
เจ้าหญิงไดอานามีพระประสงค์จะอบรมสั่งสอนพระโอรสเยี่ยงสามัญชน เจ้าชายวิลเลียมจึงกลายเป็นรัชทายาทชายพระองค์แรกที่เข้าศึกษาในโรงเรียนอนุบาล

ที่มาของภาพ, Getty Images
วันที่ 15 ก.ย. 1984 เจ้าชายวิลเลียมทรงมีพระอนุชา ซึ่งทรงมีพระนามเต็มว่า “เฮนรี ชาร์ลส์ อัลเบิร์ต เดวิด” แต่มีการประกาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นให้ทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม “แฮร์รี”
เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีทรงเรียนหนังสือร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ โดยไม่มีครูมาถวายการสอนเป็นการส่วนพระองค์

ที่มาของภาพ, Getty Images
เจ้าหญิงไดอานาทรงอบรมเลี้ยงดูพระโอรสทั้งสองด้วยความรัก
เจ้าชายแฮร์รีเคยตรัสว่า เจ้าหญิงไดอานาทรงเป็น “หนึ่งในแม่ที่ซุกซนที่สุด” ก่อนเสริมว่า “แต่เธอก็มอบความรักให้เราอย่างล้นเหลือ”

ที่มาของภาพ, Getty Images
ในการเสด็จเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรก เจ้าหญิงไดอานาทรงเต้นรำกับจอห์น ทราโวลตา นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังที่ทำเนียบขาว โดยนับตั้งแต่ทรงออกงานพร้อมกับว่าที่พระสวามีในขณะนั้นเพื่อประกาศเรื่องการหมั้น ฉลองพระองค์ของเจ้าหญิงไดอานาก็ตกเป็นที่สนใจมาโดยตลอด

ที่มาของภาพ, Getty Images
งานการกุศลของเจ้าหญิงไดอานาทำให้ประชาชนชื่นชอบพระองค์เพิ่มมากขึ้น พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับความสนใจ สุนทรพจน์ของพระองค์ตรงไปตรงมา และช่วยขจัดอคติหลายอย่าง
การแสดงออกง่าย ๆ อย่างการจับมือกับผู้ป่วยเอดส์ทำให้สาธารณชนเชื่อว่าการพูดคุยพบปะกันทางสังคมไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี

ที่มาของภาพ, Getty Images
เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจร่วมกันจำนวนมากและเสด็จเยือนต่างประเทศด้วยกัน แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ประชาชนก็รับรู้เรื่องที่ทั้งสองพระองค์ทรงไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน
การเสด็จเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในปี 1992 เจ้าหญิงไดอานาประทับนั่งเพียงลำพังที่ด้านนอกทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นการบอกด้วยภาพว่า แม้ว่าทั้งสองพระองค์จะยังคงอยู่ด้วยกันอย่างเป็นทางการ แต่อันที่จริงแล้วทั้งสองพระองค์ทรงแยกทางกันแล้ว

ที่มาของภาพ, Getty Images
เจ้าหญิงไดอานาทรงรักษามิตรภาพอันใกล้ชิดกับแม่ชีเทเรซาตลอดช่วงชีวิตของพระองค์ ในภาพนี้เป็นการเสด็จเยือนสำนักแม่ชีในกรุงโรมของอิตาลี เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 ส.ค. 1997 ก่อนหน้าที่แม่ชีเทเรซาจะเสียชีวิตเพียง 5 วัน

ที่มาของภาพ, Getty Images
การหย่าร้างของเจ้าหญิงไดอานาและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เสร็จสิ้นในวันที่ 28 ส.ค. 1996
พระองค์ทรงกลายเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการว่า ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในเดือน มิ.ย. ปีต่อมา พระองค์ทรงนำฉลองพระองค์ที่เคยปรากฏบนหน้านิตยสารทั่วโลก 79 ชุดออกประมูล การประมูลนี้ได้เงินสำหรับการกุศลราว 3.5 ล้านปอนด์ หรือราว 150 ล้านบาท และดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

ที่มาของภาพ, Getty Images
วันที่ 31 ส.ค. 1997 หลังจากเสวยพระกระยาหารค่ำที่โรงแรมริตซ์ปารีสกับนายโดดี อัล ฟาเยด ลูกชายของนายโมฮาเหม็ด อัล ฟาเยด นักธุรกิจผู้มั่งคั่ง ทั้งคู่เดินทางออกจากภัตราคารด้วยรถลิมูซีน และถูกช่างภาพขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ตามเพื่อเก็บภาพของพระองค์กับพระสหายใหม่ การไล่ตามถ่ายภาพนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่อุโมงค์ใต้ถนน

ที่มาของภาพ, Getty Images
ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนมาเฝ้ารอตามเส้นทางเคลื่อนพระศพเจ้าหญิงไดอานาไปยังโบสถ์เวสต์มินสเตอร์ และเส้นทางการอัญเชิญพระศพไปยังบ้านของตระกูลสเปนเซอร์ในมณฑลนอร์แทมป์ตันเชียร์ พระโอรสทั้งสองพระองค์ได้แก่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี พร้อมกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, ดยุคแห่งเอดินบะระ และเอิร์ล สเปนเซอร์ พระอนุชาของเจ้าหญิงไดอานา ทรงร่วมในขบวนด้วย
และแม้จะผ่านมา 25 ปี หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เจ้าหญิงไดอานายังทรงเป็นที่จดจำในฐานะ “เจ้าหญิงของปวงชน”
ภาพทุกภาพมีลิขสิทธิ์
…..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว