28 กันยายน 2022, 07:52 +07
วิกฤตเงินเฟ้อ ผลพวงเศรษฐกิจฝืดเคืองจากโควิด กระทบชนชั้นรากหญ้า และคนไร้บ้านอย่างหนัก หลายคนตกงานจนต้องประทังชีพด้วยอาหารกล่องที่ผู้ใจบุญและมูลนิธิการกุศลนำมาแจกแบบรายวัน
แม้วันนี้ฝนตกหนักมากในกรุงเทพมหานคร ทว่าคนกลุ่มหนึ่งเบียดเสียดหลบฝนอยู่ใต้อาคารใกล้พระบรมมหาราชวังอย่างอดทน เพื่อรอรับอาหารฟรีจากผู้ใจบุญที่แวะเวียนมาแจกจ่าย
นับวันแถวต่อคิวรับอาหารประทังชีวิตของเหล่าผู้คนที่ตกงาน ไร้บ้าน หรือที่คนไทยเรียกว่า “คนจรจัด” หรือ “ขอทาน” มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในห้วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ปัจจุบัน อยู่ที่ 7.66% และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นอีก
บัวสด แก้วแดง เคยทำงานเป็นแม่ค้าในตลาด แต่กลายเป็นคนตกงานและไร้บ้าน ในช่วงโควิดระบาด ทุกวันนี้ เธอพึ่งพาอาหารแจก เพื่อประทังชีพไปวัน ๆ
“วันนี้ได้รับมากล่อง ดีใจมากลูก พึ่งได้รับแค่เจ้าเดียว ป้าเพิ่งลงรถเมล์มา ก็มาเจอพอดี”
วันนี้ สมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติของมูลนิธิแบงค็อก คอมมูนิตี้ เฮลป์ ลงพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อนำอาหารกล่องมาแจกจ่ายให้เหล่าคนไร้บ้าน ที่เรียกพื้นที่ริมถนน หน้าอาคารรกร้างว่า “บ้าน”
ฟริโซ โพลเดอร์วาร์ต ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ เล่าว่า คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีลูกหลานมาคอยดูแล ส่วนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็ไม่เพียงพอ
“คนสูงวัยที่ไม่มีคนดูแล ลูก ๆ ของพวกเขา พวกเขาต้องมาอยู่แบบนี้ พวกเขาได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 600-1,000 บาทต่อเดือน มันไม่พออยู่รอดหรอก” เขากล่าว
“พวกเขาลำบากอยู่แล้ว พอราคาอาหารพุ่งสูงอีก มันก็ลำบากหนักขึ้นไปอีก”
สมชัย คนไร้บ้านที่มารอรับอาหารจากทางมูลนิธิยอมรับว่า แต่ก่อนซื้อทานเอง แต่ปัจจุบัน ราคาอาหารแพงทำให้เขาสู้ราคาไม่ไหว “ก็เลยต้องออกมาหาของแจกแบบนี้แหละครับ”
เงินเฟ้อพุ่ง การเมืองไม่นิ่ง เลือกตั้งอาจไม่ช่วย
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เงินเฟ้อที่พุ่งสูงของไทย เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะทางการเมืองที่ไม่แน่นอน จากคดี “นายกฯ 8 ปี” ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศคำวินิจฉัยในวันที่ 30 ก.ย.2565 ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ หลังขึ้นสู่อำนาจเมื่อ 8 ปีก่อน พร้อมคำมั่นจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
สถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึงระดับวิกฤต แต่เงินเฟ้อกระทบกับคนจนมากกว่าชนชั้นกลาง และผู้มีรายได้สูง
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า “เงินเฟ้อทำให้ความเหลื่อมล้ำมันสูงขึ้น มันทำให้คนจนลำบากมากกว่า ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ ของคนในประเทศเพิ่มขึ้น”
หากดูตั้งแต่ต้นปี 2565 ตั้งแต่เดือน ก.พ.- มี.ค. อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ 4% กว่า ๆ ในเดือน ก.พ. เดือน มี.ค. เพิ่มเป็น 5.73% ในเดือน เม.ย. จนมาถึงเดือน มิ.ย. ขึ้นไปที่ 7.66% ซึ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี
“เงินเฟ้อกระทบกับคนไม่เท่ากัน ถ้าเราดูตะกร้าที่จับจ่ายใช้สอย ตะกร้าของคนจน มีสัดส่วนของการซื้ออาหารมาบริโภคถึง 45% ถ้าเทียบกับตะกร้าของคนรวย สัดส่วนการใช้จ่ายของเขา เขาจะซื้ออาหาร สักประมาณ 26% เท่านั้นเอง” รศ.ดร.กิริยา กล่าว
มาม่าก็แพงขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 ปี
เมื่อปลาย ส.ค. รัฐบาลอนุมัติปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ตามคำเรียกร้องของผู้ประกอบการ โดยปรับเพิ่มเป็น 7 บาท หลังถูกตรึงราคาไว้ที่ 6 บาทมายาวนาน
“สำหรับคนเอเชีย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารประจำบ้าน” อังกูร วงศ์กลธูต กรรมการผู้จัดการร้าน กู้ดนูดเดิล แหล่งรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายสัญชาติ กล่าว และกิจการของเขาก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นด้วย
เหตุผลของผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย ที่ขอให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อนุมัติปรับขึ้นราคาขาย เพราะได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น จากราคาน้ำมันปาล์ม และแป้งสาลี
สิ่งที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพยายามชี้ให้ภาครัฐเข้าใจถึงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ อาทิ
- ต้นทุนจากแป้งสาลีที่เพิ่มขึ้น 20-30%
- ต้นทุนจากน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเท่าตัว
- ต้นทุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้น 12-15%
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายละเอียดในการบริหารจัดการต้นทุน เฉพาะรายอีกเช่น บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า หากพิจารณาสัดส่วนผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมดแล้ว สำหรับมาม่าที่มีราคาซองละ 6 บาท มีสัดส่วนการขายสูงถึง 60-70% ซึ่งหากไม่ได้รับการปรับราคาขึ้น ก็จะได้รับผลกระทบ
ศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การอนุมัติขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นการส่งสัญญาณว่า ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ ก็สามารถขึ้นราคาได้
“พอคุณเห็นรัฐบาลอนุญาตให้ขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมันส่งสัญญาณให้ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นว่า พวกเขาก็ขึ้นราคาได้ด้วย และแน่นอนว่า เราก็จะเห็นราคาอาหารและอื่น ๆ พุ่งขึ้น”
“ดังนั้น สำหรับคนรายได้น้อยที่รายได้ส่วนใหญ่หมดไปกับอาหารและพลังงาน พวกเขาก็ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากที่สุด” ศ.ดร.ภวิดา กล่าว
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต.ค. นี้ เพียงพอไหม
26 ส.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 21 (กรรมการไตรภาคี) ครั้งที่ 8/2565 เพื่อพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ
ที่ประชุมเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาทเริ่มต้นบังคับใช้ 1 ต.ค. 2565 นี้
กรุงเทพฯ อยู่ในกลุ่ม 2 กลุ่มเดียวกับนนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยขึ้นค่าแรงจาก 331 บาท เป็น 353 บาท ซึ่งรัฐบาลระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ถือเป็นการรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้
แต่ ผศ.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกกับเอเอฟพีว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันยากจะเยียวยาแล้ว” ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐเลย ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า เพราะผู้ลงคะแนนเสียงไม่เคยลืมสิ่งที่ พปชร. ให้คำมั่นไว้ แล้วทำไม่ได้
“เพราะเมื่อพรรคขึ้นมามีอำนาจแล้ว ก็ทำตามสัญญาไม่ได้” ผศ.นภิสา กล่าว โดยอ้างถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท ที่ พปชร. เคยประกาศไว้ เมื่อ 4 ปีก่อน แต่ท้ายสุดก็ขึ้นมาได้เพียง 354 บาท
สำหรับแม่ค้าทั่วไป พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยตรงมากนัก แต่ยังได้รับผลกระทบทางตรงจากราคาวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น
สุพรรณสา แตงไปร แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ยอมรับว่า สมัยก่อนต้นทุนคิดเป็น 40% และกำไร 60% แต่ปัจจุบัน สลับกันแล้ว “ต้นทุนเพิ่มเป็น 60% และกำไร 40%”
สอดคล้องกับที่ รศ.ดร. กิริยา อธิบายว่า ไม่ใช่ทุกอาชีพที่อยู่ภายใต้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น เกษตรกร ไม่ได้อยู่ภายใต้ค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเปรียบเทียบจะมีผลเช่นกัน เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำเป็นจุดอ้างอิงให้ค่าจ้างในภาคอื่นขึ้นในทิศทางเดียวกัน
“พอค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นปุ๊ป ค่าจ้างอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นตาม ถามว่ามีผลไหม จะมีผลที่จะทำให้ค่าจ้างอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือกฎหมายคุ้มครองแรงงานถูกบังคับใช้ มีผลโดยทางอ้อมเอง”
และเมื่อราคาอาหารต้องปรับเพิ่ม ลูกค้าก็เริ่มลดหาย อย่างวีรยุทธ แซ่อึ้ง ที่เคยเป็นลูกค้าประจำของสุพรรณสา มาวันนี้ เขายอมรับว่า ซื้อบะหมี่ทานบ่อย ๆ ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนมาทำอาหารผูกปิ่นโตมาทานเองที่ทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย
……..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว