ศาลรัฐธรรมนูญถก “นายกฯ 8 ปี” กับคำชี้แจง “นายกฯ ขาดตอน”

วันนี้ (8 ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณากรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังทีมกฎหมายส่งเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อย

ยังไม่แน่ชัดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศคำวินิจฉัยเลยหรือไม่ หลังสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่า หนึ่งวันก่อนการการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับมีเอกสารคำชี้แจงของ พล.อ. ประยุทธ์ ความยาว 23 หน้า ลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ เอง เผยแพร่ออกมาในแวดวงสื่อมวลชน มีใจความสำคัญว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็น “นายกฯ ขาดตอน” จึงไม่ถือว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี

จับตาท่าทีศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เหตุผลสำคัญที่ชี้แจงในเอกสาร คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 เป็นอันสิ้นสุดลง นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ”ขาดตอน” เพราะการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งในปี 2562

ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว

นายกฯ ขาดตอนยังไง

หากพิจารณาจากคำชี้แจง หมายความว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในสถานะที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • การดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 ตั้งแต่ 20 ส.ค. 2557 ตามรัฐธรรมนูญ 2557
  • การดำรงตำแหน่งเฉพาะกาล ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล
  • การดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560
วาทกรรมใหม่...นายกฯ ขาดตอน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ วิเคราะห์ถึงประเด็น “นายกฯ ขาดตอน” ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ว่า ข้ออ้างของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สมเหตุสมผล เพราะรัฐธรรมนูญปี 2557 กับ 2560 ไม่มีช่วงรอยต่อให้เกิดการ “ขาดตอน”

“ตามธรรมเนียมการบริหารราชการแผ่นดิน จะไม่มีการให้ขาดตอน”

“ถ้าขาดตอนหมายความว่า ณ จุดนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศชาติบ้านเมือง ขาดตอนขาดไปนานแค่ไหน จุดนั้นเป็นปัญหาเลย…ถ้ามีการลงนามในหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ต่างประเทศอาจอ้างได้ว่า ช่วงนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ชอบ และไม่รักษาสัญญาได้”

เอกสารชี้แจง ประยุทธ์ หลุดหรือตั้งใจ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมออนไลน์และสื่อมวลชนต่างให้ความสนใจต่อเอกสารที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “ความเห็นเกี่ยวกับ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ลงนามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ส่งถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ

เอกสารยืนยันว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ต้องเริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 ไม่ใช่ปี 2557 เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาโดยชอบก่อนที่รัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

ต่อมาวานนี้ (7 ก.ย.) มีการเผยแพร่เอกสารในวงสื่อมวลชนอีกครั้ง เป็นเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยรอบนี้ เผยแพร่ออกมาถึง 23 หน้า มีรายละเอียดสำคัญ 8 ข้อ คือ

1. นายกฯ ขาดตอน – ยืนยันว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560  จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้  และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาเป็นไปตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ด้วยเช่นกัน  การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง ”ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ (6 เม.ย. 2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้

ส่วนการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว

2. วาระ 8 ปี หมายถึงนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น – การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 เป็นการจำกัดสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่า หมายรวมถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น และโดยหลักตีความทางกฎหมายแล้ว หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน จะตีความในทางจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้ ซึ่งตรงกับแนวทาง ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 มาเพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน  ได้แก่

  • นายมีชัย ฤชุพันธุ์
  • นายนรชิต สิงหเสนี
  • นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย
  • นายประพันธ์ นัยโกวิท
  • นายปกรณ์ นิลประพันธ์
  • นายอัชพร จารุจินดา
  • นายอุดม รัฐอมฤต

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 7 คน เห็นว่าบทบัญญัติ กำหนดวาระ 8 ปี ดังกล่าว หมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น

3. คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อน 2560 ถือเป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 – ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 และ 2561 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีของ ว่า คณะรัฐมนตรี ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

4. พล.อ. ประยุทธ์ ซื่อสัตย์ สุจริต และจงรักภักดี – ยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตน ไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ตามมาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม ไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจอยู่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยาวนานเกินไป ไม่ปล่อยให้คนทุจริต มีอำนาจทำการทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และข้อกำหนดนี้มิใช่ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ยังระบุคำชี้แจงของพล.อ. ประยุทธ์ ว่า ข้าพเจ้าสำนึกและปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตลอดมาด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าเชื่อว่า สำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอันเป็นหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ใช่เฉพาะแต่ฉบับ 2560

5. บันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 – เมื่อปี 2561 ที่ระบุความเห็นของนายมีชัย ในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ว่า สามารถนับรวมระยะเวลาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นั้น พบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของนายมีชัย กับนายสุพจน์ ไข่มุก เท่านั้น

6. ไม่เปิดบัญชีทรัพย์สินอ้างไม่ได้ – ข้ออ้างที่ระบุว่า ข้าพเจ้าไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้

7. ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตีความและใช้รัฐธรรมนูญ วินิจฉัยลักษณะและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไม่ใช่ตามข้อเท็จจริงรับรู้โดยทั่วไปของประชาชน เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะการรับฟังข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป เป็นหลักที่ใช้ในการฟังพยานหลักฐานของศาลเท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความกฎหมาย

8. ขอกล่าวโดยสรุปว่า การกล่าวหาว่า ตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค. 2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และขอย้ำว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจนับ จากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้

……

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว