
ศาลเมียนมาตัดสินจำคุกอดีตเอกอัครราชทูตของสหราชอาณาจักรประจำเมียนมาและสามีของเธอ คนละ 1 ปี ส่วนนางออง ซาน ซู จี ได้รับโทษจำคุกเพิ่มอีก 3 ปี จากข้อหาทุจริตเลือกตั้ง
นางวิกกี โบว์แมน อดีตทูตสหราชอาณาจักรประจำเมียนมา และนายเทน ลิน อดีตนักโทษการเมือง ถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง
ทั้งคู่ถูกจับกุมตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่บ้านในนครย่างกุ้ง
คดีนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องความกังวลทางการเมืองมากกว่าเป็นแค่ความผิดเรื่องกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีการดำเนินคดีชาวต่างชาติในเมียนมา
นางโบว์แมน ซึ่งเป็นคนที่พูดภาษาเมียนมาได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นสมาชิกที่เป็นที่รู้จักกันดีในชุมชนชาวต่างชาติเล็ก ๆ ในเมียนมา
เธอทำหน้าที่ทูตในเมียนมาตั้งแต่ปี 2002-2006 และปัจจุบันได้เปิดศูนย์เมียนมาเพื่อธุรกิจที่รับผิดชอบ (Myanmar Centre for Responsible Business) ซึ่งมีเป้าหมายให้ธุรกิจต่าง ๆ เคารพสิทธิมนุษยชน ตั้งอยู่ในนครย่างกุ้ง
เธอและสามีถูกควบคุมตัวหลังจากเดินทางกลับจากบ้านที่รัฐฉานมายังนครย่างกุ้ง เจ้าหน้าที่ทางการทหารตั้งข้อหาคนทั้งสองว่า ไม่มีการลงทะเบียนนางโบว์แมนขณะที่เธออาศัยอยู่ที่ที่อยู่ใหม่

ที่มาของภาพ, Getty Images
สามีของเธอเป็นศิลปินที่โด่งดังและเป็นอดีตนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นสมาชิกของแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (All Burma Student’s Democratic Front) กลุ่มต่อต้านที่ติดอาวุธที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากเกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารนำโดยนักศึกษาในปี 1988
ทั้งคู่แต่งงานกันและย้ายมาอยู่ที่ลอนดอนก่อนจะย้ายกลับไปนครย่างกุ้งในปี 2013
การจับตัวของทั้งสองคนเกิดขึ้น หลังจากที่เมื่อไม่นานนี้สหราชอาณาจักรได้ประกาศคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ทางการทหารในเมียนมา ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ครบรอบ 5 ปี ที่ทหารเมียนมาปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในประเทศอย่างโหดเหี้ยม การบุกโจมตีชาวโรฮิงญาในปี 2017 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน และพลัดถิ่นฐานอีกหลายแสนคนในช่วง 2-3 เดือนแรก โดยส่วนใหญ่พวกเขาข้ามพรมแดนเข้าไปในบังกลาเทศ
จำคุก ออง ซาน ซู จี เพิ่มอีก 3 ปี
ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ (2 ก.ย.) ศาลที่ทหารควบคุมในเมียนมาก็ได้ตัดสินจำคุกนางออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำเมียนมาอีก 3 ปี จากข้อกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้ง
ขณะนี้นางซู จี ได้รับโทษจำคุกแล้วรวม 20 ปี จาก 11 ข้อหา และยังมีอีกหลายข้อหาอยู่ระหว่างการไต่สวน
เธอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ประณามการไต่สวนของศาลว่า มีแรงจูงใจทางการเมือง

ที่มาของภาพ, Soe Zeya Tun
ถ้าถูกตัดสินว่า ผิดในทุกข้อกล่าวหา เธออาจได้รับโทษจำคุกเกือบ 200 ปี
ทนายความของเธอกล่าวว่า คำพิพากษาใหม่นี้ รวมถึงการใช้แรงงานหนักด้วย โดยหลังถูกควบคุมตัว เจ้าของรางวัลโนเบลวัย 77 ปีนี้ส่วนใหญ่ถูกกักบริเวณที่บ้านพักในกรุงเนปิดอว์
ประชาชนและสื่อไม่สามารถเข้ารับฟังการไต่สวนของศาลที่ทำเป็นการลับได้ และทหารได้ห้ามทนายความของเธอไม่ให้พูดกับบรรดานักข่าว
ศาลพบว่า เธอกระทำผิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งทั่วไปเดือน พ.ย. 2020 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy–NLD) ของเธอ ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น
กองทัพได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว หลังจากกล่าวหาว่า มีการทุจริตการเลือกตั้ง แต่บรรดาผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอิสระระบุว่า การเลือกตั้ง “สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน”
กลุ่มสิทธิพลเมืองและกลุ่มประชาธิปไตยต่าง ๆ ได้ประณามกระบวนการทางกฎหมายที่ใช้ในการดำเนินคดีนางซู จี และคนอื่น ๆ ว่า เป็นละครตลก ขณะที่สหประชาชาติออกมาบอกว่า นางซู จี กำลังเผชิญกับ “การไต่สวนที่ตลบตะแลง” แต่รัฐบาลทหารเมียนมา ระบุว่า การไต่สวนนางซูจี เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางกฎหมาย
รัฐบาลทหารเมียนมาถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม บรรดานายพลได้ขยายการปกครองในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปจนถึงปี 2023 ขณะที่มีการสู้รบภายในประเทศ
ตอบโต้อังกฤษ
หลังจากเกิดรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว นางวิกกี โบว์แมน เลือกที่จะอยู่อาศัยในเมียนมาต่อไป และดูเหมือนจะระมัดระวังตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นต่อสาธารณชน ซึ่งอาจจะรัฐบาลทหารไม่พอใจ
เชื่อกันว่า การตัดสินให้เธอมีความผิดมีแรงจูงใจมาจากอะไรบางอย่างที่มากกว่าแค่ความผิดเรื่องตรวจคนเข้าเมือง ไม่ว่าจะเป็นการตอบโต้ท่าทีที่แข็งกร้าวของอังกฤษต่อรัฐบาลทหาร หรือบางทีอาจจะเป็นเรื่องอ่อนไหวบางอย่างที่เธอค้นพบระหว่างการทำงานของเธอ
…..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว