อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน : การสู้รบครั้งใหม่มีทหารสังเวยชีวิตเกือบ 100 นาย

การสู้รบระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานปะทุขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้งเมื่อคืนวันที่ 12 ก.ย. ส่งผลให้มีทหารเสียชีวิตไปเกือบ 100 นาย

นายกรัฐมนตรี นีโกล พาชินยาน ของอาร์เมเนียระบุว่า มีทหารฝ่ายเขาเสียชีวิต 49 นายในการสู้รบครั้งนี้ ขณะที่กระทรวงกลาโหมอาเซอร์ไบจานระบุว่า สูญเสียทหารไป 50 นาย

เพื่อนบ้าน 2 ประเทศนี้ทำสงครามกันมาแล้ว 2 ครั้ง และมีการปะทะทางทหารอย่างประปรายตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

รัสเซียระบุเมื่อ 14 ก.ย. ว่าได้ไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงในการปะทะกันครั้งล่าสุด

File photo of Azerbaijan soldiers in position in the Tartar region in 2016

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในเบื้องต้นอาร์เมเนียระบุว่า การสู้รบสงบลงแล้ว แต่ยังไม่ได้ยุติอย่างสิ้นเชิง ในเวลาต่อมาอาเซอร์ไบจานระบุว่าได้บรรลุเป้าหมายของตนแล้ว หลังมีการ “ยั่วยุ” จากประเทศเพื่อนบ้าน

ความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานมีสาเหตุสำคัญมาจากข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ทว่าในภูมิภาคนี้ก็มีชนกลุ่มน้อยชาวอาร์เมเนียที่นับถือศาสนาคริสต์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องทางการเมือง ทว่ามีประเด็นทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งสองประเทศเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งล่มสลายช่วงปลายปี 1991

ความยัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 รวมทั้งการสู้รบ 6 สัปดาห์ในปี 2020 ตลอดจนการปะทะกันอย่างประปรายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

แผนที่ความขัดแย้ง

ทั้งสองชาติต่างกล่าวโทษอีกฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้ โดยอาร์เมเนียอ้างว่าอาเซอร์ไบจานได้ยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านหลายแห่งตามแนวพรมแดน จึงดำเนินปฏิบัติการทางทหารเพื่อตอบโต้การยั่วยุดังกล่าว

ขณะที่อาเซอร์ไบจานระบุว่า อีกฝ่ายโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยโฆษกกองทัพระบุว่า การเคลื่อนไหวทางทหารในรอบเดือนที่ผ่านมา “แสดงให้เห็นว่าอาร์เมเนียกำลังเตรียมการยั่วยุทางทหารครั้งใหญ่”

ความรุนแรงได้ดำเนินไปจนถึงคืนวันที่ 12 ก.ย. ก่อนที่รัฐบาลรัสเซียจะระบุว่าได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง ซึ่งมีผลตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 13 ก.ย.

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี พาชินยาน ของอาร์เมเนีย ระบุว่า “แม้ความรุนแรงของภัยคุกคามจะลดลง แต่อาเซอร์ไบจานยังเดินหน้าโจมตีแนวรบ 1-2 แห่งต่อไป”

ด้านอาเซอร์ไบจานระบุเมื่อ 13 ก.ย. ว่า สูญเสียทหารจาก “การยั่วยุทางทหารครั้งใหญ่ของอาร์เมเนีย” พร้อมกล่าวหาอาร์เมเนียว่าละเมิดข้อตกลงหยุดยิงที่รัสเซียเป็นตัวกลางเจรจา

ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้พูดคุยกับประธานาธิบดี อิลฮัม อาลีเยฟ ของอาเซอร์ไบจานในวันเดียวกัน พร้อมเรียกร้องให้เขา “เคารพข้อตกลงหยุดยิง” ต่ออาร์เมเนียเช่นกัน

การสู้รบครั้งล่าสุดนี้ถูกประณามจากนานาชาติ โดยนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์ถึงผู้นำทั้งสองชาติโดยตรงเมื่อ 13 ก.ย. เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงสันติภาพเพื่อป้องกันการสู้รบในอนาคต

นายบลิงเคนกล่าวว่า เขาจะผลักดันให้มี “การหยุดยิงในทันที และเกิดข้อตกลงสันติภาพ” ระหว่างสองชาติ

ด้านรัสเซียนั้นมีความใกล้ชิดกับอาร์เมเนีย แต่ยังถือเป็นชาติมหาอำนาจในภูมิภาคที่คงความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศ

นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ขอรับหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้ด้วยตนเอง เพื่อบรรเทาความตึงเครียดที่พรมแดนทั้งสองประเทศ

ขณะที่ตุรกีซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเซอร์ไบจาน ดูเหมือนจะสนับสนุนคำกล่าวอ้างเรื่องการปะทะทางทหารครั้งล่าสุดของอาเซอร์ไบจาน โดยนายเมฟลุต ชาวูชอลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ระบุว่า อาร์เมเนียควรยุติการยั่วยุทางทหาร แล้วมุ่งเจรจาสันติภาพ

การปะทะทางทหารครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นครั้งนองเลือดที่สุดนับแต่การสู้รบครั้งใหญ่ในปี 2020 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน การสู้รบครั้งนั้นยุติลงด้วยการเจรจาของรัสเซีย ซึ่งทำให้อาร์เมเนียยอมถอนทหารออกจากพื้นที่ยึดครองรอบภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค

การเจรจาครั้งนั้นทำให้มีการส่งทหารรักษาสันติภาพของรัสเซียเกือบ 2,000 นายไปประจำการในพื้นที่พิพาท และยังคงประจำการอยู่จนถึงทุกวันนี้

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว