สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 : ผิดไหมที่ประท้วงด้วย “กระดาษเปล่า” ในงานแสดงความอาลัย

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ มีคนหลายคนถูกจับกุมหลังไปทำการประท้วงที่งานแสดงความอาลัยการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และพิธีประกาศขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

พอล พาวส์แลนด์ ไม่ใช่หนึ่งในคนกลุ่มนั้น แต่ทนายคนนี้เป็นตัวละครหลักในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ทำให้เกิดกระแสถกเถียงอย่างแพร่หลาย เรื่องก็คือขณะที่เขากำลังยืนชูกระดาษที่ไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ ที่จัตุรัสรัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินเข้ามาถามข้อมูลส่วนตัวของเขา

พาวส์แลนด์ได้อัดวิดีโอบทสนทนาบางส่วนไว้และนำไปโพสต์ลงทวิตเตอร์ เขาอ้างว่าเขาได้รับแจ้งว่าจะถูกจับกุมตัวหากเขียนข้อความว่า “ไม่ใช่กษัตริย์ของผม” ลงบนกระดาษ

A young woman holds up a blank piece of paper during a pro-democracy protest in Hong Kong

ที่มาของภาพ, Getty Images

มีการประท้วงด้วย “กระดาษเปล่า” แบบนี้เกิดขึ้นเช่นกันที่เมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์ขณะขบวนพระบรมศพเคลื่อนผ่าน แต่ก็ไม่ได้มีรายงานการจับกุมใครแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี วิดีโอของพาวส์แลนด์ทำให้ตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนออกมาประกาศผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ว่าประชาชนมี “สิทธิที่จะประท้วง”

Blank sign protest in Edinburgh

ที่มาของภาพ, Getty Images

ท้าทายอย่างเย้ยหยัน ?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กระดาษเปล่าถูกนำไปใช้ในการประท้วง แต่เรามักเห็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ในประเทศที่รัฐมีความเป็นเผด็จการและการเข้าปราบปรามประชาชนบ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2019 นักเคลื่อนไหววัยหนุ่มในคาซัคสถานชื่ออัสลาน ซากุตดินอฟ ถูกตำรวจควบคุมตัวไปหลังถือป้ายเปล่า ๆ ที่หน้าสำนักงานของสภาเมือง

“ผมไม่ได้เข้าร่วมการประท้วง ผมต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็จะยังคงพาผมไปโรงพักแม้ว่าบนป้ายไม่ได้มีข้อความอะไรเขียนไว้เลย และผมก็ไม่ได้ตะโกนสโลแกนอะไร” ชายวัย 24 ปีผู้นี้พูดใส่วิดีโอและกับผู้สื่อข่าว

ดร.คาทรินา นาวิคคาส ผู้เชี่ยวชาญด้านการประท้วงและการเคลื่อนไหวอย่างมีแนวร่วม ที่มหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ดเชียร์ อธิบายว่า การถือป้ายเปล่าประท้วงเป็นการตามรอยรูปแบบการประท้วงอย่างเย้ยหยันแบบอื่น ๆ ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แล้ว

“การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของกลุ่ม Chartist (ชนชั้นแรงงานที่เรียกร้องให้ตนมีสิทธิด้านประชาธิปไตยมากขึ้น) ในช่วงปีทศวรรษ 1840 จัดขึ้นกลางแจ้งแบบเงียบ ๆ เพื่อประท้วงที่ทางการท้องถิ่นปราบปรามการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำของพวกเขา” ดร.นาวิคคาส บอกบีบีซี

ดร.นาวิคคาส เล่าอีกว่า ในปี 1975 ที่เมืองแมนเชสเตอร์ คนรวมตัวเป็นกลุ่มชื่อ “Thinking Club” เพื่อจัดการประชุมโดยไม่พูดไม่จากันเพื่อประท้วงกฎหมายต่อต้าน “การประชุมเพื่อปลุกระดม” และกลุ่มประชาธิปไตยอื่น ๆ

นอกจากนี้ การชูป้ายเปล่ามีปรากฏให้เห็นทั่วรัสเซียในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ดูจะเห็นบ่อยมากขึ้นตั้งแต่รัสเซียเข้าบุกรุกรานยูเครน โครง OVD-Info ซึ่งเก็บข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย ระบุว่า ทางการรัสเซียได้ปราบปรามการประท้วงสงครามอย่างหนัก โดยนับถึงวันที่ 17 ส.ค. มีการจับกุมผู้ประท้วงสงครามเกิดขึ้นมากกว่า 16,000 ครั้ง

ดร.นาวิคคาส บอกว่า การประท้วงลักษณะนี้น่าหงุดหงิดใจมากเป็นพิเศษสำหรับทางการเพราะว่ายากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพิสูจน์ได้ว่าคน ๆ นั้นทำความผิด หรือว่ามีเจตนาที่จะทำความผิด

Pro-democracy protesters in Hong Kong waving blank signs in 2020

ที่มาของภาพ, Getty Images

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการประท้วงต่อต้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนในฮ่องกงเมื่อปี 2020 ผู้ชุมนุมบางส่วนหันไปถือป้ายที่ไม่มีข้อความใด ๆ เพราะว่าสโลแกนเรียกร้องประชาธิปไตยถือว่าเป็นความผิด

ผู้ประท้วงคนหนึ่งซึ่งอยู่ในวัย 50 กว่าแล้วบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าไม่มีความจำเป็นต้องเขียนอะไรลงไปเพราะว่า “ทุกคนรู้จักสโลแกนอย่างขึ้นใจอยู่แล้ว”

สิทธิในสหราชอาณาจักร

ทุกคนในสหราชอาณาจักรมีสิทธิที่จะออกไปประท้วงอย่างสันติ

เสรีภาพในการแสดงออกและออกไปรวมตัวกันอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Convention on Human Rights) ซึ่งกลายมาเป็นกฎหมายในสหราชอาณาจักรในปี 1998

อย่างไรก็ดี สิทธิมนุษยชนที่ว่าก็มีขอบเขต มีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่อนุญาตให้ตำรวจจำกัดเสรีภาพได้เมื่อมีความจำเป็นและสมเหตุสมผลที่จะทำ เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ คามปลอดภัยของสาธารณชน และป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายและอาชญากรรม ผู้ประท้วงอาจถูกจับกุมได้ด้วย มาตรา 5 ของ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ

Protesters outside Cardiff Castle during the Welsh Proclamation of King Charles III on 11 September in Cardiff

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ดี กลุ่มเพื่อสิทธิพลเรือนก็มีความกังวลเรื่องการจับกุมผู้ประท้วงต่อต้านสถาบันกษัตริย์ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มลิเบอร์ตี (Liberty) ที่บอกว่าน่ากังวลมากที่เห็นตำรวจใช้อำนาจรุนแรงและในเชิงลงโทษ

“การประท้วงไม่ใช่ของขวัญที่รัฐมอบให้ มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน” โจดี เบ็ค เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายและการเคลื่อนไหวรณรงค์ที่ลิเบอร์ตีกล่าว

ในกรณีของ พอล พาวส์แลนด์ อย่างน้อยกระแสการตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียต่อการกระทำของตำรวจก็นำไปสู่ผลลัพธ์ วันที่ 14 ก.ย. เขาทวีตข้อความว่าตนและกลุ่มผู้ประท้วงไม่ได้ถูกต่อต้านหลังไปยืนถือป้ายเปล่าและป้ายที่มีข้อความต่อต้านสถาบันกษัตริย์หน้าอาคารรัฐสภา

“ตำรวจในพื้นที่ทำตามแถลงการณ์โดยตำรวจนครบาลแห่งกรุงลอนดอน และไม่ได้มายุ่งกับพวกเรา ผมคิดว่านี่เป็นชัยชนะอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นได้โดยแรงกดดันและกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชน”

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว