สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 : คุยกับผู้เชี่ยวชาญเบื้องหลังแผนต่อคิวรอถวายสักการะพระบรมศพ

การต่อคิวยาวเป็นแถวที่คดเคี้ยวไปตามท้องถนนในกรุงลอนดอนเพื่อรอถวายสักการะพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก ผู้คนที่ต่อแถวยาว 5 ไมล์พร้อมใจกันค่อย ๆ ขยับทีละนิด บางทีต้องรอนานถึง 24 ชั่วโมง บางทีต้องทนหนาวข้ามคืน

People queue on The Queen"s Walk along the River Thames as they wait to pay their respects to Queen Elizabeth II

ที่มาของภาพ, EPA

การต่อคิว หรือต่อแถว ครั้งนี้กลายเป็นที่รู้จักกันไปแล้วในชื่อ “The Queue” โดยระบบนี้มีประสิทธิภาพขนาดนี้ได้เพราะทีมผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์การจัดการฝูงชนและศาสตราจารย์ท่านหนึ่งจากมณฑลคัมเบรียในอังกฤษ

ศาสตราจารย์คีธ สติล ได้สอนและให้คำแนะนำเรื่องศาสตร์ในการจัดการฝูงชนมานาน 30 ปี เขาบอกว่าการวางแผนสำหรับการต่อแถวถวายสักการะพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในครั้งนี้ใช้เวลา “หลายทศวรรษ”

 

เขาไม่ได้เป็นผู้วิเคราะห์และแก้ไขแผนในการต่อแถวในครั้งนี้ในลอนดอนเท่านั้น แต่เป็นช่วยดูแลแผนการเดินทางของขบวนพระบรมศพจากปราสาทบัลมอรัลผ่านเมืองอาเบอร์ดีน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาด้วย

เขาบอกว่า คาดไว้แล้วว่าการต่อแถวในครั้งนี้จะยาวถึง 5 ไมล์ ด้วยความที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นที่รักใคร่และทรงครองราชย์มาอย่างยาวนาน เขาบอกว่ารู้แน่แล้วว่าต้องมีคนมาต่อคิวถวายความอาลัยมากกว่าสมัยของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี หรือที่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า “ควีนมัม” ที่มีคนมาต่อคิวเกิน 200,000 คน

“คุณต้องวางแผนถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเสมอ แล้วก็คิดเผื่อไป 5 เท่า แล้วก็มากกว่านั้น 10 เท่า” ศ.สติล บอก

Keith Still

ที่มาของภาพ, Keith Still

ถึงตอนนี้ มีรายงานปัญหาหรือกรณีคนที่พยายามแซงคิวน้อยมาก โดยผู้เชี่ยวชาญคนนี้บอกว่า “ผู้คนดูแลคนในคิวกันเอง”

ศ.สติล บอกว่า แม้ว่าจะเป็นการต่อแถวในโอกาสที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้า แต่ผู้วางแผนก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์และนิสัยในการเข้าคิวด้วย เช่น คนต้องได้รับแจ้งว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จะต้องคาดหวังอะไร ต้องได้รับการอัพเดตข้อมูลอยู่ตลอด

The queue passes Tower Bridge

ที่มาของภาพ, PA Media

“ตราบใดที่คนรู้ว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น รู้ว่าคุณคาดหวังอะไรจากพวกเขา รู้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไร พวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญกับความไม่แน่ไม่นอน และผู้คนก็จะอยู่ข้างคุณ” ศ.สติล บอก

เขาบอกอีกว่า ยิ่งคิวยาวแค่ไหนก็ยิ่งต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ อาหาร เครื่องดื่ม ที่พักพิง และความช่วยเหลือทางการแพทย์

ศ.สติล บอกว่าเขาเองไม่สามารถยืนต่อแถวได้นานขนาดนี้ ยิ่งเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมด้วย

“ขณะอายุ 63 ปี ผมพาหมาไปเดินได้ 4 กิโลแมตร แค่นั้นผมก็หมดแรงไปทั้งวันแล้ว”

People join queue (queuing) in Southwark Park, Gomm Rd, on 16 September

ศาสตราจารย์ผู้นี้เชื่อมั่นในการต่อคิวในครั้งนี้และก็มีศรัทธาในตัวกลุ่มนักเรียน ป.โท ของเขาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิแทน ที่รับแผนไปดำเนินการต่อ

เขาบอกว่าอะไรแบบนี้ต้องอาศัยการพยายามร่วมกันเป็นทีม

“คนเดียวไม่สามารถทำได้”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว