เหตุผลที่ว่าทำไม Quiet quitting หรือ ‘ออกจากงานอย่างเงียบ ๆ’ ไม่ใช่เรื่องใหม่

ภาวะการค่อย ๆ ถอนตัวออกจากการทำงานที่มากเกินไป หรือ Quiet quitting ซึ่งเป็นกระแสไวรัลเมื่อเดือนที่ผ่านมา จริง ๆ แล้ว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ แต่ปรากฏการณ์นี้กำลังบอกอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับการงานของผู้คนในยุคนี้

“ฉันเปิดกล่องอีเมลของบริษัทขึ้นมาเพื่อเจอกับอีเมลแย่ ๆ หลายฉบับจากผู้ก่อตั้งบริษัท… ฉันถูกคาดหวังให้ทำงานออกมาให้ได้ผลลัพธ์ที่ใหญ่โตมาก ๆ ในช่วงเวลาอันจำกัด ฉันคิดว่าฉันพอกับอะไรแบบนี้แล้ว”

เช้าวันจันทร์เมื่อไม่นานมานี้ “เจมม่า” สาวนักประชาสัมพันธ์วัย 25 ปี ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนชีวิตการทำงานของตัวเองใหม่

อย่างไรก็ตาม เจมม่า ไม่ได้เลือกที่จะลาออก เธอยังอยู่กับการงานหน้าที่ของเธอ ทำหน้านี้ของตัวเอง แต่หยุดที่จะอุทิศตัวไปเกินกว่านั้น เธอค่อนข้างชัดเจนกับตัวเองแล้วว่า ไฟการทำงานเธอได้หมดลงไปแล้ว

“ฉันเคยเข้ามาออนไลน์สำหรับงานก่อนที่จะถึงเวลาเริ่มงาน แต่ตอนนี้ ฉันไม่เข้าระบบงานก่อนถึงเวลา 9 โมง ฉันเคยทำงานมากเสียจนเลิกงานช้าออกไปจนไม่มีเวลาให้กับตัวเอง แต่ตอนนี้ฉันเปิดทุก ๆ แอปฯ ที่ใช้ทำงานตรงเวลา 6 โมงเย็นเป๊ะ”

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ฉันเชื่ออย่างแท้จริงว่า พวกเราจำเป็นต้องผ่านพ้นสภาวะ ‘เปิด’ อยู่ตลอดเวลาได้แล้ว… ชีวิตมันมีอะไรมากกว่าการพยายามทำให้ได้ตาม KPI (ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน)”

การออกอย่างเงียบ ๆ หรือ quiet quitting ของเจมม่านั้นเชื่อมโยงกับเทรนด์ที่เกิดเป็นไวรัลครั้งแรกจากผู้ใช้งานติ๊กต่อก (TikTok) รายหนึ่งที่ใช้ชื่อบัญชีว่า @zkchillin เมื่อเดือน ก.ค. ที่มีคนดูกว่า 3.5 ล้านวิว จนกลายเป็นปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ ซึ่งอธิบายการออกอย่างเงียบ ๆ ว่า “คุณไม่ได้ออกจากงาน แต่คุณออกจากการทำงานที่นอกเหนือหน้าที่ความรับผิดชอบ” และ “คุณยังทำงานในหน้าที่ของคุณเหมือนเดิม แต่คุณไม่อินกับวัฒนธรรมการทำงานที่เร่งรัดและคิดว่างานคือชีวิตอีกต่อไป ความเป็นจริงคือ คุณค่าของตัวคุณเองไม่ได้ถูกวัดด้วยแรงงานของคุณ”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา quiet quitting ก็ได้รับความสนใจจากสื่อหลายแขนงเพื่อเข้าไปสำรวจเทรนด์การทำงานแนวนี้

อย่างไรก็ตาม เรื่อง quiet quitting ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ใหม่อะไรเลย แต่พฤติกรรมอย่างเช่น การทำอย่างอื่นในเวลางานแต่ไม่เสียเรื่องงาน (coasting) ตอกบัตรเข้า-ทำงาน แต่ก็ทำงานขั้นต่ำได้เสร็จ (clocking) เป็นบางแง่มุมของการทำงานในสมัยใหม่

แล้วเหตุใด แนวคิดเรื่อง quiet quitting  ถึง “โดนใจ” ทำไมผู้คนถึงพูดถึงเรื่องนี้กันมากและการงานอาชีพจะเป็นอย่างไรในระยะยาวกับเรื่องนี้

quiet quitting เกิดมานานหลายทศวรรษ

รศ.แอนโทนี คล็อตซ์ อาจารย์ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน (University Collage London–UCL) ชี้ว่า บริบทของพฤติกรรม quiet quitting อาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่แนวคิดเบื้องหลังนั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว

“แม้ว่านี่จะมีที่มาจากคนรุ่นหนุ่มสาวในหีบห่อใหม่ เทรนด์นี้ถูกศึกษามาหลายทศวรรษภายใต้ชื่ออื่น ๆ เช่น ความไม่ผูกพันกับงานและองค์กร (disengagement) การละเลย (neglect) และการถอนตัวจากงาน (withdrawal)”

พนักงานมักจะทำงานด้วยเหตุผลหลายประการ รศ.คล็อตซ์ กล่าวว่า มีหลายเหตุผลที่พนักงานไม่ได้อยู่ในสถานะที่ออกจากงานได้ ทักษะของพนักงานบางกลุ่มอาจจะไม่สามารถถ่ายโอนได้ ความยืดหยุ่นและผลประโยชน์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น หรือไม่ก็อาศัยอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ ที่ขาดแคลนโอกาส

เขากล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจในยุคปัจจุบันยังมีบทบาทสำคัญที่ทำงานให้พนักงานที่ไม่มีความสุขกับงาน ยังคงอยู่ในบริษัท เพราะการออกจากงานนั้นมีต้นทุนและความเสี่ยง

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในกรณีเหล่านี้ พนักงานจึงเห็นว่า การทำภารกิจอื่นในเวลางาน (coasting) แต่การงานไม่เสียหายนั้นเหมาะสม โดยเฉพาะพนักงานที่รู้สึกว่าก้าวหน้าไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาชีพเป็นลำดับแรก

“การทำงานมากเกินกว่าหน้าที่ กัดกินสุขภาพจิตใจและเป็นสาเหตุของความเครียด… และการทำแบบนั้นก็ได้ผลตอบแทนน้อยนิด ดังนั้น “การออกอย่างเงียบ ๆ”  ไม่ได้เกิดกับเพียงคนรุ่นใหม่ แต่มันเป็นกับใครก็ได้ที่รู้สึกติดอยู่กับงานนั้น แต่มีเหตุผลน้อยมากที่จะลาออก”

อย่างไรก็ตาม “การออกอย่างเงียบ ๆ”  มีข้อแตกต่างกับพนักงานที่มีพฤติกรรมทำภารกิจอื่นในเวลางาน แต่การงานไม่เสียหาย (coasting) เพราะคนที่มีพฤติกรรมออกอย่างเงียบ ๆ อาจไม่ได้ย่อหย่อนต่อการงาน แต่มีแนวโน้มลดการทำนอกเหนือความรับผิดชอบหรือเกินเวลาเหลือเพียงการทำงานแต่เพียงในเวลา 9-5 โมงเท่านั้น

“มาแต่เช้า เลิกช้า ช่วยเพื่อนร่วมงานทำงานด้วยเงินเดือนเท่าเดิมของตัวเอง แสดงการอุทิศตนให้กับงานในหน้าที่เท่าที่จะเป็นไปได้ พฤติกรรมพิเศษที่เพิ่มมาเหล่านี้เพื่อให้องค์กรขยับก้าวไปอีกขั้น พนักงานอาจจะต้องเสียค่าผ่านทางส่วนตัว”

ทำไม “การออกอย่างเงียบ ๆ”  ถึงมีมากขึ้น

รศ.คล็อตซ์ วิเคราะห์ว่า แนวคิดและพฤติกรรมแบบ “การออกอย่างเงียบ ๆ” เป็นผลสะท้อนในยุคสมัยปัจจุบัน เนื่องจากภาวะโรคระบาด และการพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในหลาย ๆ กรณี รศ.คล็อตซ์ ระบุว่า พนักงานนั้นพยายามจะออกจากสภาวะเบิร์นเอาต์

“การออกอย่างเงียบ ๆ (quiet quitting) คือ วิธีการขีดเส้นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพให้กลับไปอยู่เฉพาะรายละเอียดงานที่้ต้องทำตามตำแหน่งเท่านั้น เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องคิดเรื่องงานตลอดเวลา 24 ชม. แบบไม่มีวันหยุดพัก และทุ่มเทเวลาและพลังงานไปให้กับเรื่องอื่นในชีวิตตัวเองที่มีความหมายมากกว่า อันนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้น”

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

การทำงานในช่วงสถานการณ์โรคระบาด อาจยังเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นอย่างมากของลูกจ้างมีความผูกพันกับองค์กรน้อยลง และยิ่งสุมไฟการออกอย่างเงียบ ๆ

จิม ฮาร์เตอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านการจัดการสถานที่ทำงานและความเป็นอยู่ที่ดีของบริษัทด้านการวิเคราะห์ Gallup ในรัฐเนบราสกา สหรัฐฯ เชื่อว่าเทรนด์นี้มีแรงขับเคลื่อนอย่างมากจากกลุ่มพนักงานในช่วงวัยที่เพิ่งเริ่มทำงาน

“แต่เดิมพนักงานวัยหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะมีความผูกพันกับองค์กรในระดับสูง แต่ตอนนี้มันลดลง” เขากล่าว “หลังจากเกิดโควิด-19 เมื่อพูดถึงการทำงานเพื่อองค์กร พวกเขาอาจจะมีเกณฑ์ของตัวเองที่สูงขึ้นกว่าคนรุ่นเก่า”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ขาดจากกันระหว่างระดับผู้จัดการและลูกจ้าง ฮาร์เตอร์ชี้ว่า ในเดือน มิ.ย. ปีนี้ ตัวเลขที่ Gallup วิจัยนั้นพบว่า จากจำนวนพนักงานสหรัฐฯ 15,001 คน มีเพียง 21% ที่รู้สึกว่าองค์กรห่วงใยเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา ซึ่งตรงกันข้ามกับสถิติก่อนเกิดโรคระบาด ความรู้สึกนี้อาจรุนแรงขึ้นเมื่อค่าแรงที่แท้จริงร่วงลงเมื่อเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

“เราเห็นรอยแตกทางวัฒนธรรมที่ดึงลูกจ้างออกจากนายจ้างของพวกเขา”

นัยที่กว้างขึ้น

ขณะที่การดึงพนักงานกลับมาสู่งานนั้นไม่ใช่วิธีใหม่ รศ.คล็อตซ์ เชื่อว่า ปรากฏการณ์ล่าสุดเรื่อง “การออกอย่างเงียบ ๆ” นั้นกำลังพาเข้าสู่เทรนด์การทำงานแบบใหม่หลังภาวะโรคระบาด โดยพนักงานจะมองอาชีพของตัวเองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แทนที่จะทำตัวเป็น “กบฏ” กับงาน พวกเขาจะปฏิเสธการมีวันทำงานยาวนาน การทำงานนอกเวลางานที่ไม่ได้ค่าตอบแทน และการมีภาวะ “นำเสนอตลอดเวลา” เพื่อองค์กร

ลูกจ้างส่วนใหญ่จะมองหานิยามใหม่ของเส้นแบ่งระหว่างการงานและชีวิตส่วนตัวเพื่อตอบแทนตัวเอง

“เรามองเห็นชั่วขณะของการจัดลำดับความสำคัญใหม่จากปรากฏการณ์ ‘ออกอย่างเงียบ ๆ’ อย่างการลดการทำงานลงเพื่อจัดเวลาให้ครอบครัว เพื่อน และงานอดิเรก” รศ. คล็อตซ์ กล่าว

“ผู้คนต้องการอาชีพ แต่พวกเขาก็ต้องการความร่ำรวยและชีวิตที่มีคุณภาพนอกเหนือเวลางานด้วย”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว