หมีแพดดิงตันกลายมาเป็นตุ๊กตาสัญลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษได้อย่างไร

ตุ๊กตาหมีแพดดิงตันปรากฏตัวอยู่ทุกหนแห่งในช่วงที่มีการไว้อาลัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตั้งแต่อยู่ในกองดอกไม้ ไปจนถึงในรายการโทรทัศน์ เรื่องนี้ล้วนแล้วแต่มาจากภาพวาดภาพหนึ่งในช่วงงานฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปี ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงถ่ายคลิปร่วมกับหมีแพดดิงตัน และสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ชม

คาเรน แยนเคิล ลูกสาวของไมเคิล บอนด์ ผู้สร้างตัวการ์ตูนหมีแพดดิงตัน ระบุว่า เป็นเรื่องที่ “พิเศษ” มากที่ได้เห็นผู้คนใช้ตุ๊กตาหมีสีน้ำตาลที่น่ารักในการปลอบประโลมใจในช่วงที่ไว้อาลัยแด่สมเด็จพระราชนีนาถเอลิซาเบธที่ 2

“ถ้ามีคนบอกฉันเมื่อ 1 ปีก่อนว่า สมเด็จพระราชินีนาถจะสวรรคต และเมื่อพระองค์สวรรคต แพดดิงตันจะมีส่วนสำคัญในงาน ฉันก็คงจะประหลาดใจอย่างที่สุด”

มีคนนำตุ๊กตาหมีแพดดิงตันมาวางไว้ท่ามกลางดอกไม้เพื่อแสดงความไว้อาลัยที่ด้านนอกพระราชวังของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผู้คนพากันนำตุ๊กตาหมีแพดดิงตันและแซนวิชแยมผิวส้มมาวางไว้เพื่อไว้อาลัยจำนวนมาก จนทางสำนักสวนสาธารณะรอบพระราชวัง (Royal Parks) ได้ร้องขอผู้ไว้อาลัยให้เลิกนำมาวางไว้

ภาพวาดตุ๊กตาหมีแพดดิงตันนำมาใช้ในการไว้อาลัยเช่นกัน ขณะที่บีบีซีได้ตัดสินใจที่จะออกอากาศภาพยนตร์แพดดิงตันในวันเสาร์ที่ 10 ก.ย. แทนที่จะเป็นการเปิดตัวรายการ สตริกต์ลี คัม แดนซิ่ง (Strictly Come Dancing) และมีกำหนดออกอากาศรายการต่อเนื่องเกี่ยวกับหมีแพดดิงตันในวันจันทร์ที่ 12 ก.ย. ต่อจากรายการพระราชพิธีพระบรมศพ

แพดดิงตันไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อ 3 เดือนก่อนพระราชวังบักกิงแฮมมีแนวคิดที่จะถ่ายคลิปสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงแสดงร่วมกับหมีจากเปรูตัวนี้ เพื่อเปิดคอนเสิร์ตฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปีที่จะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์

“นั่นคือหนึ่งในครั้งสุดท้ายที่เราส่วนใหญ่ได้เห็นสมเด็จพระราชินีนาถฯ ในระยะใกล้ ตอนที่พระองค์ทรงร่วมแสดงในรายการช่วงการฉลองการครองราชย์” นางแยนเคิล กล่าวกับ โคลิน แพเทอร์สัน ของบีบีซี

 

“นั่นคือภาพสุดท้ายของสมเด็จพระราชินีสำหรับใครหลายคน นั่นคือสิ่งที่พวกเขาจดจำ พวกเขาก็เลยรู้สึกว่า พระองค์กับตุ๊กตาหมีแพดดิงตันมีความเกี่ยวข้องกัน”

ในรายการนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงต้อนรับตุ๊กตาหมีซุ่มซ่ามตัวนี้ตามธรรมเนียมด้วยพระอารมณ์ขันของพระองค์ จากนั้นพระองค์ได้ทรงหยิบแซนวิชแยมผิวส้มออกมาจากกระเป๋าทรงถือของพระองค์

นั่นคือการปรากฏพระองค์อย่างเป็นกันเองของสมเด็จพระราชินีนาถฯ พร้อมกับทรงแย้มพระสรวล แม้ว่าพระองค์ทรงไม่สามารถเข้าร่วมทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ตสดได้ เพราะพระพลานามัย

ผู้ร่วมผลิตรายการหมีแพดดิงตันได้เปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลัง

“เรารู้ว่าแพดดิงตันและสมเด็จพระราชินีนาถฯ สื่อถึงคุณค่าที่คล้ายคลึงกันบางอย่าง และตอนนี้ก็ยังคงสื่อความหมายนั้นอยู่ นั่นก็คือการมีจิตใจดีและสุภาพ แล้วโลกก็จะงดงาม” เจมส์ ลามอนต์ ผู้ร่วมเขียนบทกล่าวกับรายการบีบีซี เรดิโอ 5 ไลฟ์ เมื่อไม่นานนี้

“มันเป็นธรรมชาติมากที่พระองค์และตุ๊กตาหมีได้มาอยู่ด้วยกัน ทักทายกัน เพราะทั้งพระองค์และตุ๊กตาหมีทรงมีส่วนคล้ายคลึงกันมาก”

“เราคิดเหมือนกันว่า ก็มีความตลกขบขันอยู่บ้างในการนำตุ๊กตาหมีแพดดิงตันมาร่วมแสดง ซึ่งเรารู้กันอยู่ว่า มักจะซุ่มซ่ามและทำตัวดื้ออยู่ในร้านขายเครื่องเคลือบดินเผาในบางครั้ง การนำตุ๊กตาหมีเข้ามาในพระราชวังบักกิงแฮม มาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถฯ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการแสดงพฤติกรรมและมารยาทอย่างมาก”

ภาพสมเด็จพระราชินีนาถทรงหยิบแซนวิชแยมผิวส้มออกมาจากกระเป๋าทรงถือ ถูกฉายบนจอขนาดใหญ่นอกพระราชวังบักกิงแฮม

ที่มาของภาพ, PA Media

แฟรงก์ คอตเทรลล์-บอยซ์ ซึ่งได้ทำงานทั้งในการปรากฏพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ร่วมกับเจมส์ บอนด์ เพื่อใช้ในพิธีเปิดโอลิมปิกในกรุงลอนดอนปี 2012 และในรายการสั้นตุ๊กตาหมีแพดดิงตัน กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรง “ร่วมแสดงเรื่องตลกได้อย่างลงตัวมาก”

“ความคิดที่วางไว้คือ จะทูลขอพระองค์ทรงร่วมแสดงกับแพดดิงตัน เพราะแพดดิงตันเป็นตัวแทนของคุณค่าหลายอย่างที่พระองค์ทรงยึดมั่น” เขากล่าวกับรายการบีบีซี เบรกฟาสต์

“แพดดิงตันมีน้ำใจ อดทนอดกลั้น ใจดีกับคนแปลกหน้า สุภาพ สิ่งเหล่านี้คือลักษณะนิสัย และคือคุณค่าที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างตลอดพระชนม์ชีพ”

“และนั่นก็เป็นคุณค่าที่ถูกท้าทายในตอนนี้ ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่แค่เรื่องราวน่ารัก ๆ ผมคิดว่า มันมีความสำคัญและนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมจึงโดนใจคนมาก”

ในคลิปนี้ พระองค์กับตุ๊กตาหมีเคาะถ้วยชาเข้ากับจังหวะเพลง วี วิล ร็อก ยู (We Will Rock You) อันโด่งดังของวงควีน ขณะที่วงนี้เปิดคอนเสิร์ตที่หน้าพระราชวังบักกิงแฮม

“ตีบทแตก”

คอตเทรลล์-บอยซ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นี่ “ไม่ใช่งานง่าย” สำหรับพระองค์ในการต้องทรงแสดงประทับอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตัวการ์ตูน แต่จริง ๆ แล้ว ไม่มีอะไรอยู่ตรงนั้น แต่มีการนำแอนิเมชันที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมาใส่เพิ่มทีหลัง

เขายอมรับว่า “ในการประชุมเรื่องบท ผมยืนกรานว่า เราไม่ควรจบด้วยการให้พระองค์ทรงเคาะถ้วย”

“ผมคิดว่า ‘พระองค์จะไม่ทรงทำตาม มันมากเกินไปที่จะทูลขอ’ แต่พระองค์ทรงแสดงอย่างยอดเยี่ยม น่าทึ่งมาก พระองค์ทรงเจิดจรัสมากในขณะนั้น ใช่ไหมครับ”

ลามอนต์ เปิดเผยว่า พวกเขาถวายการบอกบทบางอย่างให้พระองค์ “คุณเขียนส่วนที่แสดงปฏิกิริยาในบท คุณเขียนอะไรทำนองเช่น ‘พระองค์ทรงดูประหลาดพระทัย’ หรือ ‘พระองค์แย้มพระสรวลอย่างอบอุ่น'”

“แต่ผมไม่คิดว่า เราคนไหนคาดหวังไปถึงระดับที่พระองค์ทรงตีบทแตกจริง ๆ”

ดอกไม้และภาพหน้าปราสาทวินด์เซอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลังงานฉลองครองราชย์ เอลีนอร์ ทอมลินสัน ศิลปิน ได้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระราชดำเนินจูงมือกับแพดดิงตัน ซึ่งได้กลายเป็นไวรัลทางโซเชียลมีเดีย

ปัจจุบันภาพนั้นก็กลายเป็นภาพที่คุ้นเคยในช่วงที่มีการไว้อาลัยพระองค์ “การได้เห็นคนพากันแชร์ภาพทางออนไลน์และแสดงความเห็นที่น่ารักต่าง ๆ เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การได้เห็นภาพนี้อยู่ท่ามกลางทะเลดอกไม้และคำไว้อาลัย เป็นอะไรที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง” ทอมลินสัน กล่าวกับรายการบีบีซี ลุก นอร์ธ (BBC Look North)

“ฉันไม่ได้เป็นคนอ่อนไหวสักเท่าไหร่ แต่พอเห็นภาพเหล่านี้แล้ว น้ำตารื้นเลย”

อย่างไรก็ตาม ทอมลินสันได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย. ว่า เธอ “เสียใจและรู้สึกรังเกียจ” จากการที่ “มีการขโมยผลงานศิลปะภาพวาดของเธอมาโดยตลอดตั้งแต่เดือน มิ.ย.” โดยผู้คนพากันทำสำเนาขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเธอ

ไมเคิล บอนด์ ขณะเป็นช่างภาพบีบีซีในปี 1963

ลูกสาวของบอนด์ ผู้เขียนเรื่องแพดดิงตัน กล่าวว่า พ่อของเธอคงจะรู้สึก “ตื้นตันใจ” และ “ภูมิใจ” จากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดนี้ระหว่างตัวละครที่โด่งดังที่สุดของเขาและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

“เขาสร้างแพดดิงตันขึ้นมา และตอนนี้คนทั่วโลกกำลังนำมันมาเชื่อมโยงกับงานที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง แต่จริง ๆ แล้ว การสร้างแพดดิงดันขึ้นมา ได้ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของทุกคน ฉันคิดว่า พ่อคงจะดีใจ”

ก่อนงานฉลองครองราชย์ มีความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถฯ และแพดดิงตัน

บอนด์เกิดปีเดียวกับที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชสมภพ และต่างก็ได้ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งสำคัญที่แตกต่างกันในช่วงทศวรรษ 1950 โดยสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงขึ้นครองราชย์ 3 ปีก่อนที่บอนด์จะสร้างตัวละครตัวนี้ของเขาขึ้นมา

บอนด์ ซึ่งเสียชีวิตในปี 2017 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ OBE (ย่อมาจาก Officer of the Most Excellent Order of the British Empire) จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1997 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ CBE (ย่อมาจาก Commander of the Most Excellent Order of the British Empire) ในปี 2015

นอกจากนี้ เขายังอยู่ในพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 ด้วย ในการเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับสถานีโทรทัศน์ โดยเขาเคยทำงานเป็นช่างภาพของบีบีซี และวิศวกรเสียงก่อนที่จะตีพิมพ์แพดดิงตัน

ลูกสาวของเขาเล่าว่า “พ่อบอกว่า มันเป็นวันที่ยาวนานมาก พ่อนั่งอยู่ในที่สูงด้วยเหตุผลบางอย่าง เพื่อที่เขาจะได้อยู่ในจุดที่ได้เปรียบ นั่นเป็นโอกาสพิเศษมากที่ได้เข้าร่วม”

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว