รัฐธรรมนูญ 2560 : จับตารัฐสภาถกแก้รัฐธรรมนูญ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” อีกยก

Thai News Pix

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเตรียมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ ระหว่างวันที่ 6-7 ก.ย. นี้ หนึ่งในนั้นคือการเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือที่รู้จักในชื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และกำหนดให้นายกฯ มาจาก ส.ส. เท่านั้น

การประชุมของ ส.ส. และ ส.ว. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะไม่แน่นอนทางการเมือง เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อยู่ระหว่างถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 ในระหว่างพิจารณาว่าเขาดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีแล้วหรือยัง

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว เขาก็จะพ้นจากหน้าที่ และต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนำเสนอไว้ในการเลือกตั้ง 2562 โดยมีสมาชิกสองสภาเป็นผู้ลงมติเลือก

ส.ว.

ที่มาของภาพ, Thai News pix

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 5 ฉบับ ค้างการพิจารณาของรัฐสภามากว่า 1 ปีแล้ว โดยจะเปิดให้สมาชิกอภิปรายพร้อมกัน แต่ลงมติแยกกันทีละฉบับ ประกอบด้วย

  • ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 272 (ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ) เสนอโดยประชาชน
  • ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 43 (เพิ่มสิทธิบุคคลและชุมชน) เสนอโดย ส.ส. พรรคเพื่อไทย
  • ร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29, เพิ่มมาตรา 29/1, แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34, 44, 45, 47 และมาตรา 48 (แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิในกระบวนการยุติธรรม, การแสดงความคิดเห็น, การจัดตั้งพรรคการเมือง, สิทธิสาธารณสุข) เสนอโดย ส.ส. พรรคเพื่อไทย
  • ร่างรัฐธรรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง (กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. และมีชื่ออยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมือง) เสนอโดย ส.ส. พรรคเพื่อไทย
  • ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 120 เสนอโดย ส.ส. พรรคภูมิใจไทย 1 ฉบับ (แก้หลักเกณฑ์องค์ประชุมสภาหรือวุฒิสภา)

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หนีไม่พ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 64,151 รายชื่อ โดยเสนอแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี หรือที่รู้จักในชื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.”

แคมเปญ “แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิชต์ ส.ว.” ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือน ธค. 2564 โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะรณรงค์แก้ไข รธน. มาตรา 272” นำโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ได้ล่ารายชื่อประชาชน ก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา

ส.ว. ชุดปัจจุบัน 250 คน มีที่มาจาก 3 ช่องทาง โดย 194 คนมาจากการสรรหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), 6 คนเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ (ผบ. เหล่าทัพ) ที่เข้ามาเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง และอีก 50 คนมาจากการเลือกตั้งไขว้กลุ่มอาชีพ ทั้งนี้วุฒิสมาชิกมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และมีอำนาจตามบทเฉพาะกาล ให้ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ในช่วง 5 ปีแรกของรัฐสภา จึงถูกเรียกว่าเป็น “ส.ว.เฉพาะกาล”

CG

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” เพราะเมื่อเดือน ก.ย. 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านเคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดสิทธิ ส.ว. ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ มาแล้ว แต่แพ้โหวตกลางรัฐสภา เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. และ ส.ว. ลงมติคว่ำร่างระหว่างพิจารณาวาระหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 268 ต่อ 0 และงดออกเสียง 432 เสียง ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตกไปพร้อมกับอีก 5 ร่าง

ที่น่าสนใจคือ ในเสียงเห็นชอบ 268 เสียง มี ส.ว. อยู่ 56 คนร่วมลงมติรับหลักการเพื่อ “ตัดอำนาจตัวเอง” ในการโหวตเลือกนายกฯ ด้วย

ในการผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่สองสภา หรือ 364 จาก 727 เสียง (มี ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 477 คน และ ส.ว. 250 คน) ในจำนวนนี้ต้องเป็นคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 84 คน

ประธานวิป 2 ฝ่ายยอมรับ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยาก

นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวยอมรับว่า เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การจะไปแก้ในหลักการ คิดว่าคงทำได้ยาก ต้องใช้เสียงของ ส.ว. ด้วย แต่ไม่มีสัญญาณสกัดไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านไปได้

“ประเมินแล้วคงจะไม่ได้คะแนนจาก ส.ว. เพราะไปแก้อำนาจเขา แต่มี ส.ว. บางคนจะพิจารณา” ประธานวิปรัฐบาลกล่าว

ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวยอมรับเช่นกันว่า พูดตามหลัก คงยากที่ ส.ว. จะตัดอำนาจตัวเอง แต่หวังว่า ส.ว. อาจคิดได้ว่าจวนจะหมดวาระแล้ว มี ส.ว. ไม่น้อยที่เห็นควรตัดอำนาจข้อนี้ ทำให้มีความหวังมากขึ้น

ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ให้ความเห็นว่า เชื่อว่า ส.ส. จะสนับสนุน แต่ ส.ว. ยังประเมินยาก ต้องพิจารณาสัญญาณที่ผู้ใหญ่ส่งมา แต่การตัดสินใจต้องสู้กันในสภา ผ่านการอภิปรายชี้แจงเหตุผลอีกครั้ง